x close

ทารกนอนสะดุ้ง นอนผวา เกิดจากอะไร ส่งผลต่อพัฒนาการไหม พร้อมวิธีแก้ไข

          ทารกนอนสะดุ้ง เกิดจากอะไร เป็นสัญญาณของปัญหาร้ายแรงไหม มาดูสาเหตุของทารกนอนผวา พร้อมวิธีแก้ทารกนอนสะดุ้ง ให้กลับมาหลับสนิท
ทารกนอนสะดุ้ง เกิดจากอะไร

          บ่อยครั้งที่คุณพ่อคุณแม่มักจะประสบปัญหาทารกนอนสะดุ้ง โดยเฉพาะในเด็กแรกเกิดหรือในช่วงขวบปีแรก เพราะเมื่อสังเกตการนอนหลับของลูก บางครั้งเจ้าตัวเล็กก็อาจมีอาการกระตุก หรือทารกนอนผวา สะดุ้งตื่นขึ้นมา บางคนอาจมีอาการร้องไห้ร่วมด้วย ทำให้นอนหลับไม่สนิท และเมื่อทารกหลับได้ไม่ยาว คุณพ่อคุณแม่ก็จะต้องเหนื่อยในการดูแลสุขภาพเด็กเพิ่มขึ้นไปอีก แถมยังแอบกลุ้มใจอยู่ลึก ๆ ว่าอาการทารกนอนสะดุ้ง นอนผวานี้ ผิดปกติหรือไม่ ส่งผลต่อพัฒนาการหรือเปล่า วันนี้เรามารู้สาเหตุและวิธีเลี้ยงลูก เพื่อแก้ไขอาการนี้และช่วยให้ทารกนอนหลับอย่างมีคุณภาพมากขึ้นกัน

ทารกนอนสะดุ้ง ทารกนอนผวา
เกิดจากอะไร

          อาการนอนผวาในเด็ก ส่วนใหญ่มักพบในทารกแรกเกิดวัย 2-3 เดือน เกิดขึ้นจากการที่ระบบประสาทอัตโนมัติที่เรียกว่า Moro Reflex ทำงานโดยไม่ตั้งใจ อันเนื่องมาจากโดนกระตุ้น ไม่ว่าจะเป็นแสงสว่าง เสียง หรือสิ่งเร้าต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นยามนอนหลับ ทำให้ทารกเกิดการตอบโต้ขึ้นมาได้ โดยจะมีอาการผวา ขยับตัวนิดหน่อย หรือมีการกระตุกที่แขนหรือขา กางแขนและขาออก พร้อมกับแบมือ ทั้งนี้ เด็ก ๆ ยังมีอาการนอนผวาอีกช่วงคือ 6 เดือน – 1 ขวบ โดยจะมีอาการร้องละเมอ เอะอะโวยวาย ตีแขนตีขาทั้งที่ตายังหลับสนิท จนบางทีคุณพ่อคุณแม่ตกใจ ถือเป็นเรื่องปกติของช่วงวัยนี้ ไม่น่าเป็นห่วงค่ะ
          นอกจากสาเหตุหลักนี้แล้ว อาการทารกนอนสะดุ้งยังอาจเกิดได้จากปัจจัยอื่น ๆ ดังนี้
  • ได้รับคาเฟอีนจากน้ำนมแม่ การที่คุณแม่ให้นมลูกที่กินอาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูงอาจสะสมจนส่งต่อไปยังลูกผ่านนมแม่ได้ ซึ่งคาเฟอีนจะมีผลต่อการนอนหลับของทารก และยังอาจส่งผลให้ทารกนอนสะดุ้งได้ด้วย
  • ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ อาการกระตุก หรืออาการสั่น อาจเป็นหนึ่งในสัญญาณแรก ๆ ของอาการระดับน้ำตาลในเลือดต่ำได้
  • โซเดียมต่ำ การขาดโซเดียมสามารถส่งผลให้ร่างกายมีอาการกระตุกได้ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากคุณแม่กินอาหารที่มีโซเดียมน้อย ทำให้ทารกมีโซเดียมในร่างกายไม่เพียงพอ

ทารกนอนสะดุ้ง ส่งผลต่อพัฒนาการของลูกไหม

          ข้อมูลทางการแพทย์เผยว่า อาการนอนผวาไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาของลูกโดยตรง แต่จะทำให้เด็กมีอาการอ่อนเพลีย งอแง หงุดหงิด ไม่พร้อมเปิดรับการเรียนรู้อย่างเต็มที่ เพราะนอนหลับไม่สนิท ทำให้ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ ดังนั้น ถึงการนอนผวาหรือสะดุ้งตื่นจะไม่เป็นอันตรายร้ายแรง แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ควรทำความเข้าใจและหาวิธีแก้ไข เพื่อให้ลูกรักได้นอนหลับอย่างเต็มอิ่มค่ะ

