ทารกมีเสลดในคอ ทำไงดี ? รู้วิธีดูแลเมื่อลูกน้อยมีเสมหะ

          ทารกมีเสลดในคอ ทำไงดี เพราะนอกจากสร้างความน่ารำคาญและไม่สะดวกในการหายใจของลูกน้อยแล้ว ยังเป็นอันตรายด้วย ทารกมีเสลด จะจัดการอย่างไร ลองมาดูวิธีกำจัดเสมหะเด็กกัน
โรคเด็ก

          เมื่อทารกมีเสลด คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนอาจเข้าใจว่าทารกเป็นแค่ไข้หวัด มีอาการไอ น้ำมูกไหล และมีเสมหะธรรมดา ไม่น่าเป็นอันตราย แต่รู้ไหมว่าหากเสมหะเหนียวข้นมาก ๆ และคั่งค้างในลำคอ ก็เสี่ยงที่เสมหะจะลงสู่ปอดได้ ซึ่งเมื่อเสมหะลงปอดแล้วก็จะทำให้ปอดอักเสบหรือปอดบวมได้นั่นเอง ดังนั้น ทารกมีเสลดในคอ ทำไงดี ? เพื่อไม่ให้เกิดโรคเด็กที่รุนแรงขึ้น วันนี้เราจะมาแนะนำวิธีกำจัดเสมหะที่จะช่วยเจ้าตัวน้อยระบายเสมหะออกมาได้อย่างปลอดภัยกันค่ะ

เสลด คืออะไร

          เสลด หรือ เสมหะในคอ คือ สารคัดหลั่งที่ร่างกายสร้างออกมาจากต่อมที่อยู่ในเยื่อบุทางเดินหายใจ ซึ่งในเด็กเล็กที่ยังคายเสมหะออกมาไม่เป็น สังเกตได้ว่าเวลาหายใจจะมีเสียงครืดคราดในอกหรือในคอ และถ้าร่างกายไม่สามารถขับเสมหะสู่ภายนอกได้อาจเกิดการอุดตันของหลอดลม ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น มีภาวะปอดอักเสบ ปอดแฟบ เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ทารกมีเสลดในคอ เกิดจากอะไร

          การที่ทารกมีเสมหะหรือเสลดในคอเรื้อรัง อาจเกิดจากโรคหรือภาวะบางอย่าง ดังนี้
  • โรคหวัด เพราะอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอากาศที่หนาวเย็น อาจทำให้ทารกเป็นไข้หวัดได้ ซึ่งมักจะเป็นไข้ ตัวร้อน มีน้ำมูกไหล และมีเสลดในลำคอ
  • การระคายเคืองบริเวณลำคอ เนื่องจากมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในระบบทางเดินหายใจ เช่น เชื้อโรค ฝุ่น ควัน หรือมลพิษต่าง ๆ จนทำให้เกิดการระคายเคืองที่คอ ซึ่งจะไปกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะในคอให้ผลิตเสมหะออกมามากกว่าปกติเพื่อเคลือบลำคอ
  • โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ เนื่องจากเยื่อบุของผู้ป่วยโรคนี้มีความไวผิดปกติ เมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งระคายเคืองต่าง ๆ จะกระตุ้นต่อมสร้างน้ำมูกในจมูก ซึ่งน้ำมูกที่ไหลลงคอก็จะกลายเป็นเสลดหรือเสมหะนั่นเอง โดยมักจะมีสีขาวใส หรือขุ่น ยกเว้นเวลาเช้า เมื่อลูกตื่นขึ้นมาอาจมีสีเหลืองขุ่นได้ เนื่องจากมีการคั่งค้างของน้ำมูกหรือเสมหะเป็นระยะเวลานาน
  • ภาวะหลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบ ซึ่งทารกอาจมีอาการไอหรือไอเรื้อรัง และมีเสมหะหรือเสมหะคั่งค้างในหลอดลมได้
  • โรคไซนัสอักเสบ เนื่องจากโรคนี้มีการอักเสบของเยื่อบุจมูกและไซนัส ซึ่งจะมีการกระตุ้นต่อมสร้างน้ำมูกให้มีเสมหะไหลลงคอได้ นอกจากนี้สารคัดหลั่งที่ออกจากไซนัสอาจผ่านรูเปิดของไซนัสในโพรงจมูกออกมา และไหลลงคอกลายเป็นเสมหะ มักจะมีสีเขียวหรือเหลือง
โรคเด็ก

ทารกมีเสลดในคอ ทำไงดี

          จะเห็นว่ามีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดเสมหะในคอ ซึ่งบางครั้งเสมหะก็เหนียวและมีปริมาณมาก โดยในทารกและเด็กเล็กจะยังไม่สามารถไอเอาเสมหะออกมาเอง แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยกำจัดเสมหะในคอของลูกได้ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

