19 แนวโน้มโลกที่ส่งผลต่อไทยและครอบครัว



19 แนวโน้มโลกที่ส่งผลต่อไทยและครอบครัว
(รักลูก)
เรื่อง : พญ.ชนิกา ตู้จินดา อดีตคณบดี คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

          เร็ว ๆ นี้ ได้มีโอกาสไปประชุมวิชาการครอบครัวศึกษาแห่งชาติ เรื่องแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านของครอบครัวไทย จัดโดยทางมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว สมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย และสสส. น่าสนใจมาก แต่เผอิญหมอเองต้องผ่าตัดตาเป็นต้อกระจก ต้องพักสายตาเขียนไม่ได้เต็มที่อย่างเคย รู้สึกอึดอัดมาก ๆ ตอนนี้พอสู้ไหวก็เปิดแฟ้มที่อุตส่าห์เก็บไว้ตามประสาหมอที่มีข้อมูลดี ๆ อยากเผยแพร่เพื่อพิจารณาดูว่า จะปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงผ่านเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์อย่างมีความสุขได้อย่างไร

          เนื่องจากเวลาผ่านไปหลายเดือนพยายามใช้เซลล์สมองด้านความจำและโน้ตสั้น ๆ ที่บันทึกไว้ ขอขอบคุณวิทยากรทุกท่านที่มอบข้อมูลมีค่าในการประชุมวิทยากรมีอิทธิบาท 4 อุตส่าห์ค้นคว้าศึกษาวิจัยมาอย่างดี โดยผู้ทรงคุณวุฒิสำรวจสถานการณ์สุขภาวะครอบครัวไทย 2551-2554 โดยสร้างเครื่องมือประเมินตามตัวชี้วัด "สุขภาวะครอบครัว" พบว่า

          ครอบครัวไทยในปี 2553 ร้อยละ 62.9 ยังดื่มสุราเป็นประจำ ส่วนเรื่องหนี้สินนั้น พบว่าคอรบครัวมีแนวโน้มที่จะจนมากขึ้นโดยครอบครัวมีเงินออมลดลงร้อยละ 10 จากเมื่อปีก่อน

          ครอบครัวมีความรุนแรงสูงขึ้นร้อยละ 39.2 ในปี 2552 คอรบครัวมีการพูดจาดีต่อกันเป็นประจำร้อยละ 46.6 แต่ลดลงเหลือร้อยละ 36.6 ในปีต่อมา

          พ.ศ. 2552 ครอบครัวกินข้าวมื้อเย็นร่วมกันร้อยละ 42 และลดลงเหลือร้อยละ 32.9 ในปีต่อมา เช่นเดียวกับการช่วยงานบ้านก็ลดลง การบอกกล่าวก่อนออกจากบ้านว่าจะไปไหนก็ลดลงเช่นกัน ความเป็นส่วนตัวมากขึ้น

          ส่วนการออกกำลังกายก็มีน้อย ในปี 2552 มีเพียงร้อยละ 23.5 ที่ออกกำลังกายด้วยกันเป็นประจำ

          อย่างไรก็ตามผลการวิจัยชิ้นนี้ทำให้ครอบครัวสนใจที่จะหาโอกาสมีเวลาร่วมกัน กินข้าวมื้อเย็นด้วยกัน เอาใจใส่ครอบครัว กล่าวคำขอโทษ การให้อภัย คำขอบคุณ ลดความรุนแรง ลดเลิกละอบายมุข และการนอกใจกัน

          ที่ประทับใจที่สุดคือ ปาฐกถาเรื่องการเปลี่ยนผ่านของครอบครัวไทย โดยมีคุณสุภาวะดี หาญเมธี ประธานกรรมการบริหารของรักลูกกรุ๊ป คนเก่งของพวกเราโดยมีการระคมสมองของผู้ทรงคุณวุฒิหลายสาขาวิชา นอกจากนี้ยังมีจิตแพทย์นักการตลาด สื่อมวลชน นักสื่อไอทีคุณติ่งยังค้นคว้าจาก web อีกมากมายสรุปว่า ยุคโลกาภิวัตน์ ไทยต้องเตรียมรับคือภัยธรรมชาติ เทคโนโลยีสมัยใหม่ ประชากรเปลี่ยนแปลง คนสูงอายุมากขึ้น การศึกษาของเรายังอ่อนแอ และไทยยังขาดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนรองรับการเปลี่ยนแปลง

          ทั้งนี้เพราะปัจจุบันเป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร หรือ creative age โลกแคบลงข้อมูลมาเร็วมากทุกสารทิศด้วยเทคโนโลยีทันสมัย แต่ไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไร ตลาดเสรีเกิดขึ้นทั้งสินค้า เงิน และการจ้างงานในปี 2558 จะยิ่งเสรี อาเซียนมีการไหลเข้าออกของเงิน งาน คน และสินค้า

