น้ำหนักเด็กตามเกณฑ์ในแต่ละเดือน ตั้งแต่แรกเกิด - 1 ขวบ ควรมีน้ำหนักตัวเท่าไร ?

          น้ำหนักเด็กตามเกณฑ์ในแต่ละเดือน ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้ มาดูกันสิคะว่า ลูกน้อยตั้งแต่แรกเกิด จนถึงวัย 1 ขวบ ควรมีน้ำหนักตัวเท่าไร จึงจะถือว่าสมบูรณ์ตามเกณฑ์พัฒนาการเจริญเติบโต

การดูแลสุขภาพเด็ก

          คุณพ่อคุณแม่ทราบหรือไม่ว่า น้ำหนักตัวของลูกมีผลต่อพัฒนาการเจริญเติบโตของพวกเขา เพราะเป็นสิ่งที่สามารถใช้ประเมินผลการเจริญเติบโตของเด็ก ๆ ได้ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญในการติดตาม ดูแล และสังเกตอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้ทราบว่าลูกมีการเจริญเติบโตที่ปกติหรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงวัยที่ลูกเริ่มกินอาหารอื่น ๆ ได้นอกจากนม จะเป็นช่วงที่น้ำหนักตัวของเด็กเริ่มเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ทำให้เด็กบางคนอาจมีน้ำหนักเกินหรือต่ำกว่ามาตรฐานได้ค่ะ

          และเพื่อให้ง่ายต่อการสังเกตการเจริญเติบโตของลูกน้อย วันนี้กระปุกดอทคอมเลยได้นำข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับ น้ำหนักเด็กตามเกณฑ์ในแต่ละเดือน ตั้งแต่ช่วงเด็กแรกเกิด จนถึงวัย 1 ขวบ มาให้คุณพ่อคุณแม่ได้ทราบกัน ยังไงแล้วลองเช็กดูสิคะว่า ลูกของคุณมีน้ำหนักที่อยู่ตามเกณฑ์หรือเปล่า

          โดยปกติทารกแรกเกิดจะมีน้ำหนักตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 2.8 - 3.2 กิโลกรัม หากน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อยกว่า 2.5 กิโลกรัม ให้ถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับทารกที่คลอดก่อนกำหนดและทารกที่คลอดตามกำหนด แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลค่ะ เพราะหลังจากนั้นน้ำหนักของทารกจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้ในช่วงตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 1 ขวบ ผู้ปกครองควรชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูงของเด็กเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ ดังนี้

          -  อายุ 2 สัปดาห์ - 6 เดือน เดือนละ 1 ครั้ง

          -  6 เดือน - 1 ขวบ 1 ครั้ง ต่อ ทุก ๆ 2 เดือน

          - 1 ขวบขึ้นไป 1 ครั้ง ต่อ ทุก ๆ 3 เดือน


การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักลูกในแต่ละช่วงเดือน

แรกเกิด - 3 เดือน

          ทารกหลังจากแรกคลอดจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 700 - 800 กรัมต่อเดือน ดังนั้นเมื่อครบ 3 เดือน น้ำหนักตัวของลูกควรเพิ่มขึ้นประมาณ 2 - 2.5 กิโลกรัม ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอย่างอื่นร่วมด้วย

อายุ 4 - 6 เดือน


          ทารกในวัยนี้จะดื่มนมมากขึ้น และน้ำหนักจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นประมาณ 500 - 600 กรัมต่อเดือน จนเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน ลูกอาจมีน้ำหนักเป็น 2 เท่าของน้ำหนักตอนแรกเกิด ทั้งนี้หลังจากอายุ 6 เดือนเป็นต้นไป ลูกสามารถกินอาหารเสริมได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่จึงสามารถจัดเตรียมอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการให้แก่ลูกน้อยได้ตามต้องการ

อายุ 7 - 9 เดือน

          สำหรับลูกน้อยวัย 7 - 9 เดือน จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 400 กรัมต่อเดือน อาจมากหรือน้อยกว่านี้นิดหน่อยค่ะ

การดูแลสุขภาพเด็ก

อายุ 9 เดือน - 1 ขวบ

          น้ำหนักตัวในเด็กวัย 9 เดือน - 1 ขวบ จะเพิ่มขึ้นประมาณ 300 กรัมต่อเดือน ที่ลดลงนั้นเนื่องจากเด็กมีการเผาผลาญมากกว่าเดิม ฟันเริ่มขึ้น อาจเกิดอาการปวดฟัน ทำให้บางคนดื่มนมหรือกินอาหารได้น้อยลงค่ะ

อายุ 1 ขวบขึ้นไป

          ในช่วงวัย 1 ขวบ เด็กจะน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 200 กรัม โดยน้ำหนักตัวของลูกอาจเพิ่มหรือลดกว่าเดิมได้จากหลากหลายปัจจัย เช่น ฟันขึ้น หรือมีส่วนสูงที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น

          ทั้งนี้ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตน้ำหนักของลูกน้อยอยู่เสมอว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ ซึ่งน้ำหนักของเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงจะมีค่าเฉลี่ยที่แตกต่างกันไปเล็กน้อย โดยน้ำหนักเด็กตามเกณฑ์ตั้งแต่แรกเกิด ถึง 1 ขวบ คุณพ่อคุณแม่สามารถตรวจสอบได้จากตารางดังต่อไปนี้ค่ะ

น้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์มาตรฐานของเด็กตามช่วงอายุ 1 - 12 เดือน

การดูแลสุขภาพเด็ก
ข้อมูลจาก : สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

ปัจจัยที่ทำให้น้ำหนักเด็กเพิ่มขึ้นหรือลดลง

          ไม่เพียงแต่อาหารและโภชนาการจะสำคัญต่อน้ำหนักตัวของลูกแล้ว ปัจจัยต่าง ๆ ก็ยังส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นและลดลงของน้ำหนักได้ เช่น สภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตหรือไม่ มีพื้นที่ให้ลูกได้เคลื่อนไหวออกกำลังกายมากน้อยแค่ไหน รวมถึงเรื่องพันธุกรรมของพ่อแม่ก็มีส่วน ถ้าคนในครอบครัวที่มีรูปร่างอวบอ้วน เด็กก็มีแนวโน้มที่จะอ้วนตามได้เช่นกัน อีกทั้งเรื่องของสุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บ และการใช้ยาต่าง ๆ ก็ส่งผลต่อน้ำหนักตัวของเด็กได้ค่ะ

          แม้ว่าเรื่องน้ำหนักตัวของลูกน้อยเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอยู่สม่ำเสมอ แต่ก็อย่าวิตกกังวลจนเครียดเกินไปนะคะ เพราะร่างกายของเด็กมีระบบการย่อย การเผาผลาญ และการดูดซึมที่แตกต่างกัน อาจมีขึ้น ๆ ลง ๆ ในบางเดือน ที่สำคัญไม่ควรเอาน้ำหนักตัวของลูกไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น เพียงแต่ให้ดูว่าอยู่ตามเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ แต่หากสังเกตว่าลูกผอมหรืออ้วนมากไป อาจเกิดจากอาหารการกิน หรือความผิดปกติบางอย่างร่วมด้วย อย่างไรแล้วแนะนำให้ปรึกษากุมารแพทย์จะดีที่สุดค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, pobpad.com, verywellfamily.com, enfamil.com


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
น้ำหนักเด็กตามเกณฑ์ในแต่ละเดือน ตั้งแต่แรกเกิด - 1 ขวบ ควรมีน้ำหนักตัวเท่าไร ? อัปเดตล่าสุด 3 กันยายน 2563 เวลา 17:56:14 187,005 อ่าน
TOP
x close