
รอถึงคลอด...ก็สายเสียแล้ว (รักลูก)
โดย : มรกต เอื้อวงศ์
หากคุณปรารถนาให้ลูกเติบโตมาเป็นคนคุณภาพ มีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ทั้งกาย ใจ และสติปัญญา ต้องเริ่มตั้งแต่ 40 สัปดาห์ในครรภ์กันเลย เพราะหากเลยเวลานี้ ก็อาจสายเสียแล้ว
เริ่มก่อนท้องยิ่งดี
คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมสุขภาพให้ดีก่อน ทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ให้มีโรคแทรกซ้อน และต้องเตรียมด้านอื่น ๆ ให้พร้อม เช่น
ตรวจก่อนแต่ง เพื่อกำจัดโรคที่เราป้องกันได้ เช่น โรคติดเชื้อต่าง ๆ หรือโรคที่อาจจะป้องกันไม่ได้แต่ติดอยู่ในตัวพ่อแม่ เช่น โลหิตจาง ธาลัสซีเมีย เป็นต้น
การตรวจร่างกายจะเริ่มต้นจากการซักประวัติ ว่าคนในครอบครัวของแต่ละฝ่ายมีใครที่เป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมบ้างหรือไม่ หรือมีความผิดปกติอะไรที่สามารถแพร่ถึงกันได้บ้าง เมื่อซักประวัติแล้วจะต่อด้วยการตรวจร่างกาย
โดยทั่วไปการตรวจร่างกายสำหรับคู่ที่เตรียมตัวจะแต่งงานและตั้งครรภ์ มักจะตรวจกามโรคและโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ โดยโรคที่ต้องตรวจ คือซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบบี หัดเยอรมัน และที่สำคัญคือ HIV
สำหรับฝ่ายหญิงจะมีการตรวจเพิ่มจากฝ่ายชาย คือตรวจดูภูมิต้านทานของเชื้อหัดเยอรมัน หากพบว่ายังไม่มีภูมิต้านทานก็ฉีดวัคซีนสร้างภูมิต้านทาน จะได้ไม่ต้องเสี่ยงกับการติดเชื้อหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์ และอาจต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาว่า เป็นโรคที่อาจเกิดอันตรายขณะตั้งครรภ์หรือไม่ เช่น เบาหวาน เพราะโรคนี้มักจะไม่ค่อยแสดงอาการขณะที่อายุน้อย หรืออยู่ในวัยเจริญพันธุ์ แต่มักแสดงอาการตอนอายุมากขึ้นหรือระหว่างตั้งครรภ์ค่ะ
ดูแลโภชนาการ กินอาหารที่มีประโยชน์และถูกสัดส่วน และควรบำรุงร่างกายด้วยการกินโฟเลทล่วงหน้า 3 เดือนก่อนการตั้งครรภ์ เมื่อโฟเลทในร่างกายแม่มีพร้อม พอตั้งครรภ์ในช่วงที่ลูกเริ่มฝังตัว โฟเลทจะช่วยลดความผิดปกติของการแบ่งเซลล์ในตัวอ่อนได้ดีขึ้น และลดอัตราความเสี่ยงของการแท้ง หรือความพิการต่างๆ ได้
นอกจากนั้น ก็ควรดูแลไม่ให้มีน้ำหนักเกิน หากก่อนตั้งครรภ์คุณแม่มีน้ำหนักเกิน ควรควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ปกตินะคะ เพราะจากการศึกษาของสถาบันวิจัยแห่งโรงพยาบาลเด็กโอ๊คแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเก็บข้อมูลจากคุณแม่ที่คลอดลูกปลอดภัย 700 คน และคุณแม่ที่คลอดลูกมีความผิดปกติที่ไขสันหลัง สมอง และเส้นเลือดหัวใจ 659 คน
พบว่าผู้หญิงที่อ้วนลงพุงก่อนตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงที่ลูกจะมีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกสันหลังและสมองมากกว่าผู้หญิงที่มีรูปร่างปกติค่ะ และพบว่าคุณแม่ที่อ้วนลงพุงยังมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ทารกพิการแต่กำเนิดด้วยค่ะ
40 สัปดาห์สำคัญ
เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ สิ่งแรกที่คุณแม่ต้องรีบทำ คือฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อจะได้ทราบว่าลูกในท้องสมบูรณ์ดีหรือไม่ หากมีสิ่งใดบกพร่องหรือขาดไปจะได้เสริมส่วนที่ขาดได้เร็วขึ้น รวมทั้งเรื่องการดำเนินชีวิตและปฏิบัติภารกิจในชีวิตประจำวันในระหว่างตั้งครรภ์ ก็มีข้อควรปฏิบัติและควรระวังหลายเรื่องที่ไม่ควรละเลย