1. การดูดเสมหะทางจมูกและปาก

          วิธีกำจัดเสมหะด้วยการดูดเสมหะโดยทั่วไป จะใช้ลูกยางแดงเบอร์ 1 หรือเครื่องสำหรับดูดเสมหะใส่ในปากเพื่อนำเสมหะออก ในเด็กเล็กการดูดเสมหะแต่ละครั้งมักไม่เกิน 5 วินาที หากเด็กช่วยไอในขณะดูดเสมหะจะทำให้เสมหะออกจากหลอดลมได้ดีขึ้น และไม่ต้องใช้เวลาในการดูดเสมหะนาน
          ขั้นตอนการดูดเสมหะ
  • ห่อตัวเด็ก เนื่องจากเด็กมักไม่ค่อยให้ความร่วมมือ
  • ให้ลูกนอนหงาย จับหน้าเด็กตะแคงไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้สะบัดหน้าไปมาขณะดูดเสมหะ และป้องกันไม่ให้เกิดการสูดสำลักเสมหะหรือสิ่งแปลกปลอมและเศษอาหารลงปอด เนื่องจากเด็กอาจเกิดการอาเจียนขณะดูดเสมหะได้
  • หยดน้ำเกลือเพื่อล้างจมูกลูกก่อน 1 ครั้ง เพื่อไม่ให้เสมหะหรือน้ำมูกเหนียวข้นเกินไป
  • บีบลูกยางแดงให้แฟบ สอดทางปลายแหลมเข้าไปในจมูกลูกไม่ต้องลึกมาก ปล่อยลูกยางออกช้า ๆ เพื่อให้เสมหะเข้ามาในลูกยางแดง แล้วดึงลูกยางแดงออก บีบน้ำมูกและเสมหะลงในทิชชูหรือภาชนะที่เตรียมไว้

          ทั้งนี้ การดูดเสมหะควรทำก่อนอาหาร หากเด็กเพิ่งกินนมหรือกินอาหาร ควรเว้นช่วงเวลาไว้ 1-2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการสำลักหรืออาเจียนออกมา

2. การเคาะปอดระบายเสมหะในเด็ก

          วิธีการเคาะปอด จะใช้แรงสั่นจากลมที่กระทบผนังทรวงอกขณะเคาะ ไปทำให้เสมหะที่เกาะอยู่บริเวณทางเดินหายใจค่อย ๆ หลุดออกและไหลออกมาได้ง่ายขึ้น เทคนิคนี้จำเป็นต้องจัดท่าทางให้ถูก โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงช่วย มีด้วยกันหลายท่า เช่น ท่าอุ้มลูกให้ศีรษะพาดบนไหล่ เคาะบริเวณด้านหลังส่วนบน, ท่านอนหงาย เคาะบริเวณไหปลาร้าถึงใต้ราวนม, ท่านอนตะแคง เคาะบริเวณเหนือชายโครงด้านข้าง เป็นต้น
          วิธีเคาะ
  • ทำมือให้เป็นลักษณะคุ้ม นิ้วชิดกัน เรียกว่า “Cupped Hand”
  • ใช้อุ้งมือดังกล่าวเคาะบริเวณทรวงอกส่วนที่ต้องการระบายเสมหะ ท่าละ 1-3 นาที แล้วจึงลุก-นั่งหรือยืนเพื่อให้ไออย่างมีประสิทธิภาพ แล้วเสมหะจะถูกขับออกมาด้วย
  • เวลาเคาะปอดในทุกท่า ให้หาผ้าบาง ๆ มาวางในตำแหน่งที่จะเคาะด้วย จะได้ช่วยลดแรงกระแทกลงได้ ลูกจะได้ไม่เจ็บ

3. ให้ดื่มน้ำอุ่นเพิ่มขึ้น

          น้ำเป็นยาขับเสมหะที่ดีที่สุด การให้ลูกดื่มน้ำมาก ๆ ก็ถือเป็นการเพิ่มน้ำให้แก่ร่างกาย และช่วยลดความเหนียวข้นของเสมหะ เมื่อเสมหะเหนียวน้อยลง การระบายออกจะทำได้ดีขึ้น ซึ่งเราสามารถให้ลูกดื่มน้ำอุณหภูมิปกติหรืออุ่นเล็กน้อย จะยิ่งช่วยลดความเหนียวของเสมหะได้ดีกว่าน้ำเย็น

4. รับประทานยาละลายเสมหะ

          นอกจากวิธีข้างต้นแล้ว วิธีลดเสลดในคอทารกอาจใช้ยาละลายเสมหะ ช่วยละลายความข้นของเสมหะให้หนืดน้อยลง ทำให้สามารถไอเสมหะออกมาได้ง่าย เช่น คาร์โบซีสเทอีน (Carbocysteine) ใช้ได้ทั้งเด็ก (แต่ไม่ควรใช้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1-2 ขวบ) ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ยาชนิดนี้อาจมีอาการข้างเคียงได้ แต่ถือว่าน้อยและค่อนข้างปลอดภัยเมื่อเทียบกับยาขับเสมหะชนิดอื่น
โรคเด็ก

          อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกชนิด ข้อสำคัญที่ควรระวังคือ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรใช้ยาแก้ไอ ฉะนั้นหากลูกยังเล็กอยู่ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาวิธีรักษาตามความเหมาะสมจะดีที่สุด

          เมื่อจัดการกับเสมหะหรือเสลดในคอแล้วก็จะช่วยให้ลูกหายใจโล่งขึ้น ดูดนมได้ดี และนอนหลับสบาย แต่ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ควรป้องกันไม่ให้ลูกมีเสมหะไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ด้วยการดูแลลูกให้มีสุขภาพแข็งแรง รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ และถ้าหากพบว่าลูกเริ่มมีน้ำมูกละก็ การล้างจมูกถือเป็นการป้องกันเสมหะที่ดีทางหนึ่งเลยล่ะค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : thaihealthlife.com, si.mahidol.ac.th, synphaet.co.th, bangpakokhospital.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทารกมีเสลดในคอ ทำไงดี ? รู้วิธีดูแลเมื่อลูกน้อยมีเสมหะ อัปเดตล่าสุด 3 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 17:26:49 95,720 อ่าน
TOP
x close