รับมือ 6 ปัญหารบกวนการนอนของลูกน้อย



รับมือ 6 ปัญหารบกวนการนอนของลูกน้อย
(Mother & Care)
Highlight baby Orawan

          ช่วงเดือนแรก ๆ คุณพ่อคุณแม่มือใหม่อาจต้องเจอกับปัญหา คือ ปวดท้องโคลิก, ความหิว, ฟันกำลังขึ้น, เจ็บป่วยเฉียบพลัน, เจ็บป่วยเรื้อรัง, ลูกติดพ่อแม่มาก ที่จะรบกวนลูกน้อยในยามหลับซึ่งคุณจะต้องเตรียมรับมือ ฉบับนี้ พญ.ธิดาวรรณ วีระไพบูลย์ กุมารแพทย์ จะมาให้คำแนะนำวิธีการรับมือกับปัญหาทั้ง 6 ดังนี้ค่ะ

1.ปวดท้องโคลิก

          หรือเรียกแบบไทย ๆ ว่า ร้องร้อยวัน

          แม่ฝนเล่าว่า เมื่อน้องภูอายุ 2 เดือนเริ่มออกอาการโคลิก คือ ทุก ๆ วันเวลาหนึ่งทุ่มครึ่ง-สี่ทุ่ม น้องภูจะร้องไห้จ้าแบบไม่มีสาเหตุ พยายามปลอบให้หยุดร้องยิ่งปลอบก็ยิ่งร้องหนัก เสียงร้องดังแหลม เกร็งแขนและขาไม่มีท่าทีว่าจะดีขึ้น
แม้ว่าจะอุ้มหรือให้นม สงสัยว่านี่คืออาการของโคลิกใช่หรือไม่คะ

          คุณหมอบอกมา เด็กทารกที่เป็นมักจะเริ่มมีอาการโคลิกตั้งแต่ประมาณ 2-3 สัปดาห์หลังคลอดปวดท้องโคลิกเป็นอาการซึ่งไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดเด็กจะร้องไห้ซ้ำ ๆ ในช่วงเวลาเดิม ๆ โดยมากจะเป็นช่วงเวลาเย็น ๆ ใกล้ค่ำ หรือช่วงรอยต่อระหว่างกลางวันและกลางคืน อาการอาจจะรุนแรงขึ้นในช่วงอายุ 6-8 สัปดาห์ แล้วหายไปเองเมื่อเด็กอายุประมาณ 3 เดือน ทฤษฎีหนึ่งเชื่อว่าโคลิกเกิดจากลมในท้อง ซึ่งถูกสร้างขึ้นระหว่างวัน ดังนั้น การให้ยาขับลมอาจได้ผล การอุ้มพาดบ่าหรือให้นอนคว่ำบนตักคุณพ่อคุณแม่ พร้อมลูบหลังไปด้วยอาจช่วยบรรเทาอาการ

ข้อสังเกต

        ลูกร้องคล้ายปวดท้อง โดยเกร็งท้อง มือ และขางอเข้าหาตัว

        ร้องเป็นระยะ วันละ 1-2 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นตอนเย็นหรือค่ำ โดยมีอาการครั้งละ 1-2 ชั่วโมง

        ระหว่างที่ไม่มีอาการลูกดูปกติ แข็งแรงดี

        ไม่มีอาการแสดงว่าหิว

Mom can do

        ก่อนอื่นตัวคุณพ่อคุณแม่เองต้องไม่หงุดหงิดโมโหลูกหรือเขย่าตัวลูกเวลาที่ลูกร้องไห้ ให้อุ้มลูกเดินไปมา เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ หรือเปิดเพลงเบา ๆ เพื่อผ่อนคลายความเครียดทั้งตัวคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อย

2.ความหิว

          กระเพาะน้อย ๆ ของลูกตัวเล็ก ยังไม่สามารถเก็บกักอาหารไว้ได้นาน

          แม่มลเล่าว่า น้องเกรทอายุ 4 เดือน กินนมแม่อย่างเดียว กลางคืนตื่นทุก ๆ 3 ชั่วโมง และช่วงใกล้เช้าทุกชั่วโมง ตื่นมาก็ดูดนมนิดหน่อยถึงหลับต่อได้ แต่แม่แทบไม่ได้นอนเลยค่ะ จะแก้ไขอย่างไรได้บ้างคะ

