ส่วนสูงเด็กแต่ละวัย พัฒนาการความสูงของเด็กหญิง เด็กชาย ตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงอายุ 18 ปี

          ส่วนสูงเด็กแต่ละวัย พัฒนาการความสูงของเด็กหญิง เด็กชาย ตั้งแต่ช่วงแรกเกิดจนถึงอายุ 18 ปี ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้ มาดูกันสิคะว่า ส่วนสูงเด็กแต่ละวัยควรมีความสูงตามมาตรฐานเท่าไร จึงจะถือว่าเขาเติบโตสมบูรณ์ตามเกณฑ์

พัฒนาการเด็ก

          ถ้าพูดถึงการเจริญเติบโตของลูก คงไม่มีคุณพ่อคุณแม่ท่านใดที่ไม่อยากให้ลูกของตนเองมีร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ตามวัยใช่ไหมล่ะคะ ยิ่งปัจจุบันนี้หลายคนก็อยากให้ลูก ๆ สูงยาวเข่าดีกันทั้งนั้น จึงพยายามทำทุกวิถีทางให้ลูกมีส่วนสูงที่เพิ่มขึ้น แต่เรื่องของความสูงก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยค่ะ โดยเฉพาะ พันธุกรรม ซึ่งแน่นอนว่าความสูงของคนไทยหรือคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเรา อาจเสียเปรียบกับพวกฝรั่งชาวต่างชาติจากทวีปยุโรป อเมริกา หรือแม้แต่คนเอเชียตะวันออก นอกจากปัจจัยทางพันธุกรรมแล้ว เรื่องของการดำรงชีวิต โภชนาการ และการพักผ่อน ก็ส่งผลต่อความสูงได้เช่นกันค่ะ

          ทั้งนี้อัตราการเพิ่มของส่วนสูงของเด็กแต่ละวัยนั้น ในช่วงแรกเกิดจะมีส่วนสูงประมาณ 50 เซนติเมตร โดยในช่วง 6 เดือนแรก เด็กจะสูงขึ้น 2.5 เซนติเมตรต่อเดือน และมีความสูง 65 เซนติเมตร ส่วนในช่วง 6 เดือนหลัง เด็กสูงขึ้นเดือนละ 1.5 เซนติเมตร มีความสูงประมาณ 75 เซนติเมตร ช่วงอายุ 1-2 ขวบ ความสูงเพิ่มขึ้น 12 เซนติเมตร ช่วงอายุ 2-7 ขวบ เด็กจะสูงขึ้น 5-6 เซนติเมตรต่อปี ช่วงอายุ 8-15 ปี จะสูงเพิ่มขึ้นปีละ 7-8 เซนติเมตร ซึ่งช่วงวัยดังกล่าวถือเป็นช่วงที่ร่างกายของเด็กเริ่มพัฒนาเข้าสู่วัยรุ่นตอนต้น ส่งผลให้มีอัตราการเพิ่มความสูงต่อปีมากที่สุด โดยเด็กผู้หญิงจะสูงขึ้น 8 เซนติเมตรต่อปี เมื่ออายุ 11 ขวบ และจะสูงขึ้นช้าลงเมื่อมีประจำเดือนหรือมีอายุประมาณ 16 ปี โดยมีความสูงเพิ่มขึ้นประมาณ 6 เซนติเมตร ส่วนเด็กผู้ชายจะมีความสูงเพิ่มขึ้น 7-10 เซนติเมตรต่อปี เมื่อถึงอายุ 13 ปี ส่วนช่วงวัย 17-18 ปี เป็นช่วงที่ร่างกายมีการเติบโตเกือบเต็มที่เช่นเดียวกับความสูงของผู้ใหญ่ และร่างกายจะหยุดสูงเมื่อมีอายุ 20 ปีค่ะ

พัฒนาการเด็ก

          แต่เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจสงสัยว่าลูกของเราอายุเท่านี้ ควรมีส่วนสูงเท่าไร และอยากรู้ว่าลูกเราตัวเล็กเกินไปไหมเมื่อเปรียบเทียบกับเด็ก ๆ รุ่นเดียวกัน วันนี้กระปุกดอทคอมเลยได้นำตารางแสดงส่วนสูงตามเกณฑ์มาตรฐานของเด็กแต่ละวัยมาให้ได้เช็กกันแล้ว มีตั้งแต่ช่วงแรกเกิดจนถึงวัยรุ่น พร้อมกับวิธีเพิ่มความสูงของเด็ก ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ควรทราบ

