รู้ก่อน...ป้องกันการ “แท้ง” (M&C แม่และเด็ก)
เรื่อง : นลัน
แม้คำว่า "แท้ง" จะเป็นเรื่องที่คุณแม่ตั้งครรภ์จะไม่อยากได้ยิน แต่ถ้าไม่ทำความรู้จักกับมัน เราคงไม่สามารถป้องกันสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นนี้ได้ จริงมั้ยคะ
การแท้งจากความผิดปกติของทารก
การแท้งพบได้ประมาณ 10-12 เปอร์เซ็นต์ ของการตั้งครรภ์โดย 80 เปอร์เซ็นต์ ของการแท้ง มักเกิดขึ้นในช่วง 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งอัตราการแท้งจะสูงขึ้นในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมาก จากสถิติพบว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี มีโอกาสแท้งสูงถึง 26 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
สาเหตุที่แท้จริงของการแท้งยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าถ้าเป็นการแท้งในช่วงครรภ์อ่อน ๆ มักเกิดจากความผิดปกติของทารกในครรภ์ ทำให้ทารกเสียชีวิต ซึ่งน่าจะเป็นความผิดปกติของไข่ที่ถูกผสม เนื่องจากพบว่า 50-60 เปอร์เซ็นต์ ของเด็กที่แท้งในไตรมาสแรกนี้มีความผิดปกติของโครโมโซม โดยอุบัติการณ์ของทารกที่มีโครโมโซมผิดปกติจะสูงขึ้น เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการแท้ง
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยจากคุณแม่ซึ่งทำให้เกิดการแท้งได้ ซึ่งอย่างที่บอกข้างต้นค่ะว่า เราควรเรียนรู้ไว้ก่อนว่า สิ่งใดบ้างที่อาจนำไปสู่การแท้ง เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการแท้ง เช่น
ภาวะทุพโภชนาการชนิดรุนแรง ซึ่งคุณแม่สามารถป้องกันได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วนทั้ง 5 หมู่
การติดเชื้อจากการเจ็บป่วย เช่น ปอดบวม ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ ตับอักเสบ เริม วัณโรค มีความผิดปกติของฮอร์โมน เช่น ไทรอยด์ ฮอร์โมนต่ำ ฯลฯ ดังนั้น หากรู้สึกไม่สบายควรพบแพทย์ทันที และแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยว่าคุณตั้งครรภ์อยู่เพื่อที่คุณหมอจะได้จัดยาที่เหมาะสมให้ นอกจากนี้คุณแม่ที่เป็นโรคภูมิต้านทานต่อเนื้อเยื่อของตนเอง เช่น SLE ก็จะมีความเสี่ยงต่อการแท้งจึงควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
สารนิโคตินในบุหรี่ก็นำไปสู่การแท้งได้ โดยพบว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ที่สูบบุหรี่จะเสี่ยงต่อการแท้งมากกว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ นอกจากนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ดื่มกาแฟมากกว่า 2 แก้วต่อวัน และการดื่มสุรา จะทำให้เสี่ยงต่อการแท้งมากขึ้น ส่วนสารพิษอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดการแท้ง ได้แก่ สารหนู ตะกั่ว ฟอร์มาลดีไฮด์ เบนซิน ฯลฯ
การป้องกันการแท้ง
การป้องกันการแท้งที่คุณแม่สามารถทำได้ คือ ก่อนและระหว่างตั้งครรภ์ควรได้รับการตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยเมื่อฝากครรภ์แพทย์จะทำการตรวจเลือด หาเชื้อซิฟิลิส, เอดส์, ไวรัสตับอักเสบ, ดูความสมบูรณ์ของเลือด, หมู่เลือด รวมทั้งตรวจหัวใจ, ปอด, ความดันโลหิต, ตรวจปัสสาวะ, ตรวจท้องภายนอกเพื่อเช็กดูขนาดของมดลูก บางรายอาจต้องตรวจเต้านม ตรวจภายในด้วย และเมื่อฝากครรภ์ควรไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
นอกจากอยู่ในความดูแลของแพทย์แล้ว ตัวคุณแม่เองก็ต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีมลพิษ ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุ หากมีปัญหาหรือสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อจะได้รับการรักษาได้ทัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 37 ฉบับที่ 501 พฤศจิกายน 2556