COVID-19 ดูแลลูกน้อยอย่างไรให้ห่างไกลจากไวรัสตัวร้าย

          COVID-19 หรือ โคโรนาไวรัส ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ มีโอกาสที่เด็ก ๆ จะติดเชื้อได้มากแค่ไหน และจะมีวิธีป้องกันลูกน้อยให้ห่างไกลจากโควิด-19 ได้อย่างไรบ้าง มาหาคำตอบกัน


COVID-19

          COVID-19 (โควิด-19) ไวรัสตัวนี้ได้สร้างความตระหนกให้ผู้คนทั่วโลก และถึงแม้รายงานการติดเชื้อส่วนใหญ่จะพบในผู้ใหญ่ แต่ก็ยังมีรายงานการติดเชื้อในเด็ก รวมทั้งเด็กแรกเกิดอายุเพียงไม่ถึงเดือนด้วย เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่คงกังวลใจไม่น้อยว่าจะป้องกันลูก ๆ จากโรคระบาดนี้อย่างไร ยิ่งในเด็กเล็กที่ยังดูแลตัวเองไม่ได้ ครอบครัวจึงต้องมีส่วนช่วยดูแลอย่างมาก วันนี้กระปุกดอทคอมจึงมีวิธีดูแลสุขภาพลูกน้อยอย่างไรให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิดมาฝาก

การติดเชื้อ COVID-19 ในเด็ก อันตรายแค่ไหน

          เชื้อไวรัสโควิด-19 มีระยะฟักตัวที่ 2-14 วันเป็นส่วนใหญ่ หรืออาจจะถึง 1 เดือน ผู้ป่วยบางรายไม่มีอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้ ส่วนเด็ก ๆ นั้นนับว่าโชคดีที่จะมีโอกาสติดเชื้อน้อย ราว 1-2% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด ยกเว้นในสหรัฐอเมริกา โดยสถาบันกุมารเวชศาสตร์อเมริกัน (AAP) มีรายงานว่ายอดติดเชื้อสะสมของผู้ป่วยเด็กในสหรัฐฯ จนถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2563 คิดเป็น 12.3% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด ทั้งนี้ เด็กส่วนหนึ่งอาจติดเชื้อโดยไม่มีอาการ และส่วนหนึ่งอาจมีอาการเล็กน้อยเหมือนเป็นไข้หวัดทั่วไป เช่น มีไข้ หรืออุณหภูมิร่างกายเกิน 37.5 องศา เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก อ่อนเพลีย หายใจหอบเหนื่อย แต่มักจะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ 

          สำหรับอัตราการเสียชีวิต พบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 0-0.26% ซึ่งในช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 เคยมีกรณียุโรป-สหรัฐฯ พบเด็กอย่างน้อย 5 รายเสียชีวิตจากอาการผิดปกติของภูมิต้านทาน และในช่วงเดียวกันยังมีข่าวทารกซึ่งเพิ่งลืมตาดูโลกได้เพียง 2 วันในแอฟริกาใต้ ต้องมาจบชีวิตอย่างน่าสลดจากอาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับไวรัสนี้เช่นกัน ดังนั้น ถึงแม้รายงานการติดเชื้อ COVID-19 ในเด็กยังมีไม่มาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง เราจึงต้องศึกษาและป้องกันลูกน้อยจาก COVID-19 อย่างเคร่งครัดไม่ต่างจากผู้ใหญ่ ซึ่งวิธีป้องกันคุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ดังนี้

วิธีป้องกันลูกน้อยจาก COVID-19

1. คอยสำรวจสุขภาพของลูกอยู่เสมอ

          ด่านแรกที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำเป็นประจำทุกวัน คือการวัดอุณหภูมิร่างกายของลูก หากพบว่าเด็กไม่สบาย ควรหยุดเรียน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ แม้ว่าจะเป็นแค่ไข้หวัดธรรมดาก็ตาม

COVID-19

2. สอนลูกให้ล้างมืออย่างถูกวิธี

          ฝึกให้เด็ก ๆ ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ เป็นเวลาอย่างน้อย 20 วินาที ทริกง่าย ๆ เพียงให้ร้องเพลงช้าง หรือ Happy Birthday 2 รอบ ก็จะครบเวลาพอดี หรือสามารถเลือกใช้น้ำยาล้างมือที่มีแอลกอฮอล์เข้มข้นอย่างน้อย 60% เป็นเวลา 1 นาที นอกจากนี้ยังควรย้ำให้ลูกล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร หลังสั่งน้ำมูก ไอ หรือจาม เมื่อใช้ห้องน้ำ และหลังกลับมาจากที่สาธารณะ

3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า


          หลีกเลี่ยงการให้ลูกใช้มือจับบริเวณใบหน้า เพราะมือเป็นส่วนที่สัมผัสสิ่งของหลายอย่าง ซึ่งเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าสิ่งของที่สัมผัสมีเชื้อโรคติดมาไหม ดังนั้น ไม่ควรให้ลูกเอามือมาขยี้ตา จับหน้า จับปากหรือจมูก รวมถึงการแคะ แกะ เกาต่าง ๆ

