ระวัง! ลูกเล็กหูชั้นกลางอักเสบ

หูชั้นกลางอักเสบ

ระวัง! ลูกเล็กหูชั้นกลางอักเสบ
(modernmom)
โดย: พญ.ศิริเพ็ญ มุขบัณฑิตพงษ์

          ช่องหูชั้นกลาง ซึ่งเป็นโพรงอากาศเล็ก ๆ ระหว่างเยื่อแก้วหูและช่องหูชั้นใน และท่อยูสเตเชี่ยน ท่อที่เชื่อมต่อระหว่างหูชั้นกลางกับจมูก ทำหน้าที่ในการปรับความดันหูนั้น การอักเสบของหูชั้นกลางพบได้ในเด็กอายุระหว่าง 3 เดือนถึง 11 ปี และพบมากในเด็กอายุระหว่าง 6 ถึง 11 เดือน

ต้นตอหูชั้นกลางอักเสบ

การที่หูชั้นกลางจะอักเสบนั้นขึ้นอยู่กับ 3 สาเหตุด้วยกัน

          1. การติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หวัด คออักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ ต่อมอดีนอยด์อักเสบ ไซนัสอักเสบ โดยเชื้อโรคจะผ่านจากคอหรือจมูกเข้าไปสู่หูชั้นกลาง ผ่านทางท่อยูสเตเชี่ยนซึ่งเชื่อมระหว่างโพรงหลังจมูกกับหูชั้นกลาง โดยท่อนี้จะเปิดเฉพาะเวลาหาว กลืน ไอ จามหรือสั่งน้ำมูก อาการที่เกิดจากเชื้อไวรัส มักจะไม่ค่อยมีอาการปวด สามารถหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา ในขณะที่เชื้อแบคทีเรียมักจะทำให้มีไข้ ปวดหูมากและจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ

          2. ท่อยูสเตเชี่ยนทำงานผิดปกติ บวม หรืออุดตัน

          3. ภูมิแพ้ ทำให้เกิดการอุดตันของท่อยูสเตเชี่ยน

8 ปัจจัยเสี่ยงลูกเล็กหูชั้นกลางอักเสบ

          มาดูกันค่ะว่า ปัจจัยชนิดใดบ้าง ที่ทำให้เด็กเสี่ยงต่อการเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบได้

          1. อายุ เด็กที่อายุน้อยกว่า 7 ปี ท่อยูสเตเชี่ยนจะมีขนาดเล็ก สั้น และวางตัวในแนวราบกว่าผู้ใหญ่ จึงทำให้เกิดการติดเชื้อจากจมูกและคอได้ง่าย

          2. เพศ มักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง

          3. กรรมพันธุ์ หากมีพ่อ แม่ พี่ น้อง เป็นหูอักเสบบ่อย ๆ พบว่าเด็กมีโอกาสติดเชื้อซ้ำซ้อนมากขึ้น

          4. บุหรี่ หากมีคนในบ้านสูบบุหรี่จะทำให้เด็กมีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และการติดเชื้อในหูชั้นกลางด้วย

          5. การดูดขวดนม โดยเฉพาะการนอนดูดนม จะทำให้เกิดการอุดตันและสำลักนมเข้าท่อยูสเตเชี่ยน ดังนั้นหากจำเป็นต้องให้นม ควรให้ในท่าที่ศีรษะเด็กสูงกว่าลำตัว

          6. เด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรืออ่อนแอ เช่น เด็กที่ไม่ได้กินนมแม่ เด็กที่ติดเชื้อ HIV เป็นต้น

          7. เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูในสถานรับเลี้ยงเด็ก พบการเกิดหูชั้นกลางอักเสบมากขึ้น

          8. เด็กที่มีโครงสร้างใบหน้าผิดปกติ เช่น ปากแหว่ง เพดานโหว่ ดาวน์ซินโดรม เป็นต้น

หูชั้นกลางอักเสบชนิดต่าง ๆ

หูชั้นกลางอักเสบมีอยู่ 3 แบบ ซึ่งมีอาการแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิด ดังนี้ค่ะ

