x close

พ่อแม่ 4 แบบ สกัดพัฒนาการลูก



พ่อแม่ 4 แบบ สกัดพัฒนาการลูก
(รักลูก)

         ลูกวัย 3-6 ปี เป็นช่วงที่พัฒนาการมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งพ่อแม่คือ คนสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้พัฒนาการลูกก้าวไกล หรือย่ำแย่ลงได้ โดยเฉพาะพฤติกรรมพ่อแม่ 4 แบบต่อไปนี้ ต้องห้ามเลยนะคะ

2 วิธีเช็กพัฒนาการลูก

         พ่อแม่สามารถเช็กพัฒนาการลูกว่าเป็นไปตามวัยหรือไม่ดังนี้

         1. เช็กตามเกณฑ์มาตรฐานเบื้องต้นจากสมุดวัคซีน เพราะในสมุดวัคซีนมีตารางพัฒนาการในช่วงอายุ 6 ปีแรกของลูก ซึ่งหากเทียบกับเกณฑ์พัฒนาการของลูกแล้ว จะพบว่าช้ากว่าเกณฑ์ปกติ ก็สามารถปรึกษาคุณหมอได้ทันทีเมื่อพาลูกไปรับวัคซีน อย่างไรก็ตามพัฒนาการของเด็กแต่ละคน อาจเร็วหรือช้ากว่าเกณฑ์เล็กน้อย โดยไม่ถือว่าผิดปกติอะไร

         2.ปรึกษากุมารแพทย์ ลูกจะพบกุมารแพทย์เพื่อฉีดวัคซีน และเช็กระดับพัฒนาการเพียงช่วง 2 ขวบแรก หลังจากนั้นถ้าสังเกตว่าพัฒนาการของลูกล่าช้ากว่าปกติมาก ๆ เช่น 3 ขวบแล้ว ยังวิ่งไม่คล่อง ขี่จักรยาน 3 ล้อไม่ได้ ขึ้น-ลงบันไดสลับเท้าไม่ได้ เป็นต้น ก็ให้สันนิษฐานเบื้องต้นได้เลยว่าลูกอาจมีพัฒนาการผิดปกติ ควรรีบพาลูกไปพบกุมารแพทย์ ซึ่งกุมารแพทย์จะให้รายละเอียดมากขึ้น จากการซักประวัติพ่อแม่ว่าจริง ๆ แล้วลูกมีพัฒนาการเป็นอย่างไร หากพบว่ามีความเสี่ยงก็จะประเมินด้วยการใช้แบบทดสอบ (DDST) ซึ่งเป็นการประเมินพัฒนาการในแต่ละด้านว่าช้าหรือไม่

2 ปัจจัยกั้นพัฒนาการ

         1.ปัจจัยด้านร่างกาย แบ่งเป็น 4 ประเภท

        มีโรคทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม

        เด็กที่มีภูมิปัญญาบกพร่อง

        เด็กที่ป่วยเรื้อรัง หรือมีความพิการแต่กำเนิด เช่น เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด หรือมีโรคลมชักอย่างรุนแรง

        มีโรคเรื้อรังที่เกิดขึ้นในภายหลัง เช่น เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีในสมอง โรคไตวาย โคขาดอาหารรุนแรง จะกระทบกระเทือนต่อพัฒนาการของสมอง และมีพัฒนาการช้าไปด้วย

         2. ปัจจัยทางสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการลูกอย่างมาก เด็กแต่ละคนนั้น เกิดมาพร้อมกับศักยภาพที่จะพัฒนาในแต่ละด้านในระดับหนึ่งอยู่แล้ว เสมือนเมล็ดมะม่วง ที่มีศักยภาพที่งอกเงยเป็นต้นมะม่วงผลิตอกออกผลในอนาคต แต่การเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมนั้นจะต้องเข้ามาช่วยเสริม จึงจะทำให้ศักยภาพนั้น มีโอกาสพัฒนาต่อไปได้ เปรียบเสมือนปุ๋ย น้ำ ดิน และแสงแดด ซึ่งการเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมที่ให้ต้องมีปริมาณพอเหมาะ และตรงกับระดับที่เด็กกำลังพัฒนาอยู่ ไม่เร็วไม่ช้าเกินไป จึงจะพัฒนาได้เต็มศักยภาพที่เด็กแต่ละคนมีอยู่แล้วจากพันธุกรรม