4. เวลาไอหรือจาม ให้ใช้ข้อศอกหรือทิชชูรองมือ

          ข้อนี้เป็นวิธีการดูแลตัวเองเบื้องต้น คือสอนให้ลูกรู้จักปิดปากทุกครั้งที่ไอหรือจาม โดยควรใช้ช่วงข้อพับข้อศอกป้องจมูกและปาก หรือใช้กระดาษทิชชูรอง จากนั้นล้างมือให้สะอาด เพื่อป้องกันละอองน้ำมูกแพร่กระจาย หรือถ้าจามใส่มือก็ควรรีบล้างมือทันที

COVID-19

5. หลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะร่วมกับใคร

          สร้างนิสัยกินร้อน ช้อนกลางให้กับเด็ก ทางที่ดีควรมีช้อนกลางของตัวเอง ไม่ใช้ร่วมกับใคร เพื่อความมั่นใจ ส่วนอาหารที่ปรุงสุกร้อน ๆ ใหม่ ๆ นั้น จะปลอดภัยจากเชื้อไวรัสแน่นอน วิธีนี้ไม่ใช่ทำเฉพาะแค่ช่วงนี้ แต่ควรฝึกให้เป็นนิสัย เพราะยังมีเชื้อโรคต่าง ๆ อีกมากมายที่สามารถติดต่อได้จากคนสู่คน

6. หลีกเลี่ยงการพาเด็ก ๆ ไปสถานที่ชุมชนคนเยอะ

          วิธีหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นั่นคือพยายามเลี่ยงการพาลูกไปห้าง หรือสถานที่ที่มีคนอยู่รวมตัวกันเยอะ ๆ อากาศถ่ายเทไม่สะดวกไปก่อน หากต้องการจะพาบุตรหลานไปเที่ยว ควรเลือกสถานที่โปร่ง ๆ อากาศดี ๆ เช่น สวนสาธารณะ ทะเล นอกจากจะช่วยเพิ่มความสดชื่นแล้ว ยังเป็นการพาลูกไปเปิดหูเปิดตากับธรรมชาติสวย ๆ ด้วย

7. สวมหน้ากากอนามัย

          เตรียมหน้ากากอนามัยให้ลูกสวมป้องกันไวรัส เมื่อต้องเข้าไปในที่สาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า รถใต้ดิน หรือเมื่อเด็กมีอาการของระบบทางเดินหายใจ โดยเมื่อใส่แล้วจะต้องไม่มาสัมผัสบริเวณด้านหน้าของหน้ากาก และล้างมือให้สะอาดหลังจากถอดหน้ากากอนามัย

COVID-19

8. ยกเลิกทริปต่างประเทศไปก่อน

          ช่วงที่มีวันหยุดยาวหลายครอบครัววางแผนไว้ว่าจะไปเที่ยวต่างประเทศกัน แนะนำว่าควรพับโครงการไปก่อน ยิ่งในประเทศกลุ่มเสี่ยงด้วยแล้ว ไม่ควรเดินทางไปอย่างเด็ดขาดในช่วงนี้ เพราะถ้ามีใครในทริปติดเชื้อขึ้นมาคงไม่คุ้มแน่ ๆ

9. หากิจกรรมให้ลูกทำในช่วงอยู่บ้าน

          แม้เป็นช่วงที่โรคระบาด แต่เด็ก ๆ ก็ยังต้องการความสนุกสนานประจำวัน เพื่อส่งเสริมพัฒนาการตามวัย คุณพ่อคุณแม่จึงควรหากิจกรรมทำให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย เช่น ชวนลูกทำขนมกินเอง วาดรูป ระบายสี ฝึกอ่านหนังสือ แต่ควรหลีกเลี่ยงการให้ลูกดูข่าวเกี่ยวกับโรคโควิด 19 เพราะอาจทำให้เด็กเครียดและเกิดความกลัวได้

10. ทำประกันโรคโควิด 19 ให้อุ่นใจ


          ช่วงนี้บริษัทประกันหลายแห่งมีผลิตภัณฑ์ประกันโคโรนาไวรัสที่ให้ความคุ้มครองเป็นหลักแสนบาทขึ้นไป ซึ่งเด็ก ๆ ก็สามารถทำได้ ผู้ปกครองลองศึกษาข้อมูลและเลือกทำให้บุตรหลาน เพื่อความอุ่นใจและเผื่อฉุกเฉิน ก็ถือเป็นไอเดียที่น่าสนใจ

          ถึงจะป้องกันทุกวิถีทางแล้ว แต่หากสังเกตได้ว่าลูกเริ่มไอ มีไข้ หรือหายใจติดขัด อย่ารอช้า ควรปรึกษาแพทย์ทันที และให้ลูกอยู่ในห้องที่เตรียมไว้แยกจากสมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ หรือถ้ามีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถโทร. สายด่วน กรมควบคุมโรค 1422 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ขอบคุณข้อมูลจาก : unicef.org, aap.org, ยูทูบดอทคอม โพสต์โดย siriraj channel, เฟซบุ๊ก ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาธิบดี


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
COVID-19 ดูแลลูกน้อยอย่างไรให้ห่างไกลจากไวรัสตัวร้าย อัปเดตล่าสุด 24 ธันวาคม 2563 เวลา 16:08:36 70,597 อ่าน
TOP
x close