x close

ทารกไม่ยอมนอนกลางคืน ทำไงดี ? มาดูวิธีแก้ด้วยวิธีเหล่านี้…

          ทารกไม่ยอมนอนกลางคืน เกิดจากอะไร มาดูสาเหตุลูกไม่ยอมนอนกลางคืน และมีวิธีเลี้ยงลูกอย่างไร เพื่อให้ลูกน้อยหลับสบาย ไม่ร้องไห้กลางดึกบ่อย ๆ
ทารกไม่ยอมนอนกลางคืน

          การนอนหลับพักผ่อน ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็ก ๆ รวมไปถึงผู้ใหญ่ด้วย ซึ่งหนึ่งในความเหนื่อยยากที่จะต้องพบเจอเกี่ยวกับปัญหาแม่และเด็ก ก็คือการที่ทารกไม่ยอมนอนกลางคืน เมื่อลูกงอแงไม่ยอมนอน พ่อแม่ก็ต้องตื่นด้วย ทำให้อดนอนไปตาม ๆ กัน เล่นเอาหลายคนถึงกับไปทำงานแบบเบลอ ๆ เพื่อไม่ให้ทั้งบ้านกลายเป็นมนุษย์ค้างคาว เรามาทำความเข้าใจปัญหาทารกไม่ยอมนอนตอนกลางคืน พร้อมรู้เทคนิควิธีเลี้ยงลูกให้เจ้าตัวน้อยหลับเป็นเวลากันดีกว่า

ทารกไม่ยอมนอนกลางคืน

เกิดจากอะไร

          สาเหตุที่ลูกไม่ยอมนอนกลางคืน แถมร้องไห้โยเย เรียกได้ว่ามีหลากหลายปัจจัยค่ะ ไม่ว่าจะเป็น
  • ทารกยังไม่ง่วง ซึ่งอาจเกิดได้จากนอนตอนกลางวันมากเกินไป ทำให้เมื่อถึงเวลาที่จะต้องนอนอีกครั้ง ทารกจึงยังไม่รู้สึกง่วง เพราะว่านอนสะสมมาเต็มอิ่มสุด ๆ โดยทารกแรกเกิด - 3 เดือน ควรงีบ 3-5 ครั้งต่อวัน อายุ 4-5 เดือน ควรงีบ 2-3 ครั้งต่อวัน และทารกอายุ 7-12 เดือน ควรงีบ 2 ครั้งต่อวัน
  • ทารกไม่สบายตัว มาจากปัญหาเบสิกตั้งแต่การปัสสาวะ อุจจาระเลอะผ้าอ้อม ไปจนถึงมีอาการเป็นไข้ ตัวร้อน หรืออาจเกิดจากมีแมลงกัดต่อย หรืออาจอยู่ในช่วงที่ฟันกำลังขึ้น จึงทำให้รู้สึกไม่สบายเหงือก คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตลูกด้วยว่ามีสิ่งใดแปลกไปหรือไม่ เพื่อจะได้รับมืออย่างตรงจุด
  • ทารกหิว ขนาดผู้ใหญ่เองเวลาหิวก็ยังนอนหลับยาก นับประสาอะไรกับทารกล่ะคะ บางครั้งที่ลูกร้องไห้งอแง ไม่ยอมนอน ก็เพราะว่าหิวนม ควรดูแลให้ทารกได้กินนมอย่างเพียงพอก่อนเข้านอน เพื่อให้หลับสบายและได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน
  • บรรยากาศห้องนอนไม่เหมาะสม บางครั้งสถานที่นอนของลูกอาจไม่มีความสงบเพียงพอ อุณหภูมิร้อนหรือเย็นเกินไป ตลอดจนมีแสงสว่างจากหน้าจอมือถือ โทรทัศน์ การพูดคุยเสียงดัง เพราะปัจจัยเหล่านี้บางครั้งก็ส่งผลต่อการนอนของทารกได้
  • ไม่ชินกับวิธีการเข้านอน คุณพ่อคุณแม่หลายคนใช้วิธีกล่อมลูกด้วยการนอนเปลบ้าง การอุ้ม หรือการพานั่งรถเข็น ทีนี้พอทารกเริ่มชินกับการเข้านอนเช่นนั้น วันไหนที่เปลี่ยนมาพาเข้านอนเฉย ๆ โดยไม่มีกิจกรรมเหล่านั้นอีก อาจจะทำให้ทารกไม่ยอมนอนตอนกลางคืนได้เหมือนกัน
ทารกไม่ยอมนอนกลางคืน