          1. หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน

          มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสจากทางเดินหายใจส่วนบน แต่ในเด็กมักพบมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนมากกว่าผู้ใหญ่ เชื้อที่พบบ่อยคือเชื้อ เบตาสเตรปโตค็อกคัส สแตฟฟีโลค็อกคัส นิวโมค็อกคัส และฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนซา

          เด็กที่หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน จากเชื่อเหล่านี้มักมีอาการปวดหูมาก ( อาการปวดจะลดลงเมื่อแก้วหูทะลุ มีหนองไหล ) ผู้ป่วยจะปวดลึก ๆ และปวดมากจนร้องหรือดิ้น มีไข้สูง ถ้าเป็นเด็กอาจชักได้ ร้องกวน งอแง โดยเฉพาะตอนกลางคืน มีน้ำหนองไหลจากหู มีปัญหาเรื่องการได้ยิน หูอื้อ หรือได้ยินเสียง "ป๊อป" ในหูเวลาเคี้ยว กลืน หรือหาว หากปล่อยทิ้งไว้หลายวันจะทำให้เยื่อแก้วหูทะลุได้

          2. หูชั้นกลางอักเสบที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของท่อยูสเตเชี่ยน

          เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอย่างเดียว เป็นภาวะที่มีน้ำอยู่หลังแก้วหู โดยที่แก้วหูไม่ทะลุ พบได้บ่อยในเด็กที่นอนให้นม เด็กในสถานรับเลี้ยงเด็ก เด็กที่พ่อหรือแม่สูบบุหรี่ หรือเด็กที่ไม่ได้รับนมแม่ เด็ก ๆ ที่มีน้ำในหูชั้นกลาง ส่วนใหญ่จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้อาการไม่รุนแรง เช่น มีอาการหูอื้อ การได้ยินลดลง แต่มักไม่มีอาการปวด

          3. หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง

          ชื่อที่รู้จักกันโดยทั่วไปคือ โรคหูน้ำหนวก เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากที่สุด ทำให้หูพิการได้มาก และเกิดอาการแทรกซ้อนทางสมองถึงแก่ความตายได้ โรคนี้เกิดตามหลังหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน ที่ไม่ได้รับการรักษาหรือรักษา ไม่เพียงพอ เกิดจากการติดเชื้อต่อเนื่องมาเป็นนานกว่า 12 สัปดาห์ เด็กในกลุ่มนี้มักพบมีเยื่อแก้วหูทะลุร่วมด้วย

          เด็กจะมีอาการหูอื้อ บางรายอาจพบมีน้ำหนองไหลออกจากหูตลอดเวลา เชื้อจะเปลี่ยนไปเป็นเชื้อแบคทีเรียกรัมลบ และเชื้อก่อโรคที่ไม่ต้องการออกซิเจน ตรวจดูจะพบแก้วหูทะลุ มีหนองเหม็น อาจมองเห็นทะลุไปถึงกระดูกในหู การรักษา นอกจากยาปฏิชีวนะแล้วต้องดูดเอาหนองออก และอาจพิจารณาผ่าตัดในบางราย ที่ให้การรักษาแล้วไม่ดีขึ้น หรือเป็นรุนแรง

รักษาและป้องกัน

          การรักษาหูชั้นกลางอักเสบ คือ การให้กินยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน โคไตรม็อกซาโซล อีริโทรไมซิน เป็นต้น ซึ่งมักจะให้ติดต่อกันนานอย่างน้อย 10-14 วัน ร่วมกับยาแก้ปวด ลดบวม และรักษาโรคอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุของหูอักเสบร่วมไปด้วย เช่น จมูกหรือไซนัสอักเสบ หากรักษาแล้วไม่ดีขึ้น หรือมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ แพทย์อาจแนะนำให้รักษาโดยการผ่าตัดเจาะเยื่อแก้วหู ผ่านทางรูหู เพื่อดูดน้ำในหูชั้นกลางออกและใส่ท่อปรับความดันไว้ในแก้วหู