ตารางส่วนสูงตามมาตรฐานของทารกเพศชายและเพศหญิง ตั้งแต่แรกเกิด - 12 เดือน

พัฒนาการเด็ก
ข้อมูลตารางจาก สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข


ตารางส่วนสูงตามมาตรฐานของเพศชายและเพศหญิง ตั้งแต่อายุ 1-18 ปี

พัฒนาการเด็ก
ข้อมูลตารางจาก สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

          ทั้งนี้หากคุณพ่อคุณแม่ท่านใดที่กลัวว่าลูกของตนจะไม่สูง หรือตัวเล็กกว่าคนอื่นนั้น ก็สามารถส่งเสริมปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นวิธีเพิ่มความสูงให้แก่ลูกได้ ดังต่อไปนี้ค่ะ

พัฒนาการเด็ก

1. อาหารและโภชนาการ

          หากอยากให้ลูกเติบโตแข็งแรงสมวัยและมีส่วนสูงได้มาตรฐาน ควรให้เขากินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นกินอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม ผลิตภัณฑ์จากนม ชีส โยเกิร์ต ไข่ ผักสีเขียวเข้ม เช่น คะน้า ผักโขม ผักบุ้ง สัตว์ที่กินได้ทั้งกระดูก เช่น กุ้งแห้ง ปลาเล็กปลาน้อย รวมถึงกินอาหารที่มีแมกนีเซียม ที่ช่วยในการดูดซึมแคลเซียม เช่น เมล็ดฟักทอง งาน ถั่ว ปลาแมคเคอเรล ดาร์กช็อกโกแลต นม ผักสีเขียว นอกจากนี้ก็ควรกินอาหารที่หลากหลายที่มีสารอาหารสำคัญ เช่น โปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุ ที่มีมากในเนื้อสัตว์ เนื้อปลา ผัก ผลไม้ต่าง ๆ

2. การออกกำลังกาย


          การออกกำลังกายที่ช่วยเพิ่มความสูงของลูกได้นั้น ควรเป็นการออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬาที่มีการยืดเหยียดตัว เช่น กระโดดเชือก บาสเกตบอล วอลเลย์บอล เป็นต้น ซึ่งการออกกำลังกายลักษณะนี้จะช่วยทำให้ร่างกายเกิดความยืดหยุ่น และมีการยืดตัวของกระดูกมากขึ้นนั่นเองค่ะ นอกจากนี้การออกกำลังกายประเภทอื่น ๆ เช่น วิ่ง ปั่นจักรยาน หรือว่ายน้ำ ก็สามารถช่วยเพิ่มความสูงได้เช่นกัน ทั้งยังทำให้ร่างกายของลูกแข็งแรงขึ้นอีกด้วยค่ะ

3. พักผ่อนให้เพียงพอ

          การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอจะทำให้โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) หลั่งออกมา ซึ่งเป็นฮอร์โมนหลักที่ทำให้ร่างกายเจริญเติบโต ช่วยกระตุ้นการสร้างและซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และยังช่วยเพิ่มความสูง โดยฮอร์โมนนี้จะหลั่งออกมาในช่วงที่ร่างกายหลับสนิท นั่นหมายความว่าคุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูก ๆ นอนหลับให้เพียงพอประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวัน โดยโกรทฮอร์โมนจะหลั่งออกมาในช่วงเวลาตั้งแต่ 4 ทุ่ม ถึงตี 5 การเข้านอนให้หลับสนิทตั้งแต่หัวค่ำจึงมีผลต่อความสูงของลูกได้ค่ะ

          จากตารางส่วนสูงเด็กแต่ละวัยที่เราได้นำมาฝากในวันนี้ จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ได้รู้ถึงเกณฑ์มาตรฐานการเจริญเติบโตของลูกในแต่ละวัย ตั้งแต่ช่วงแรกเกิดจนถึงอายุ 18 ปี ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรเอาส่วนสูงของลูกไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น ๆ แต่ควรดูจากช่วงอายุพร้อมเกณฑ์ส่วนสูงตามตารางมาตรฐานจะดีกว่าค่ะ ^_^

ขอบคุณข้อมูลจาก : babycenter.com, verywellfamily.com, bangkokhospital.com, สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ส่วนสูงเด็กแต่ละวัย พัฒนาการความสูงของเด็กหญิง เด็กชาย ตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงอายุ 18 ปี อัปเดตล่าสุด 2 พฤศจิกายน 2563 เวลา 15:27:34 280,899 อ่าน
TOP
x close