ทารกไม่ยอมนอนกลางคืน ส่งผลอะไรบ้าง

          โดยทั่วไป เด็กทารกแรกเกิด - 12 เดือน ต้องการการนอนหลับที่ 12-16 ชั่วโมงต่อวัน หากทารกไม่ยอมนอนอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการได้ ดังนี้
  • พัฒนาการทางสมอง การตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น การพัฒนาด้านความจำและการเรียนรู้อาจช้าลง
  • พัฒนาการทางร่างกาย การนอนหลับไม่เพียงพออาจส่งผลกระทบต่อโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ที่ทำงานระหว่างการนอนหลับ ซึ่งอาจกระทบต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย การสร้างกล้ามเนื้อ การซ่อมแซมเซลล์และเนื้อเยื่อ ภูมิคุ้มกันโรค
          นอกจากนี้การพักผ่อนไม่เพียงพอในวัยเด็กอาจส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกายและอารมณ์ในอนาคต เช่น หงุดหงิดง่าย มีพฤติกรรมการเรียนรู้ในห้องเรียนพัฒนาได้ช้า เป็นต้น

วิธีช่วยให้ลูกนอนง่าย

หลับสบายตลอดคืน

          มาดูกันว่า หากลูกไม่ยอมนอนกลางคืน คุณพ่อคุณแม่จะรับมือด้วยวิธีไหนได้บ้าง

1. พาลูกออกกำลังกายเบา ๆ

          ระหว่างวันคุณพ่อคุณแม่สามารถให้ลูกน้อยขยับร่างกายตามพัฒนาการได้ เช่น จับคว่ำ คลาน เกาะยืน เดิน วิ่งเล่น ก็จะช่วยให้ลูกน้อยได้ออกกำลังกายเบา ๆ แล้ว และยังมีอีกเคล็ดลับที่คุณหมอเด็กแนะนำคือ ถ้าลูกเล็ก ควรพาลูกออกไปตากแดดอ่อน ๆ ช่วงเช้า 7-8 โมงเช้า และช่วงเย็น 5 โมงครึ่งด้วย วิธีนี้จะทำให้นาฬิกาชีวภาพลูกทำงานได้ดีขึ้น

2. ฝึกให้ลูกนอนเป็นเวลา

          ลดเวลานอนในช่วงกลางวันให้น้อยลง เพื่อให้ลูกรู้สึกง่วงนอนในตอนกลางคืนมากขึ้น จากนั้นให้กำหนดช่วงเวลาการเข้านอน และเสริมกิจกรรมก่อนเข้านอน เช่น พาไปที่เตียง หาหมอน ผ้าห่มให้ ร้องเพลงกล่อมนอน อ่านนิทาน นวดเบา ๆ เพื่อกระตุ้นให้ทารกจดจำสัญญาณต่าง ๆ เหล่านี้ได้ว่า เมื่อเริ่มทำแบบนี้ แปลว่าได้เวลาเข้านอนแล้ว และอย่าลืมทำเวลาเดิมในทุก ๆ วันด้วยนะคะ