         ส่วนวัฒนธรรมแบบไทยนั้นจะมีการเปลี่ยนผ่านสู่ Americanization หรือวัฒนธรรมตะวันตกมากขึ้น การเปิดเสรีจะยิ่งทำให้ประเทศที่รวยยิ่งรวยมาก จึงเป็นประโยชน์ต่อประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนประเทศกำลังพัฒนาไม่ได้มรรคผลอะไร ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นทั่วไป กรณีเสื้อเหลือง เสื้อแดง เห็นได้ชัด ซึ่งเป็นความท้าทายว่าครอบครัวไทยจะเปลี่ยนผ่านได้อย่างไร ปัญหานี้ไม่เกิดเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่จะเกิดขึ้นทั่วโลกเป็นปัญหาของโลก

          แนวโน้ม 19 ข้อต่อไปนี้จะเกิดทั่วโลกและกระทบสู่เมืองไทย จึงควรทราบไว้ค่ะ

        1. ยุคสื่อสารทันใจ คือ เร็วมาก ๆๆ ทำใจไม่ทัน เดิมเราอยู่ในยุคเกษตรเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมก็ยังพอทำใจ เข้าใจทันเหมือนผ่านยุคเพลงไทยเดิมสู่สุนทราภรณ์ (ข้อนี้หมอพูดเอง) ก็ยังปรับตัวปรับใจทัน แต่ตอนนี้ทุกอย่างเร็วหมด ไม่มีเวลาคิดเหมือนการเคาะหุ้น จังหวะชีวิตกับโลกเร่งอัตราเร็วมาก ๆ จนรู้สึกว่าชีวิตผ่านไปอย่างเบลอ ๆ หรือจะอย่างเอ๋อ ๆ ก็ว่าได้ (ข้อนี้หมอว่าเอง)

        2. โลกเศรษฐกิจไร้พรมแดน ตลาดเสรีปั่นเร็วมากเหมือนหุ้น เช่น วิกฤติ Subprime หรือ Macdonale Crisis กระทบทั่วโลก ไทยก็โดน เพราะปั่นง่ายเศรษฐกิจซับซ้อน สหรัฐฯเองยังแก้ไม่ได้ มนุษย์จะคุมเศรษฐกิจยาก ทั้งน้ำตาลแพง น้ำมันปาล์มขาด เราเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำหมอเกิดมาไม่เคยเจอไข่ใบละ 5 บาท ราคาตลาดเปลี่ยนตามราคาตลาดโลก มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของครอบครัว

        3.การเคลื่อนย้ายต่าง ๆ ข้ามโลกอย่างไม่เคยมีมาก่อน ตอนนี้จีนกำลังโด่งดัง ที่เซี่ยงไฮ้เอ็กโปในเมืองจีนแข่งทำพาวิลเลี่ยนชิงดีชิงเด่นเพื่อสร้างแบรนด์ ต่างดูดเอาคนเก่งคนรวย นักท่องเที่ยว แรงงานทำกันทั่วทุกประเทศ สิงคโปร์ดูดคนเก่ง ๆ อยากจะได้เป็นเกาะอัจฉริยะ

        4.มนุษย์ถูกผลักดันไว้ในบริบทเดียว คือเทคโนและวัฒนธรรมนั้นเข้าสู่ Americanization ทั้งเทคโนและชีวิตประจำวันรวมอาหาร เช่น KFC ไทยต้องพยายามยืดประเพณีไทยของเราเอาไว้ใน ค.ศ.1980 ในโ,กนี้มี 7,000 ภาษา ค.ศ.2000 เหลือภาษาเพียง 1,000 ภาษา เท่านั้น

         5.การบุกรุกทำลายธรรมชาตินั้น จะมีมากขึ้น

        6.ความไม่แน่นอนในทุกสิ่ง เห็นชัด ๆ จากกรณีแผ่นดินไหว สึนามิที่เซนได สงครามในตะวันออกกลาง ความขัดแย้งในประเทศไทย สงครามชายแดนไทยเขมร ความไม่สงบ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มนุษย์เผชิญกับความกลัวมากขึ้น หนังสือธรรมะเป็น Best seller ตั้งแต่ปีใหม่จนปัจจุบัน ทั่วโลกหนังสือประเภท Spiritual book ขายดีมาก

        7.Urbanization คือประชากรมุ่งสู่เมืองใหญ่เกิดทั่วโลก ค.ศ.2015 ร้อยละ 50 ประชากรจะอยู่ในเมืองใหญ่ทั่วโลก ไทยก็เช่นกัน เกิดความหนาแน่นมีผลกระทบมากมาย ชนบทเงียบเหงาเหลือแต่เพียงคนแก่กับเด็ก

