รอถึงคลอด...ก็สายเสียแล้ว



รอถึงคลอด...ก็สายเสียแล้ว
(รักลูก)
โดย : มรกต เอื้อวงศ์

           หากคุณปรารถนาให้ลูกเติบโตมาเป็นคนคุณภาพ มีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ทั้งกาย ใจ และสติปัญญา ต้องเริ่มตั้งแต่ 40 สัปดาห์ในครรภ์กันเลย เพราะหากเลยเวลานี้ ก็อาจสายเสียแล้ว


เริ่มก่อนท้องยิ่งดี

           คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมสุขภาพให้ดีก่อน ทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ให้มีโรคแทรกซ้อน และต้องเตรียมด้านอื่น ๆ ให้พร้อม เช่น

           ตรวจก่อนแต่ง เพื่อกำจัดโรคที่เราป้องกันได้ เช่น โรคติดเชื้อต่าง ๆ หรือโรคที่อาจจะป้องกันไม่ได้แต่ติดอยู่ในตัวพ่อแม่ เช่น โลหิตจาง ธาลัสซีเมีย เป็นต้น

           การตรวจร่างกายจะเริ่มต้นจากการซักประวัติ ว่าคนในครอบครัวของแต่ละฝ่ายมีใครที่เป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมบ้างหรือไม่ หรือมีความผิดปกติอะไรที่สามารถแพร่ถึงกันได้บ้าง เมื่อซักประวัติแล้วจะต่อด้วยการตรวจร่างกาย

           โดยทั่วไปการตรวจร่างกายสำหรับคู่ที่เตรียมตัวจะแต่งงานและตั้งครรภ์ มักจะตรวจกามโรคและโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ โดยโรคที่ต้องตรวจ คือซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบบี หัดเยอรมัน และที่สำคัญคือ HIV

           สำหรับฝ่ายหญิงจะมีการตรวจเพิ่มจากฝ่ายชาย คือตรวจดูภูมิต้านทานของเชื้อหัดเยอรมัน หากพบว่ายังไม่มีภูมิต้านทานก็ฉีดวัคซีนสร้างภูมิต้านทาน จะได้ไม่ต้องเสี่ยงกับการติดเชื้อหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์ และอาจต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาว่า เป็นโรคที่อาจเกิดอันตรายขณะตั้งครรภ์หรือไม่ เช่น เบาหวาน เพราะโรคนี้มักจะไม่ค่อยแสดงอาการขณะที่อายุน้อย หรืออยู่ในวัยเจริญพันธุ์ แต่มักแสดงอาการตอนอายุมากขึ้นหรือระหว่างตั้งครรภ์ค่ะ

           ดูแลโภชนาการ กินอาหารที่มีประโยชน์และถูกสัดส่วน และควรบำรุงร่างกายด้วยการกินโฟเลทล่วงหน้า 3 เดือนก่อนการตั้งครรภ์ เมื่อโฟเลทในร่างกายแม่มีพร้อม พอตั้งครรภ์ในช่วงที่ลูกเริ่มฝังตัว โฟเลทจะช่วยลดความผิดปกติของการแบ่งเซลล์ในตัวอ่อนได้ดีขึ้น และลดอัตราความเสี่ยงของการแท้ง หรือความพิการต่างๆ ได้

           นอกจากนั้น ก็ควรดูแลไม่ให้มีน้ำหนักเกิน หากก่อนตั้งครรภ์คุณแม่มีน้ำหนักเกิน ควรควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ปกตินะคะ เพราะจากการศึกษาของสถาบันวิจัยแห่งโรงพยาบาลเด็กโอ๊คแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเก็บข้อมูลจากคุณแม่ที่คลอดลูกปลอดภัย 700 คน และคุณแม่ที่คลอดลูกมีความผิดปกติที่ไขสันหลัง สมอง และเส้นเลือดหัวใจ 659 คน

           พบว่าผู้หญิงที่อ้วนลงพุงก่อนตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงที่ลูกจะมีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกสันหลังและสมองมากกว่าผู้หญิงที่มีรูปร่างปกติค่ะ และพบว่าคุณแม่ที่อ้วนลงพุงยังมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ทารกพิการแต่กำเนิดด้วยค่ะ

40 สัปดาห์สำคัญ

           เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ สิ่งแรกที่คุณแม่ต้องรีบทำ คือฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อจะได้ทราบว่าลูกในท้องสมบูรณ์ดีหรือไม่ หากมีสิ่งใดบกพร่องหรือขาดไปจะได้เสริมส่วนที่ขาดได้เร็วขึ้น รวมทั้งเรื่องการดำเนินชีวิตและปฏิบัติภารกิจในชีวิตประจำวันในระหว่างตั้งครรภ์ ก็มีข้อควรปฏิบัติและควรระวังหลายเรื่องที่ไม่ควรละเลย

icon 1. อาหารดีมีประโยชน์

           กินอาหารมีประโยชน์และครบทุกหมวดหมู่ รวมทั้งยาบำรุงที่คุณหมอจัดให้ด้วย ส่วนยาบำรุงอื่น ๆ ที่หากินเอง ไม่ว่าจะเป็นสมุนไพร ยาจีน โสมต่าง ๆ ควรอยู่ภายใต้การดูแลของคุณหมอที่คุณแม่ไปฝากครรภ์ เพราะยาบำรุงเหล่านั้นอาจมีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของไตของลูกในท้องได้

icon 2.อารมณ์ดีลูกสุขภาพดี

           สุขภาพจิตของคุณแม่ส่งผลต่อลูกน้อยในครรภ์โดยตรง คุณแม่ควรทำใจให้สบาย หาเวลาและกิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด หากต้องพบเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เจอความสูญเสีย หรือมีปัญหารุมเร้า ต้องตั้งสติให้ดีเพื่อตัวคุณแม่และลูกน้อย เพราะหากคุณแม่มีแต่ความเครียดก็จะส่งผลเสียต่อลูกในท้องได้

           รายงานผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ในอังกฤษ และมหาวิทยาลัยอาฮัส ในเดนมาร์ก ซึ่งตีพิมพ์ใน Archives of General Psychiatry โดยเก็บข้อมูลคุณแม่ชาวเดนมาร์ก 1.3 ล้านคน ที่คลอดบุตรระหว่างเดือนมกราคม 1973-1995 พบว่าคุณแม่ที่มีความเครียดสูงในระหว่างตั้งครรภ์อ่อน ๆ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการให้กำเนิดบุตรที่มีปัญหาทางจิต

icon 3.ออกกำลังกายให้แข็งแรง

คุณแม่ที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ได้ค่ะ เช่น ปวดขา ปวดหลัง เป็นต้น

           การออกกำลังกายยังส่งผลให้ลูกน้อยคลอดออกมามีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ และไม่มีน้ำหนักตัวเกินจนเป็นอันตรายต่อการคลอดของแม่ และอันตรายต่อตัวเด็กเองเมื่อโตขึ้นด้วย

           การศึกษาจากมหาวิทยาลัย Case Western Reserve ใน Cleveland, Ohio โดย Dr.James Clapp ระบุว่าคุณแม่ที่ออกกำลังกายในระหว่างตั้งครรภ์จะช่วยลดไขมันให้กับทารกในครรภ์ โดยดูพัฒนาการทางด้านร่างกายของเด็ก 20 คนที่คุณแม่ออกกำลังกายขณะตั้งครรภ์ ซึ่งมากกว่า 55% คุณแม่จะออกกำลังกายด้วยแอโรบิคครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง แล้วเมื่อนำมาเทียบกับเด็กที่คลอดจากคุณแม่ที่ไม่ได้ออกกำลังกายตอนตั้งครรภ์จำนวน 20 คน ก็พบว่าเด็กที่คลอดจากคุณแม่ที่ออกกำลังกายจะมีน้ำหนักน้อยกว่าและมีไขมันน้อยกว่า

icon 4.พฤติกรรมดี ลูกได้สิ่งดี ๆ

           นอกจากการเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพและโภชนาการแล้ว รูปแบบการดำเนินชีวิตบางอย่างอาจจะต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วยค่ะ เช่น

           นอนให้เพียงพอ คุณแม่ควรนอนหลับให้ได้คืนละ 7-9 ชั่วโมง

           การศึกษาจาก Montefiore Medical Center ประเทศสหรัฐอเมริกา ในคุณแม่ตั้งครรภ์จำนวน 1,272 คน พบว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ที่นอนน้อยกว่าคืนละ 5 ชั่วโมง มีความเสี่ยงที่จะเกิดครรภ์เป็นพิษมากกว่าปกติถึง 9.5 เท่าค่ะ

           ดังนั้น ควรจัดตารางการนอนและเข้านอนให้ตรงเวลา รวมทั้งหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนในช่วงเย็น เพราะจะส่งผลให้นอนไม่หลับได้

           งดดื่มแอลกอฮอล์ เพราะทุกครั้งที่คุณแม่ดื่ม ลูกจะได้รับแอลกอฮอล์ด้วยเช่นกัน และแอลกอฮอล์ก็เปรียบเสมือนคาร์บอนมอนน็อกไซด์จากบุหรี่ ซึ่งจะส่งผ่านจากแม่ไปสู่ลูกในท้องทางกระแสเลือด ทำให้ลูกมีอาการ FAS (Fetal Alcohol Syndrome)

           หากลูกมีอาการ FAS จะเกิดความผิดปกติทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สมอง และใบหน้า เช่น ร่างกายไม่เจริญเติบโต ศีรษะมีขนาดเล็ก พัฒนาการทางสมองช้า ทำลายระบบประสาท ปัญญาอ่อน การทำงานประสานระหว่างมือและตาไม่ดี มีปัญหาทางด้านพฤติกรรมอย่างรุนแรง เรียนรู้ไม่ดี สมาธิสั้น เป็นต้น

อยู่ในที่อากาศบริสุทธิ์


           อากาศเป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิตเรา อากาศที่เราหายใจต้องเป็นอากาศที่บริสุทธิ์ ซึ่งจะทำให้ร่างกายสดชื่นแข็งแรง ดังนั้น การอยู่ท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์ จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คุณแม่ไม่ควรมองข้าม

           การศึกษาที่เมืองนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1999 พบว่าคุณแม่ที่หายใจเอามลพิษเข้าไปมาก ๆ จะส่งผลให้ลูกมีไอคิวต่ำ ในขณะที่การศึกษาจากวิทยาลัยอิมพีเรียลในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ พบว่ามลพิษทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระแสเลือด ซึ่งสามารถขัดขวางการทำงานของรกและส่งผลต่อ DNA ของทารกตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อนในครรภ์

           40 สัปดาห์ระหว่างตั้งครรภ์ จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะทำให้ความปรารถนาที่อยากเห็นลูกน้อยเติบโตมาแข็งแรง เป็นคนคุณภาพ สมบูรณ์ทั้งกาย ใจ และสติปัญญาของทุกครอบครัวเป็นความจริง ซึ่งถ้ามาเริ่มเอาหลังคลอด ก็อาจสายเสียแล้วค่ะ



               
   
 คลิกอ่านความคิดเห็นของ เพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รอถึงคลอด...ก็สายเสียแล้ว อัปเดตล่าสุด 30 มกราคม 2556 เวลา 15:59:57 1,593 อ่าน
TOP
x close