          คุณหมอบอกมา เนื่องจากทารกที่อายุยังไม่ถึง 6 เดือน โดยมากมักจะตื่นมากลางดึกเพราะหิว หลังจากให้นมยามดึก เด็กโดยมากก็สามารถนอนหลับต่อได้เองค่ะ แต่สำหรับบางคนที่อายุเกิน 6 เดือนไปแล้วก็ยังคงตื่นมากลางดึกเพื่อกินนม คงต้องมาดูว่า ลูกร้องเพราะหิวหรือว่าเป็นเพราะความเคยชิน หากคุณแน่ใจว่าลูกได้รับนมอย่างพอเพียงช่วงก่อนนอน แต่ลูกยังคงร้องเพราะติดการกินนมในมื้อดึก ขอให้ลองลดปริมาณนมลง แต่หากว่าลูกไม่ยอมกินนมในตอนกลางวัน แต่มาเน้นกินนมตอนกลางคืนแทน แสดงว่าระบบการกินไม่ปกติค่ะ แก้ไขโดยให้ลูกกินน้ำเปล่า หรือผสมนมให้เจือจางในตอนกลางคืน ซึ่งจะทำให้ลูกหิวมากขึ้นในช่วงกลางวัน เมื่อให้นมในตอนกลางวันลูกจะกินนมมากขึ้นเองค่ะ

ข้อสังเกต

        ลองจดบันทึกการนอนและการกินในรอบวันของลูก โดยบันทึกทั้งพฤติกรรม เช่น การดูดไปเรื่อย ๆ การดูดอย่างหิวโหย เวลาที่ใช้ในแต่ละมื้อ รวมทั้งระยะห่างระหว่างมื้อ

        หากลูกดูดไปเรื่อย ๆ อาจเป็นไปได้ว่า เพื่อช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ไม่ใช่เพราะความหิว ต้องพยายามให้หยุดกินเมื่อรู้สึกว่าอิ่มแล้ว หลังจากนั้นพาเข้านอน

Mom can do

          หากสังเกตว่าลูกเคยชินกับนมมื้อดึกมากกว่าเป็นเพราะหิว ลองวิธีต่อไปนี้

       
        ให้น้ำแทนนม อาจค่อย ๆ ผสมนมให้เจือจางลงเรื่อย ๆ และค่อย ๆ ลดเวลาของการให้นมแต่ละครั้ง

        เมื่อลูกร้องควรรอสัก 5 นาที ก่อนเข้าไปหา เพราะลูกอาจหลับต่อได้ด้วยตัวเอง

        ก่อนให้นมมื้อดึก ต้องมั่นใจว่าลูกหิวจริง ๆ เพราะการที่ให้ลูกตื่นขึ้นมากลางดึกสงบลงด้วยการให้นมเป็นเรื่องง่ายมาก แต่ถ้าทำอย่างนั้นบ่อย ๆ ลูกจะตื่นขึ้นมา เพราะความเคยชินไม่ใช่จากความหิว ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าลูกตื่นขึ้นมาเพราะเปียกแฉะ ร้อน หนาว หรือฟันกำลังขึ้น เมื่อลูกโตขึ้น คุณพ่อคุณแม่จะพบว่า ระยะห่างระหว่างมื้อของนมมื้อดึกนานขึ้น จนในที่สุด ลูกจะงดนมมื้อดึกได้ด้วยตัวเอง

3.ฟันกำลังขึ้น

          ฟันที่กำลังขึ้นอาจสร้างความเจ็บปวดให้ลูกจนร้องไห้ตลอด ทำให้ลูกนอนหลับได้ไม่ยาวในช่วงกลางคืน

          แม่ปุ๋มเล่าว่า น้องน้ำมนต์อายุ 6.5 เดือน ช่วงกลางคืนที่เคยนอนยาวก็ตื่นมาร้องทุก 3-4 ชั่วโมง กลางวันก็งอแงต้องอุ้มปลอบกันทั้งวัน สังเกตเห็นที่เหงือกมีตุ่มขาว ๆ ขึ้นมาไม่ทราบว่าเป็นการงอแงจากอาการฟันขึ้นหรือไม่คะ

          คุณหมอบอกมา โดยทั่วไปเด็กทารกเริ่มมีฟันขึ้นเมื่ออายุประมาณ 6 เดือนและจะต่อเนื่องไปจนอายุ 3 ปี โดยทารกแต่ละคนจะมีปฏิกิริยาต่อความเจ็บปวดที่แตกต่างกันไป คุณแม่สามารถช่วยให้ลูกน้อยหายเจ็บปวดและช่วยให้คุณและลูกน้อยนอนหลับสนิทในตอนกลางคืนได้ดังนี้ค่ะ

