เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 8 ข้อ ง่าย ๆ ให้นมลูก

เลี้ยงลูกด้วยนมแม่

          นมแม่เป็นสารอาหารสำคัญและจำเป็นต่อร่างกายลูก เนื่องจากมีสารอาหารพิเศษที่เรียกว่าพรีไบโอติกช่วยให้การเจริญเติบโตของลูกน้อยมีประสิทธิภาพ วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดความรู้เรื่องนมแม่ และวิธีกระตุ้นน้ำนมแม่จากนิตยสารรักลูก มาแนะนำกันค่ะ พร้อมแล้วไปเตรียมพร้อมการให้นมลูกน้อยกันเลย ^^

          การให้นมแม่จะต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ควบคู่กันไป ศาสตร์คือความรู้ถึงวิธีการให้อย่างถูกต้อง ศิลป์ก็คือหัวใจที่แน่วแน่ของคุณแม่ในการให้นม ซึ่งทั้งหมดรวมอยู่ในเคล็ดลับต่อไปนี้แล้วค่ะ

         1. เตรียมใจให้พร้อม หากคุณแม่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงที่จะให้นมแม่เองแล้ว ก็ย่อมมีความพยายามให้จนสำเร็จ ที่สำคัญถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเตรียมพร้อมเรื่องอื่น ๆ ด้วย

         2. หาข้อมูล เพิ่มความรู้ การหาความรู้จะช่วยให้คุณแม่มั่นใจได้ว่านมแม่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกจริง ๆ ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถรู้วิธีการให้นมที่ถูกต้องและแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด

         3. กระตุ้นน้ำนม 3 วันแรกหลังคลอด ช่วงนี้ไม่ได้เน้นที่คุณแม่ต้องให้นมจริงจังเพราะกระเพาะอาหารลูกยังเล็ก เขาต้องการนมไม่มาก เเต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือความใกล้ชิดระหว่างแม่กับลูกที่จะแนบแน่นมั่นคงยิ่ง ขึ้นต่อไป

         4. ลูก...ผู้ช่วยคนสำคัญ หลังคลอดสูติ-นรีแพทย์ จะอุ้มลูกมาดูดนมแม่ เพราะลูกแรกเกิดมีความสามารถในการดูดนมแล้ว ถ้าเอาเขามาวางบนหน้าอก วางบนท้องของคุณแม่ เขาก็จะคลานมาใกล้เต้านมแล้วก็ขยับปากเพื่องับเต้านมได้ เมื่อลูกดูดที่เต้า สัมผัสนี้ก็จะส่งสัญญาณไปที่สมองของคุณแม่ว่ามีลูกมาดูดนม จากนั้นก็จะสั่งการให้ผลิตน้ำนมขึ้นมา การให้นมจึงเป็นไปตามธรรมชาติ เพราะลูกชินกับการดูดนมแม่จากเต้าตั้งแต่แรก

         5. อย่าเพิ่งซื้อขวดนม ถ้าคุณแม่ต้องการให้นมแม่ได้สำเร็จ ในช่วงแรกยังไม่ต้องซื้อขวดนม เพราะเมื่อมีอยู่ใกล้มือ ก็มีแนวโน้มที่จะคว้ามาให้ลูกกิน ย่อมเกิดขึ้นได้ง่าย ซึ่งเป็นจุดเล็ก ๆ ที่คุณแม่อาจมองข้ามไป

         6. หมั่นสังเกตลูกอยู่เสมอ หลังคลอดคุณแม่จะต้องใช้เวลาทั้งหมดอยู่กับลูกค่ะ ลูกเป็นความสำคัญอันดับแรก เรื่องงานบ้าน หรือเรื่องอื่น ๆ ที่เคยเป็นหน้าที่ของคุณแม่ก็อาจยกหน้าที่นี้ให้คุณพ่อ เพื่อที่คุณแม่จะได้ให้นมและได้เฝ้าดูพฤติกรรมของลูกอย่างเต็มที่

         7. สร้างความเข้าใจกับคนในครอบครัว สิ่งที่คุณแม่ไม่ควรลืมก็คือการสร้างความเข้าใจที่ตรงกันกับทุกคนในครอบครัว เพราะการที่คุณแม่จะให้นมได้สำเร็จนั้น กองสนับสนุนสำคัญก็คือคนใกล้ตัวอย่างสามี และคุณย่าคุณยายนี่แหละค่ะ เพราะหากเราตั้งใจให้นมลูกอยู่แล้ว ก็ควรบอกคนอื่นด้วยว่าถ้าคลอดแล้วจะต้องช่วยกันดูแลนะ เช่น ช่วยทำงานบ้าน ช่วยเรื่องอาหาร และช่วยเอื้อสภาพแวดล้อมให้พร้อมกับการให้นม

         8. ตัดความกังวล ความกังวลเป็นอุปสรรคสำคัญของการให้นมแม่ เพราะในกลุ่มคุณแม่ที่ให้นมไม่สำเร็จมีความกังวลมากไป หรือแม่ในกลุ่มที่ทำงานใช้สมองซีกซ้ายมากกว่าซีกขวา ในช่วงหลังคลอดสมองซีกขวามีความสำคัญมาก เพราะเวลาคลอดออกมาแล้วจะมีการหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซิน ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้สมองซีกขวาทำงาน จึงทำให้แม่รู้สึกว่าลูกที่อุ้มอยู่ในมือน่ารักเหลือเกิน อยากจะให้นมนั่นเองค่ะ

          ที่สำคัญเวลาให้นมคุณแม่ควรทำใจให้สบาย ยืดหยุ่นไปตามความต้องการของลูก ไม่ควรคำนึงถึงเวลาหรือปริมาณในการให้นมแต่ละวัน เพราะหากเรากังวลกับสิ่งเหล่านี้มากเกินไป ก็เท่ากับทำให้ความสำเร็จของการให้นมน้อยลงด้วย ความเครียดที่เกิดขึ้นจะไปกดฮอร์โมนออกซิโทซินทำให้น้ำนมไม่ไหลออกมาตามที่ควรจะเป็นค่ะ

          หากการให้นมเกิดจากความตั้งใจจริงของคุณแม่ มีการกระตุ้นน้ำนมอย่างถูกต้องตั้งแต่ช่วงแรกคลอด รวมทั้งมีคนใกล้ตัวคอยให้ความร่วมมืออยู่ข้าง ๆ ก็มั่นใจได้เลยว่าคุณแม่ทุกคนต้องให้นมได้สำเร็จแน่นอนค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 8 ข้อ ง่าย ๆ ให้นมลูก อัปเดตล่าสุด 18 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 14:28:14 15,530 อ่าน
TOP
x close