4 พฤติกรรมพ่อแม่สกัดพัฒนาการลูก

         คนสำคัญที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อพัฒนาการของลูกคือพ่อแม่ ซึ่งมี 4 พฤติกรรมต้องห้ามเด็ดขาดต่อไปนี้

         1.ปกป้องลูกมากเกินไป การปกป้องลูกมากเกินไปเพราะความเป็นห่วง กลัวอันตรายต่าง ๆ นา ๆ ทำให้ลูกขาดประสบการณ์ ไม่มั่นใจในตัวเอง แก้ปัญหาไม่เป็น หากตามใจลูกมากเกินไป ไม่ใช้เหตุผล จะทำให้ลูกเอาแต่ใจตัวเองขาดความอดทน ควบคุมตัวเองได้น้อย

         ต้องเปลี่ยน : พ่อแม่ต้องระลึกไว้เสมอว่าลูกวัยนี้กำลังพัฒนาอะไร แล้วเปิดโอกาสให้ลูกได้ทำสิ่งนั้น โดยพยายามหักห้ามใจไม่เข้าไปขัดขวางหรือควบคุม โดยพ่อแม่สามารถลดความกังวลได้โดยจัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย เช่น ติดมุมโต๊ะลบเหลี่ยมมุมหาที่ปิดปลั๊กไฟ หรือเลือกใช้แผ่นยางปูพื้นเพื่อกันกระแทก ลูกก็ปลอดภัยเล่นและเรียนรู้ได้เต็มที่ พ่อแม่ก็อุ่นใจหายห่วงด้วย

วัยเยาว์นอนพอ = พัฒนาการดีรอบด้าน

         การนอนไม่เพียงพอ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ขัดขวางพัฒนาการลูกวัยเยาว์ ทั้งด้านร่างกายและอารมณ์ หากลูกนอนไม่เพียงพอจะทำให้ความจำและสมาธิด้อยลง ไม่สดชื่น ร่าเริง เพราะสมองจะมีการซ่อมแซมและเติบโตในช่วงตอนหลับ พ่อแม่จึงควรให้ลูกวัยอนุบาลนอนวัยละ 12 ชั่วโมง หรือช่วงกลางคืน 10 ชั่วโมง และกลางวันอีก 1-2 ชั่วโมง

         พ่อแม่ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ และต้องเข้าใจว่าพัฒนาการต่าง ๆ นั้น สำคัญไม่น้อยกว่าเรื่องการเติบโตของลูก

         2.ขาดการส่งเสริมอย่างเพียงพอ การเลี้ยงดูลูกอย่างปล่อยปละละเลย ไม่มีเวลาเอาใจใส่อย่างเพียงพอหรือไม่ได้หาของเล่นเหมาะสม ไม่ได้พูดคุย ไม่ได้อ่านหนังสือให้ลูกฟัง หรือขาดการทำกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัย ลูกก็จะขาดโอกาสในการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ในทุกด้าน

         ต้องเปลี่ยน : พ่อแม่ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ และต้องเข้าใจว่าพัฒนาการต่าง ๆ นั้นสำคัญไม่น้อยกว่าเรื่องการเติบโต และการเป็นอยู่หรือเรื่องกินนอนของลูก จากนั้นก็ลำดับความสำคัญจัดสรรช่วงเวลาที่อยู่กับลูกให้มากที่สุด เพราะหากพ่อแม่มีเวลาอยู่กับลูกมาก ๆ ก็จะช่วยป้องกันลูก จากสื่อต่าง ๆ ที่ไม่เหมาะสมกับวัย เช่น การดูทีวีมากเกินไป เล่นเกม เล่นคอมพิวเตอร์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้หากปล่อยไว้นาน พ่อแม่จะยิ่งเข้าไปควบคุมดูแลลูกได้ยากขึ้น

