พัฒนาการเด็กเล็ก คุณพ่อคุณแม่ต้องสนับสนุนและช่วยกันส่งเสริมลูกตั้งแต่ขวบปีแรกค่ะ วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดความรู้กับกิจกรรมดี ๆ ที่ช่วยเสริมพัฒนาการลูกน้อย มาแนะนำกัน มาสร้างการเรียนรู้ให้ลูกน้อยสมองดีกับนิตยสาร รักลูก กันเลยค่ะ
ในขวบปีแรกหากคุณพ่อคุณแม่สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีส่งเสริมพัฒนาการให้ลูกได้มาก จะเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาสมองของลูกให้เปี่ยมศักยภาพต่อไปได้
ลูกเล็กยิ่งต้องใส่ใจ
หลักการเลี้ยงลูกคือพัฒนาการตามช่วงวัยของเขา ต้องระลึกไว้เสมอว่าพัฒนาการของเด็ก แต่ละคนแตกต่างกัน ทฤษฎีเป็นแค่หลักคิดที่ไว้ยึดเป็นแนวทาง ไม่ใช่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ใช้ตัดสินลูก
คิด & ทำแบบนี้ไม่ดีแน่
คิดว่าไอคิวถูกกำหนดมาแล้วเปลี่ยนแปลงไม่ได้
เพราะจริง ๆ แล้วการเลี้ยงลูกให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี จะช่วยให้ลูกมีไอคิวมากขึ้นได้
คิดว่าตัวเองไอคิวไม่ดี เพราะเรียนไม่เก่ง
จริง ๆ แล้วคุณพ่อคุณแม่อาจมีไอคิวสูงแต่ไม่ได้รับการพัฒนาให้เต็มศักยภาพ ลูกอาจจะมีไอคิวดี คุณพ่อคุณแม่ต้องเห็นความสำคัญในการพัฒนาไอคิวลูกในช่วงขวบปีแรกด้วย
คิดว่าลูกยังเล็ก ใครเลี้ยงก็ได้ลูกยังไม่รู้เรื่อง
ความเป็นจริงคนเลี้ยงในช่วงขวบปีแรกของลูกนั้นสำคัญที่สุด ทั้งต่อพัฒนาการและการพัฒนาไอคิวของลูก
ไม่ตอบสนองความต้องการของลูก
เช่น ลูกร้องเพราะหิวก็ปล่อยให้ร้องไม่ป้อนนมลูก ลูกร้องเพราะต้องการการปลอบโยนก็ไม่ปลอบลูกเพราะคิดว่าเป็นการตามใจ
ให้ลูกใช้เทคโนโลยีก่อนอายุ 3 ปี
เช่น ให้ลูกดูจอโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต ทีวี การเลี้ยงลูกโดยใช้สิ่งของพวกนี้เป็นสื่อกลาง อาจจะทำให้ลูกมีปัญหาเรื่องพัฒนาการ หรือสมาธิสั้นเทียมได้ และอาจส่งผต่อสุขภาพตาของลูกได้ด้วย
5 เรื่องสำคัญ พัฒนาไอคิว
1. คุณพ่อคุณแม่และคนรอบตัว คือบุคคลสำคัญที่สุด ส่งผลโดยตรงกับพัฒนาการของลูก เพราะคุณพ่อคุณแม่คือประตูด่านแรกที่จะแนะนำสิ่งต่าง ๆ ให้ลูกได้รู้จักเรียนรู้ หากคุณพ่อคุณแม่ไม่เข้าใจพัฒนาการตามวัยและข้อจำกัดต่าง ๆ จะทำให้ทั้งตัวคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อยเครียดมีปัญหาได้
2. อาหารดี อาหารหลักของทารกช่วง 6 เดือนแรกคือนมแม่ คุณแม่ต้องกินอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ได้สารอาหารจำเป็น และมีประโยชน์ต่อร่างกายครบถ้วนด้วย
หลัง 6 เดือน เมื่อลูกเริ่มกินอาหารเสริม คุณพ่อคุณแม่ต้องแน่ใจว่าลูกจะได้กินอาหารที่สะอาด ปลอดภัย และไม่ปนเปื้อนสารพิษ นอกจากนี้ยังต้องครบ 5 หมู่ด้วย
