ทารกมีน้ำมูก แต่ไม่มีไข้ เกิดจากสาเหตุอะไร ทารกป่วยหรือเปล่า แล้วจะดูแลลูกยังไงดีให้สุขภาพแข็งแรงเป็นปกติ มาหาคำตอบกัน
เวลาที่ทารกป่วยเป็นช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่กลุ้มใจเป็นพิเศษเลยใช่ไหมคะ เพราะเขายังสื่อสารไม่ได้ ทำให้เราอาจไม่ทราบว่าลูกน้อยเป็นอะไร มีสาเหตุมาจากอะไร ซึ่งหนึ่งในอาการของทารกที่เป็นกันบ่อย ๆ ก็คือ ทารกมีน้ำมูก แต่ไม่มีไข้ อาการนี้เกิดจากอะไร ลูกจะป่วยหนักหรือเปล่า กระปุกดอทคอมขอพาไปทำความเข้าใจ พร้อมหาวิธีดูแลลูกกันค่ะ
ทารกน้ำมูกไหล ปกติหรือเปล่า
บ่อยครั้งที่คุณพ่อคุณแม่มักจะเห็นลูกน้อยมีน้ำมูกไหล แม้ว่าจะฟังดูไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่อาการน้ำมูกไหลก็สร้างความรำคาญได้อย่างไม่น่าเชื่อ บางครั้งก็ทำให้เขานอนหลับไม่สนิท และมีอาการคัดจมูก หรือกินอาหารได้ไม่เต็มที่ ซึ่งการที่ลูกน้ำมูกไหล แม้จะไม่มีไข้ แต่ก็อาจเป็นสัญญาณว่าเขากำลังป่วยเป็นหวัดธรรมดาอยู่ หรืออาจจะมีอาการแพ้อากาศได้
สาเหตุที่ทารกน้ำมูกไหล
โดยทั่วไปแล้ว สาเหตุที่ทารกจะมีน้ำมูกไหลตลอดเวลา อาจเกิดได้จากสาเหตุดังนี้
- ลูกน้อยยังไม่สามารถสั่งน้ำมูกหรือสูดน้ำมูกได้ - ดังนั้นหากมีอาการแพ้หรือการระคายเคือง หรือแม้แต่อาการหวัดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำให้เกิดน้ำมูก พวกเขาก็เลยปล่อยให้มันไหลอย่างนั้น เพราะยังสูดหรือสั่งน้ำมูกแบบผู้ใหญ่ไม่ได้นั่นเอง
- แพ้อากาศ - สาเหตุใหญ่ของอาการผิดปกติในร่างกายของลูกน้อยมักมาจากอากาศ โดยเฉพาะอากาศหนาว ที่พวกเขายังไม่สามารถปรับร่างกายได้ จึงทำให้กลไกในร่างกายผลิตน้ำมูกออกมา
- เป็นโรค MCD - เป็นโรคที่เกิดจากนมและน้ำตาล หากลูกน้อยแพ้นมหรือน้ำตาลก็อาจทำให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยา ทำให้น้ำมูกไหลได้เช่นกัน
สีของน้ำมูกบอกอะไรหรือเปล่า
ตามปกติแล้วน้ำมูกในจมูกของลูกน้อยอาจจะกลายเป็นสีเหลืองหรือสีเขียวได้หากค้างอยู่ในจมูกนานหลายวัน เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของการตอบสนองทางภูมิต้านทานตามธรรมชาติของร่างกายเพื่อต่อสู้กับการติดเชื้อ จึงทำให้น้ำมูกของทารกเปลี่ยนสีนั่นเอง
น้ำมูกไหลแบบไหนที่ควรกังวล
หากทารกมีน้ำมูกไหล และมีอาการไอร่วมด้วย รวมถึงการหายใจของเขามีอาการติดขัด ไม่สม่ำเสมอ แปลว่าการมีน้ำมูกเริ่มส่งผลต่อสุขภาพของเขาแล้ว ควรพาลูกน้อยไปหาหมอทันที
ทารกน้ำมูกไหล ดูแลยังไงได้บ้าง
แม้อาการน้ำมูกไหลของทารกจะค่อนข้างเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่ขับสิ่งแปลกปลอมให้ออกมา แต่ก็มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดอาการนี้ได้ ดังนี้
- รักษาความสะอาดอยู่เสมอ - โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัวของลูกน้อย ต้องระบายอากาศในห้องให้มากที่สุด ทำความสะอาดของเล่น เปลี่ยนผ้าปูที่นอนบ่อย ๆ เพื่อให้ปลอดเชื้อโรค
- จัดที่นอนให้ลาดเอียง - โดยม้วนผ้าขนหนูหรือผ้าห่มแล้ววางไว้ใต้ที่นอนส่วนศีรษะ ซึ่งความลาดเอียงจะป้องกันไม่ให้เสมหะไหลลงคอ ป้องกันอาการไอและการตื่นกลางดึก
- เพิ่มความชื้นในอากาศ - ใช้เครื่องทำความชื้นเพื่อเพิ่มระดับความชื้นในห้อง ช่วยให้เจ้าตัวเล็กหายใจได้สะดวกขึ้น
- หยอดน้ำเกลือทำความสะอาดจมูกให้ลูก - โดยหลังจากหยอดน้ำเกลือแล้วก็อย่าลืมดูดน้ำมูกออกมาด้วยนะ เพื่อให้เขาหายใจโล่งขึ้น หรือถ้าลูกน้อยโตพอแล้ว ลองใช้วิธีสวนล้างจมูกด้วยน้ำเกลือก็จะทำให้น้ำมูกออกมาได้หมด
จะเห็นได้ว่า ทารกน้ำมูกไหล แต่ไม่มีไข้ ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลนัก เพียงแต่ต้องหมั่นสังเกตอาการของลูกน้อยบ่อย ๆ หากพบความผิดปกติจะได้พาไปหาหมอและรักษาทัน เพื่อให้เขามีสุขภาพที่แข็งแรง