          ยาพาราเซตามอลสำหรับเด็กช่วยให้ดีขึ้น (เหมาะกับเด็กอายุ 3 เดือนขึ้นไป) หรืออาจใช้เจลสำหรับทาฟันที่กำลังขึ้นเพื่อให้รู้สึกชา ซึ่งเมื่อทาแล้วเด็กจะรู้สึกชาเพื่อบรรเทาอาการปวด และให้เด็กนอนหลับในช่วงดังกล่าว แต่ข้อนี้ต้องปรึกษาคุณหมอก่อนใช้ยานะคะ

          ใช้สมุนไพรไทย เช่น ใบแมงลักโขลกให้ละเอียดผสมเกลือเล็กน้อย ทาบริเวณเหงือกที่ปวดของลูก อาจช่วยบรรเทาอาการได้ หรือต้มใบสะระแหน่ 5 กรัม กับน้ำ 1 ถ้วย ผสมเกลือเล็กน้อย ดื่มวันละ 1 ถ้วย ผสมเกลือเล็กน้อย ดื่มวันละ 2
ครั้ง

ข้อสังเกต

        ลูกมีอาการหงุดหงิด งอแงมากขึ้น และร้องมากขึ้นในเวลากลางคืน

        น้ำลายไหลมาก แก้มของลูกจะเป็นสีแดง เหงือกของลูกจะบวมแดง

        ลูกอยากดูดนมแม่หรือนมขวดมากขึ้น

        ลูกจะนอนหลับไม่สนิท

Mom can do

        ถ้าเหงือกของลูกไม่บวมหรือเจ็บจนแตะไม่ได้ ให้คุณแม่ล้างมือให้สะอาดแล้วลองใช้นิ้วเข้าไปนวดเหงือกของลูกเบา ๆ อาจช่วยให้ดีขึ้นได้

        ถ้าเหงือกมีอาการบวมแดงมาก ควรปรึกษาหมอฟัน

4.เจ็บป่วยเฉียบพลัน

          เช่น ท้องเสีย แพ้อาหาร

          แม่อิงเล่าว่า น้องอายุมิ อายุ 8 เดือน ตอนกลางวันร่างกายปกติดี แต่หลังจากการตื่นมาให้นมมื้อดึกแล้ว สักพักก็ตื่นและร้อง อาเจียน เป็นมา 2 คืนแล้วไม่ทราบว่าควรทำอย่างไรดีคะ

         คุณหมอบอกมา การที่คุณแม่สังเกตเห็นถึงความผิดปกติต่าง ๆ เวลาที่ลูกป่วยไข้ไม่สบายนั้น ข้อมูลจากคุณแม่เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้คุณหมอวินิจฉัยอาการและรักษาลูกน้อยได้ถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น เช่น อาการไข้ การกินนม อาเจียน การขับถ่าย หรืออาการอื่น ๆ

ข้อสังเกต

        งอแง ไม่ยอมกินนม อาหาร

        มีไข้ ซึมผิดปกติ อาเจียน หรือท้องเสีย หรือมีผื่นขึ้นตามตัว

        ต้องการให้อุ้มตลอดเวลา

        หอบ หายใจไม่สะดวก หรือมีอาการชัก

Mom can do

        หมั่นสังเกตอาการของลูก หากลูกมีอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรรีบพาไปพบคุณหมอทันทีค่ะ

        จดอาการที่เป็น อาหารที่กิน พฤติกรรมการเล่น ก่อนเกิดอาการ แล้วแจ้งคุณหมอ อย่างละเอียด

5.เจ็บป่วยเรื้อรัง

          เด็กที่เป็นโรคประจำตัวเช่น หอบ หืด ภูมิแพ้

          แม่นันท์เล่าว่า น้องนนท์อายุ 11 เดือน จะมีอาการหายใจดังครืดคราด คล้ายกับอาการหอบทุกครั้งเมื่อเมื่ออากาศเย็น ควรทำอย่างไรดีคะ

          คุณหมอบอกมา คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความอบอุ่นอยู่ใกล้ ๆ ลูก ขณะหอบลูกน้อยจะนอนลำบาก คุณแม่ควรให้ยาตามที่คุณหมอสั่งและอุ้มลูกน้อยไว้บนตักประคองตัวลูกไว้ อาจมีหมอนวางบนตักลูกน้อย เพื่อลูกน้อยจะได้ซบหน้าลงบนหมอนนั้นจนกว่าจะหายใจสะดวกขึ้น ถ้าไม่ดีขึ้นควรไปพบคุณหมอ