3. ดูแลให้ลูกรักสบายตัว

          ก่อนถึงเวลาเข้านอนควรให้ลูกน้อยอาบน้ำอุ่น ๆ เพื่อความผ่อนคลาย ทาครีมบำรุงผิวให้ลูกฟิน และสวมใส่ชุดนอนเนื้อผ้านุ่ม ๆ ข้อดีของการใส่ชุดนอนคือจะทำให้ลูกรู้ว่าถึงเวลานอนแล้ว จะช่วยให้ลูกหลับได้ง่ายขึ้น จากนั้นอาจเปิดเพลงที่มีทำนองช้า ๆ เนิบ ๆ การกอด บอกราตรีสวัสดิ์ แม้ลูกจะยังไม่เข้าใจก็ตาม แต่กิจกรรมเหล่านี้ช่วยให้เด็กรู้สึกอบอุ่น และกระตุ้นให้ทารกเข้านอนได้ง่ายขึ้น

4. จัดบรรยากาศให้เหมาะกับการนอน

          ควรดูแลบรรยากาศห้องให้เหมาะสมกับการนอน ไม่มีเสียงรบกวน ปรับอุณหภูมิที่ไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป และควรมีไฟแสงสลัว ๆ ด้วย จะทำให้ลูกไม่แสบตา และยังช่วยให้ลูกเห็นคุณพ่อคุณแม่ที่อยู่ใกล้ ๆ ทำให้นอนหลับอย่างอุ่นใจ
ทารกไม่ยอมนอนกลางคืน

5. ให้ลูกเข้าเต้าก่อนนอน

          การกินนมก่อนนอน ช่วยให้เด็กหลับได้ยาวนานขึ้น ไม่หิวและตื่นกลางดึก อีกทั้งการเอาลูกเข้าเต้าก่อนจะนอน นับว่าเป็นช่วงเวลาดี ๆ ที่จะได้จ้องตา ฟังเสียงแม่ก่อนนอน ช่วยให้ลูกมีความสุขหลับสบายมากขึ้นได้ แต่หากลูกดูดนมจากขวด คุณแม่ไม่ควรให้หลับคาขวดนมนะคะ เพราะลูกจะติดการดูดขวดกล่อมตัวเองไปจนโตได้

6. ก่อนเข้านอนไม่กระตุ้นหรือเล่นกับลูกมากเกินไป

          บางคนทำงานกลับบ้านดึก ๆ มาถึงก็พยายามเล่นกับลูก ซึ่งถ้าเล่นใกล้เวลาเข้านอนมาก หรือเล่นจนเด็กสนุกตื่นเต้นมากเกินไป อาจมีผลต่อการนอนหลับตอนกลางคืนได้ ลองเปลี่ยนกิจกรรมเป็นอ่านนิทานให้ฟังสบาย ๆ หรือพูดคุยให้ลูกเคลิ้มหลับไปจะดีกว่า

7. สังเกตอาการง่วงนอนของลูก

          จับตาดูว่าลูกเริ่มหาว ขยี้ตา เริ่มมีท่าทีหงุดหงิด แปลว่าทารกเริ่มง่วงและอยากจะเข้านอนแล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกเข้านอนได้ทันทีค่ะ
          เมื่อทารกไม่ยอมนอนกลางคืน ควรเริ่มจากหาสาเหตุก่อน เช่น ลูกอุจจาระ ปัสสาวะหรือไม่ อากาศร้อน เย็นเกินไปไหม ถ้าไม่เจอสาเหตุ อาจลองตบก้นให้หลับหรืออุ้มปลอบดูก่อน ถ้าไม่ได้ผลค่อยให้ดูดนม อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือคุณพ่อคุณแม่ต้องอดทน และคิดว่าที่ลูกนอนไม่เป็นเวลานั้นเป็นเรื่องปกติของทารกแรกเกิด และเมื่อลูกน้อยค่อย ๆ ปรับตัวได้ ทุกอย่างก็จะดีขึ้นเองค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ขอบคุณข้อมูลจาก : healthline.com, whattoexpect.com, bangkokhealth.com, synphaet.co.th, mamaexpert.com
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทารกไม่ยอมนอนกลางคืน ทำไงดี ? มาดูวิธีแก้ด้วยวิธีเหล่านี้… อัปเดตล่าสุด 27 มีนาคม 2566 เวลา 17:48:56 76,372 อ่าน
TOP