        8.เรียนรู้และมีการทำธุรกิจผ่านเทคโน Internet ปัจจุบันธุรกิจซื้อขายทาง internet บูมมาก รวม Ipad และ Social media, face book แผนที่โลกจะกลายเป็นแผนที่การค้า เพราะแต่ละค่ายจะพยายามยืดพื้นที่ให้ได้มาก

        9.สังคมบริการใหม่ ๆ เปลี่ยนรูปแบบเป็นข้ามชาติ เช่น บริษัทอยู่ในไทย แต่เจ้านายอยู่ตะวันตก ส่งคนข้ามโลกมาคุมกิจการ

        10.การพัฒนาจีนและอินเดียแรงมาก ผลิตสินค้าราคาถูกตีตลาดของถูกกว่าเรา เช่น เสื้อผ้าตัวละ 20-30 บาท ซื้อได้สะดวก เมื่อซื้อบ่อย ๆ ทำให้เกิดความฟุ่มเฟือยทุกระดับ คนจนในหมู่บ้านก็ฟุ่มเฟือยได้

        11.คนจนจะมากขึ้นทั่วโลก คนรวยมีจำนวนน้อย แต่จะคุมระบบเป็นเครือข่ายทั้งในเรื่องการเงิน เศรษฐกิจการสื่อสาร ถ้าไทยไม่สร้างประชากรที่มีความรู้ความสามารถจะสู้ประเทศอื่นยาก

        12.ยุคปัจเจกนิยมครองโลก มิใช่เงินต่อเงิน แต่กลายเป็นเงินต่อวิชาการ วิชาการต่อเงิน คนรวยจะได้ประโยชน์สูง

        13.ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์และสาธารณสุขจะแพงมาก ๆ คนอยากมีอายุยืนและเป็นอมตะกันมากขึ้น

        14.การค้นคว้าทางสมองจะละเอียดลึกซึ้งมากกว่าทุกยุคทุกสมัย เป็นครั้งแรกในประวัติมนุษยชาติที่ค้นคว้าวิจัยด้านสมองมาก เช่น การป้องกันโรคสมองเสื่อม

          15.ผู้หญิงเป็นผู้นำมากขึ้น ผู้หญิงออกมาช่วยหารายได้ ผู้ชายทั่วโลกจะช่วยเลี้ยงลูกมากขึ้น แต่อัตราหญิง : ชายเลี้ยงลูกพบว่าหญิงยังมากกว่าชาย 3 เท่า ลูกจะภูมิใจที่แม่ทำงานนอกบ้าน

          16.ลัทธิชาตินิยม วัตถุนิยม ท้องถิ่นนิยมแบบบ้าคลั่งจะมากขึ้น จะนำสู่สงคราม

          17.สูงวัย (ส.ว) สูงขึ้น ต้องเตรียมพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้ ทั้งสวัสดิการ คุณภาพชีวิต และการงานอาชีพจาก ส.ว.

          18.รัฐของไทยยังขาดประสิทธิภาพ ในการรองรับการเปลี่ยนแปลงจากโลกาภิวัฒน์หลาย ๆ ด้าน

          19.ครั้งแรกใน,โกที่ต้องนิยามคำว่า "ครอบครัว" ใหม่ เพราะองค์การสหประชาชาตินั้นได้เน้นย้ำว่าองค์ประกอบสำคัญของ family คือ

          19.1.Bonding ความผูกพันของสมาชิกในครอบครัว และ

          19.2.Commitment คือ ร่วมให้คำมั่นสัญญา ช่วยกันในด้านเศรษฐกิจ จิตใจ และร่วมรับผิดชอบครอบครัวทั้งทุกข์และสุข

          คนปัจจุบันไม่ค่อยเชื่อมั่นครอบครัวของตนเอง เพราะครอบครัวอ่อนแอลง ขาดการขัดเกลาจากครอบครัว บทบาทสำคัญไม่ได้อยู่ที่ครอบครัว สื่อและเพื่อนมีผลต่อเยาวชนมากกว่า

          ช่องว่างระหว่างพ่อแม่มากขึ้น เด็กโตทางกายเร็วกว่าทางวุฒิภาวะ ควรจะเน้นสร้างครอบครัวให้เข้มแข็ง เปิดพื้นที่ให้ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ ลูกหลาน มีกิจกรรมร่วมกัน รู้ทันครอบครัว รวมทั้งตั้งรับได้ในสถานการณ์ต่าง ๆ

          ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของโลก ยึดครอบครัวเป็นศูนย์กลางและบริหารให้ครอบครัวอยู่ในสมดุล จึงจะผ่านวิกฤตินี้ไปได้




 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 29 ฉบับที่ 343 สิงหาคม 2554

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
19 แนวโน้มโลกที่ส่งผลต่อไทยและครอบครัว อัปเดตล่าสุด 6 พฤศจิกายน 2554 เวลา 09:48:15 1,814 อ่าน
TOP
x close