กินอาหารมีประโยชน์และครบทุกหมวดหมู่ รวมทั้งยาบำรุงที่คุณหมอจัดให้ด้วย ส่วนยาบำรุงอื่น ๆ ที่หากินเอง ไม่ว่าจะเป็นสมุนไพร ยาจีน โสมต่าง ๆ ควรอยู่ภายใต้การดูแลของคุณหมอที่คุณแม่ไปฝากครรภ์ เพราะยาบำรุงเหล่านั้นอาจมีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของไตของลูกในท้องได้

สุขภาพจิตของคุณแม่ส่งผลต่อลูกน้อยในครรภ์โดยตรง คุณแม่ควรทำใจให้สบาย หาเวลาและกิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด หากต้องพบเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เจอความสูญเสีย หรือมีปัญหารุมเร้า ต้องตั้งสติให้ดีเพื่อตัวคุณแม่และลูกน้อย เพราะหากคุณแม่มีแต่ความเครียดก็จะส่งผลเสียต่อลูกในท้องได้
รายงานผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ในอังกฤษ และมหาวิทยาลัยอาฮัส ในเดนมาร์ก ซึ่งตีพิมพ์ใน Archives of General Psychiatry โดยเก็บข้อมูลคุณแม่ชาวเดนมาร์ก 1.3 ล้านคน ที่คลอดบุตรระหว่างเดือนมกราคม 1973-1995 พบว่าคุณแม่ที่มีความเครียดสูงในระหว่างตั้งครรภ์อ่อน ๆ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการให้กำเนิดบุตรที่มีปัญหาทางจิต

คุณแม่ที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ได้ค่ะ เช่น ปวดขา ปวดหลัง เป็นต้น
การออกกำลังกายยังส่งผลให้ลูกน้อยคลอดออกมามีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ และไม่มีน้ำหนักตัวเกินจนเป็นอันตรายต่อการคลอดของแม่ และอันตรายต่อตัวเด็กเองเมื่อโตขึ้นด้วย
การศึกษาจากมหาวิทยาลัย Case Western Reserve ใน Cleveland, Ohio โดย Dr.James Clapp ระบุว่าคุณแม่ที่ออกกำลังกายในระหว่างตั้งครรภ์จะช่วยลดไขมันให้กับทารกในครรภ์ โดยดูพัฒนาการทางด้านร่างกายของเด็ก 20 คนที่คุณแม่ออกกำลังกายขณะตั้งครรภ์ ซึ่งมากกว่า 55% คุณแม่จะออกกำลังกายด้วยแอโรบิคครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง แล้วเมื่อนำมาเทียบกับเด็กที่คลอดจากคุณแม่ที่ไม่ได้ออกกำลังกายตอนตั้งครรภ์จำนวน 20 คน ก็พบว่าเด็กที่คลอดจากคุณแม่ที่ออกกำลังกายจะมีน้ำหนักน้อยกว่าและมีไขมันน้อยกว่า

นอกจากการเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพและโภชนาการแล้ว รูปแบบการดำเนินชีวิตบางอย่างอาจจะต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วยค่ะ เช่น





อยู่ในที่อากาศบริสุทธิ์
อากาศเป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิตเรา อากาศที่เราหายใจต้องเป็นอากาศที่บริสุทธิ์ ซึ่งจะทำให้ร่างกายสดชื่นแข็งแรง ดังนั้น การอยู่ท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์ จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คุณแม่ไม่ควรมองข้าม
การศึกษาที่เมืองนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1999 พบว่าคุณแม่ที่หายใจเอามลพิษเข้าไปมาก ๆ จะส่งผลให้ลูกมีไอคิวต่ำ ในขณะที่การศึกษาจากวิทยาลัยอิมพีเรียลในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ พบว่ามลพิษทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระแสเลือด ซึ่งสามารถขัดขวางการทำงานของรกและส่งผลต่อ DNA ของทารกตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อนในครรภ์
40 สัปดาห์ระหว่างตั้งครรภ์ จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะทำให้ความปรารถนาที่อยากเห็นลูกน้อยเติบโตมาแข็งแรง เป็นคนคุณภาพ สมบูรณ์ทั้งกาย ใจ และสติปัญญาของทุกครอบครัวเป็นความจริง ซึ่งถ้ามาเริ่มเอาหลังคลอด ก็อาจสายเสียแล้วค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