3. อารมณ์ดี ทั้งคุณพ่อคุณแม่ก่อนจะใช้เวลากับลูก หากอารมณ์ไม่ดีหรือเครียดจากเรื่องอื่น ๆ ต้องปรับอารมณ์ก่อนเข้าหาลูก เนื่องจากเด็กเล็กจะรับรู้อารมณ์ได้ไว หากคุณพ่อคุณแม่มีอารมณ์ไม่ปกติ ลูกจะรับรู้ถึงอารมณ์นั้น และกลายเป็นการถ่ายทอดอารมณ์เชิงลบให้ลูกโดยไม่รู้ตัว ซึ่งการเรียนรู้ของลูกจะสัมพันธ์กับอารมณ์ค่อนข้างมาก หากลูกมีอารมณ์ดีจะทำให้การเรียนรู้และพัฒนาการดีไปด้วย
4. พักผ่อนดี การนอนหลับอย่างมีคุณภาพและพอเพียง คือเรื่องสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ เพราะร่างกายได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และสมองได้เตรียมพร้อมเพื่อเรียนรู้เมื่อตื่นนอน
5. ออกกำลังกายบ้าง วัยนี้การออกกำลังกายของลูก คือการได้ยืดเหยียด เตะแขนขาอย่างมีอิสระ ได้คว่ำ คืบคลาน คว้าจับ เกาะยืน และเดิน หมั่นพาลูกนอนในที่ราบที่มีผ้าหรือนวมรองรับ ให้ลูกมีการขยับร่างกายเพื่อพัฒนาการทางด้านร่างกาย
3 กิจกรรมช่วยสมองดี
1. กิจกรรมที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก ช่วงแรกเกิดลูกยังมองเห็นไม่ชัด ให้คุณพ่อคุณแม่ยื่นหน้าเข้าไปใกล้ ๆ จะทำให้ลูกเห็นหน้าชัดเจนขึ้น อาจเปลี่ยนเป็นการแสดงอารมณ์ต่าง ๆ ของคุณพ่อคุณแม่ผ่านสีหน้าก็ได้ค่ะ แล้วดูว่าลูกชอบตอนที่คุณพ่อคุณแม่ทำสีหน้าแบบไหน ให้ลูกเรียนรู้เรื่องอารมณ์ ซึ่งช่วยส่งเสริมพัฒนาการของลูกได้
เล่านิทานก่อนนอน จะช่วยเพิ่มคลังคำศัพท์ให้ลูก เสียงที่สูงต่ำจะช่วยดึงความสนใจ และเสริมสร้างให้ลูกเป็นเด็กที่มีสมาธิดี
เปิดเพลงให้ลูกฟัง หรือจะดีที่สุดหากคุณแม่ร้องเพลงเอง จะทำให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องจังหวะ การลากเสียงต่าง ๆ ในเพลง
ชวนลูกคุยหรือบอกกล่าวลูก เวลาที่คุณพ่อคุณแม่ทำสิ่งต่าง ๆ เช่น แม่จะทำพาหนูไปเดินเล่นหน้าบ้านนะคะ ดูสิมีอะไรบ้าง อุ๊ย มีนกมาเกาะบนกิ่งไม้ นกร้องจิ๊บ ๆ นกบอกว่า สวัสดีครับ ขอเกาะกิ่งนี้หน่อยนะครับ เป็นต้น
2. กิจกรรมนอกบ้าน เช่น พาลูกไปดูงานศิลปะต่าง ๆ ไปพิพิธภัณฑ์ ไปสวนสัตว์ ได้อยู่กับธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้จะช่วยเปิดโลกกว้างให้ลูก สร้างนิสัยอยากรู้อยากเห็นให้กับลูก อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งห้าค่ะ
3. กิจกรรมผ่านของเล่นตามวัย เช่น โมบายที่แขวนเอาไว้ ช่วยลูกเรื่องสายตาและสีต่าง ๆ ลูกจะเอามือคว้าจับได้ออกกำลังกายด้วย พอโตขึ้นมาอีกหน่อย ก็เป็นของเล่นที่เขย่า แล้วมีเสียงหลากหลาย จะช่วยเรื่องการจำและคิดตาม ของเล่นไขลาน ให้ลูกได้คืบคลานเดินตาม ของเล่นระหว่างอาบน้ำที่ลอยได้จมได้ เป็นต้น
การเลี้ยงลูกให้สมองดีไม่ใช่เรื่องยาก หากคุณพ่อคุณแม่รู้และเข้าใจพัฒนาการของลูก พร้อมสนับสนุนเขาอย่างถูกวิธีค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 33 ฉบับที่ 393 ตุลาคม 2558