         3.จัดกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมให้กับลูก เช่น ให้ดูทีวี ใช้คอมพิวเตอร์ เล่นเกม ถ้าพ่อแม่ไม่ได้คัดกรอง ไม่ได้ควบคุมเวลาในการเล่นสิ่งเหล่านี้ ลูกจะขาดโอกาสเรียนรู้ทางสังคม และพัฒนาการด้านอื่น ๆ ก็ช้าไปด้วย เพราะลูกไม่ได้วิ่งเล่น ไม่มีเวลาทำกิจกรรมสร้างสรรค์อื่น ๆ

         ต้องเปลี่ยน : ช่วง 3 ปีแรกเป็นวัยทองทางด้านภาษา หากลูกได้ฟังนิทาน ได้ฟังเพลง ได้พูดคุยกับพ่อแม่ขณะเล่นด้วยกัน ลูกก็จะได้พัฒนาการภาษาไปโดยอัตโนมัติ หรือหาของเล่นที่เหมาะสมกับวัยและหากิจกรรมที่ส่งเสริมจินตนาการ ให้ได้ใช้ความคิด เช่น วาดรูประบายสี ปั้นแป้งโดว์ เล่นบทบาทสมมติ หรือเล่นเกมที่มีกฎกติกา ซึ่งช่วยเสริมพัฒนาการของลูกให้ก้าวไกลในทุก ๆ ด้าน

         4.ใช้อารมณ์กับลูก ซึ่งมีผลกับพัฒนาการทางอารมณ์ของลูกโดยตรง การที่ลูกจะรักคนอื่นเป็น รู้จักกฎเกณฑ์มีน้ำใจ เคารพสิทธิผู้อื่นจะต้องเริ่มต้นที่แบบอย่างที่ดีจากพ่อแม่ ซึ่งพัฒนาการด้านนี้จะถูกขัดขวางถ้าลูกไม่ได้รับความรักจากพ่อแม่ ซึ่งหากพ่อแม่เครียดหรือมีพฤติกรรมที่รุนแรง ทะเลาะกัน มีการเฆี่ยนตี และใช้วาจาไม่สุภาพทุกครั้งที่ลงโทษลูก ก็จะทำให้พัฒนาการทางอารมณ์ของลูกไม่มั่นคง และอาจกลายเป็นคนก้าวร้าวในที่สุด

         ต้องเปลี่ยน : การจะให้ลูกมีพัฒนาการทางอารมณ์ที่ดี ลูกต้องอยู่ในบรรยากาศหรือครอบครัวที่มีความรัก ความอบอุ่น มั่นคง ไม่มีความรุนแรง พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์ที่รุนแรง ไม่ลงโทษลูกขณะอยู่ในอารมณ์โกรธ หรือควบคุมตัวเองไม่ได้ หลีกเลี่ยงการลงโทษที่ทำให้เขารู้สึกเจ็บปวด เช่น การตี ที่สำคัญต้องรู้จักแสดงออกถึงความรัก เมื่อลูกทำอะไรได้ด้วยตัวเองก็ให้คำชมเชย และให้กำลังใจลูก

         หากพ่อแม่เอาใจใส่ มีเวลาคุณภาพร่วมกับลูกอย่างเพียงพอเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่น ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ อย่างเต็มที่ และคอยให้กำลังใจ ก็ช่วยให้ลูกรู้สึกมั่นใจปลอดภัย พร้อมก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงค่ะ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 29 ฉบับที่ 340 พฤษภาคม 2554

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พ่อแม่ 4 แบบ สกัดพัฒนาการลูก อัปเดตล่าสุด 24 มิถุนายน 2554 เวลา 13:44:26 2,765 อ่าน
TOP