ส่วนการป้องกันไม่ให้ลูกเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบนั้นทำได้โดย

          1. ควบคุมภาวะภูมิแพ้ โดยการกำจักสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น ขนสัตว์ ดอกไม้ เป็นต้น

          2. ควรให้ทารกกินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน นักวิจัยพบว่า เด็กที่กินนมแม่ในช่วง 4 เดือนแรก จะมีภาวะการติดเชื้อของหูชั้นกลาง ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่ เพราะในนมแม่มีภูมิคุ้มกัน ป้องกันการติดเชื้อได้

          3. เวลาเด็กกินนมและอาหาร พยายามให้ลูกอยู่ในท่านั่งหรือศีรษะสูงกว่าลำตัว อย่าให้เด็กหลับขณะที่ขวดนมยังคาอยู่ในช่องปาก

          4. งดสูบบุหรี่ภายในบ้านหรือสถานที่เลี้ยงเด็ก

          5. เปลี่ยนสถานบริการรับเลี้ยงเด็กจากขนาดใหญ่ (หลายคน) มาเป็นขนาดเล็ก

          6. การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมค็อกคัส ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคหูชั้นกลางอักเสบและปอดอักเสบ พบรายงานการลดลงของการเกิดหูชั้นกลางอักเสบได้ประมาณ 32%

สัญญาณที่ควรพบแพทย์

          1. มีอาการปวดหู หูอื้อ และเป็นไข้ หรือสงสัยว่าเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ ควรไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง

           2. มีอาการปวดหู หูอื้อ โดยไม่มีไข้ และไม่สงสัยว่าเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ ควรไปพบแพทย์ภายใน 2-3 วัน เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด

          เด็กจะไม่มีบาดแผลใด ๆ ในบริเวณใบหู ใบหน้าและศีรษะ หลังการผ่าตัดต้องระวังไม่ให้น้ำเข้าหู อาบน้ำสระผมได้เป็นปกติด้วยความระมัดระวัง ไม่ควรเป่าลูกโป่ง ไม่เล่นเครื่องดนตรีชนิดเป่า ไม่ควรไอ เบ่ง หรือสั่งน้ำมูกแรง ๆ โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด เพราะจะทำให้ท่อหลุดก่อนเวลาได้

          ควรมาพบแพทย์เป็นระยะ ๆ เพื่อตรวจสภาพแก้วหู ตรวจดูท่อปรับความดัน และตรวจการได้ยิน ท่อปรับความดันจะหลุดออกมาได้เอง ซึ่งแตกต่างกันไปตามชนิดของท่อที่ใช้ แพทย์สามารถหยิบท่อจากช่องหูออกได้เลยโดยไม่ทำให้เจ็บปวด

          ฟังดูชื่อโรคอาจน่ากลัว แต่การที่คุณมีข้อมูลและหมั่นสังเกตลูกอยู่เสมอ ก็ช่วยให้ลูกห่างไกลจากโรคนี้ได้ค่ะ

สังเกตอาการหูชั้นกลางอักเสบ

          1. มีน้ำขังหลังแก้วหูเป็นเวลามากกว่า 12 สัปดาห์

          2. รักษาโดยการให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมแล้วน้ำไม่ลดลงภายใน 4 สัปดาห์

          3. หูชั้นกลางอักเสบร่วมกับมีการแฟบลงของแก้วหู

          4. การได้ยินลดลงมาก

          5. หูชั้นกลางอักเสบที่เริ่มจะกลายเป็นชนิดร้ายแรง

          6. ในกรณีที่พบในผู้ป่วยที่มีเพดานโหว่

          7. ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อในหูชั้นกลางบ่อยๆ

 

            



ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ระวัง! ลูกเล็กหูชั้นกลางอักเสบ อัปเดตล่าสุด 8 พฤศจิกายน 2555 เวลา 11:56:41 2,162 อ่าน
TOP
x close