วิธีแก้ ลูกนอนสะดุ้ง ร้องไห้

          สำหรับวิธีลดอาการทารกนอนสะดุ้ง นอนผวา สามารถทำได้ง่าย ๆ ดังนี้

1. อุ้มลูกน้อยแนบตัวให้นานที่สุด

          เวลาที่จะวางลูกลงบนที่นอน ให้ค่อย ๆ ปล่อยลูกหลังจากที่หลังของลูกน้อยสัมผัสที่นอนแล้วเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกรู้สึกว่ากำลังจะหล่นและทำให้เกิดอาการนอนผวาได้

2. ห่อตัวลูกน้อย

          การห่อตัวทารกด้วยผ้า จะช่วยให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและสบายตัว เหมือนนอนหลับอยู่ในท้องแม่อีกครั้ง นอกจากนี้ยังช่วยให้ลูกนอนหลับนานขึ้นอีกด้วย

3. นอนกอดลูกเบา ๆ

          เมื่อลูกนอนสะดุ้งตื่น ให้คุณพ่อหรือคุณแม่นอนกอดลูกเบา ๆ เพื่อให้ลูกรับรู้ถึงอ้อมกอดอันอบอุ่น ทั้งนี้ อาจลองสังเกตดูว่าทารกนอนผวาช่วงเวลาไหนบ่อยที่สุด แล้วนอนกอดลูกเมื่อถึงช่วงเวลานั้นเสมอ
ทารกนอนสะดุ้ง เกิดจากอะไร

4. จัดห้องนอนให้ดูผ่อนคลายและสงบ

          ดูแลบริเวณห้องนอนของทารกให้มีบรรยากาศเงียบสงบ อุณหภูมิเหมาะสม ไม่มีแสงจ้าตกกระทบ ไม่มีโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์ในห้องนอน หรืออาจเปิดเพลงเบา ๆ ในขณะที่ลูกนอนหลับก็ได้

5. ใช้หมอนกันสะดุ้ง

          ปัจจุบันสามารถเลือกใช้หมอนกันสะดุ้งได้ หรืออาจใช้ผ้าห่มที่มีน้ำหนัก หรือถุงมือยางใส่ข้าวสาร มาวางไว้บริเวณหน้าอกลูก เพื่อให้ลูกรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย เหมือนมีคุณแม่อยู่ใกล้ ๆ

อาการทารกนอนสะดุ้งแบบไหน ที่ควรรีบปรึกษาคุณหมอ

          หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าทารกนอนผวา กระตุก และมีอาการดังต่อไปนี้ร่วมด้วย ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที

  • หลังจากนอนผวาหรือกระตุกแล้ว ทารกไม่ยอมตื่น ไม่เคลื่อนไหว หรือไม่มีอาการตอบสนองใด ๆ กลับมา
  • หลังอาการนอนสะดุ้ง พบว่าทารกร้องไห้อย่างอ่อนแรง หรือมีเสียงร้องที่เบาลงกว่าปกติ
  • หลังอาการนอนสะดุ้ง ทารกมีอาการครางหรือกรน
  • หลังอาการนอนสะดุ้ง ผิวของทารกมีลักษณะเป็นสีฟ้า หรือสีเทา สัญญาณนี้บ่งบอกว่าทารกกำลังมีปัญหาการหายใจ ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที

          โดยทั่วไปแล้ว อาการทารกนอนสะดุ้ง นอนผวา ไม่ได้เป็นสัญญาณของปัญหาที่ร้ายแรง แต่ก็ควรดูแลป้องกันเอาไว้ เพื่อให้ลูกน้อยนอนหลับสนิทและรู้สึกอบอุ่นใจ อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้ไม่นานก็จะหายไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น ไม่ต้องกังวลมากจนเกินไปนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : sikarin.com, sleepfoundation.org, whattoexpect.com, dreamlandbabyco.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทารกนอนสะดุ้ง นอนผวา เกิดจากอะไร ส่งผลต่อพัฒนาการไหม พร้อมวิธีแก้ไข อัปเดตล่าสุด 10 มีนาคม 2566 เวลา 11:41:35 15,002 อ่าน
TOP