ข้อสังเกต

        หลีกเลี่ยงข้าวของเครื่องใช้ที่สะสมฝุ่น

        ไม่นำสัตว์เลี้ยงเข้าไปในห้องนอนลูก

        ใช้ผ้าปูที่นอนชนิดพิเศษซึ่งป้องกันไรฝุ่นได้

        ดูดฝุ่นเครื่องนอนของลูกอย่างสม่ำเสมอ

        คอยสังเกตและเตรียมรับมือกับอาการป่วยของลูกไว้ให้พร้อมค่ะ

Mom can do

        ถ้าลูกมีอาการเจ็บป่วยเรื้องรังอื่น ๆ ที่รบกวนการนอนให้ปรึกษาคุณหมอถึงวิธีการช่วยบรรเทาอาการของโรคนั้น ๆ เพื่อให้ลูกหลับได้สบายขึ้นในตอนกลางคืน ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจโรคของลูกด้วย เพราะลูกอาจจะหงุดหงิดง่าย งอแงร้องกวนตลอดคืน คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเห็นใจ และมีสติอยู่ตลอดเวลา ไม่โมโหหรือหงุดหงิดกับสิ่งที่ลูกแสดงออกมา

6.ลูกติดพ่อแม่มาก

          เกิดขึ้นจากความกังวลในการแยกจากคุณพ่อคุณแม่

          แม่ปรางเล่าว่า น้องซันอายุ 9 เดือน ช่วงนี้ลูกมักมาร้องตื่นกลางดึกบ่อย ต้องสลับกันอุ้มพาเดินรอบห้องนอนจนกว่าจะหลับคาอก แล้วจึงไปวางที่นอน แต่บางครั้งหลับได้ 1-2 ชั่วโมงก็ตื่นร้องอีก ไม่ทราบเกิดจากสาเหตุใด

          คุณหมอบอกมา ลูกติดพ่อแม่มาก เด็กบางคนติดพ่อแม่มากกว่าเด็กคนอื่น หลายคนเริ่มติดพ่อแม่ในขั้นของพัฒนาการด้านการรับรู้สภาพความเป็นจริง ซึ่งอยู่ในช่วงอายุประมาณ 8 เดือน เด็กเริ่มเรียนรู้ว่า พ่อแม่และลูกไม่ใช่คนเดียวกัน ส่วนใหญ่จึงแสดงออกด้วยการติดพ่อแม่มากขึ้นในระยะนี้กินเวลาประมาณ 2 เดือน และถูกเรียกว่า ความกังวลในการแยกจาก ควรฝึกให้ลูกนอนหลับได้เองก่อนเข้าสู่ช่วงนี้ แม้ช่วงนี้จะยังฝึกให้เขาสงบด้วยตัวเองได้ยากขึ้น คุณพ่อคุณแม่อาจหาวิธีที่คิดว่าเสริมความมั่นใจกับลูกในระดับที่เขาต้องการ และใช้เวลาสักระยะก่อนตัดสินใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น ลูกจะเข้าใจในที่สุดว่าการที่คุณพ่อคุณแม่จากไปไม่ใช่การทอดทิ้งเขา

Mom can do

          วิธีฝึกลูกน้อยให้หลับสบาย

        พาลูกไปนอนบนเตียงขณะที่ลูกยังตื่นอยู่ทุกครั้ง หากลูกหลับระหว่างให้นมมื้อก่อนนอน ลองขยับเวลากินนมให้เร็วขึ้นเพื่อให้ลูกอิ่มก่อน หรืออาจกระตุ้นที่นิ้วหัวแม่เท้าให้ตื่นขณะวางลงบนเตียง

        พูดกับลูกด้วยประโยคเดิมทุกครั้งเมื่อพาลูกไปนอนบนเตียง เพื่อช่วยกระตุ้นเตือนให้ทราบว่าได้เวลานอนแล้ว

        ให้ลูกหลับเองด้วยวิธีเดียวกัน ไม่ว่าจะพาลูกไปนอนบนเตียงตอนกลางคืน งีบหลับตอนกลางวัน หรือพากลับไปนอนในกรณีตื่นขึ้นมากลางดึก (หากนอนตอนกลางวัน อาจบอกลูกว่าถึงเวลานอนแล้ว ด้วยประโยคเดียวกับที่บอกเป็นกิจวัตรยามเข้านอนตอนกลางคืนก็ได้)

        ควบคุมทั้งอากาศ เสียง แสงแดด บรรยากาศต่าง ๆ เพื่อให้ลูกนอนหลับได้นานและยาวขึ้น



            



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.7 No.84 ธันวาคม 2554

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รับมือ 6 ปัญหารบกวนการนอนของลูกน้อย อัปเดตล่าสุด 5 กันยายน 2555 เวลา 15:24:30 68,183 อ่าน
TOP
x close