น้ำหนักทารกในครรภ์แต่ละสัปดาห์ เท่าไหร่จึงจะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แข็งแรงทั้งแม่และลูก

          น้ำหนักทารกในครรภ์แต่ละสัปดาห์ควรเพิ่มเท่าไหร่ เช็กให้แน่ใจว่าน้ำหนักของลูกเหมาะสม และคุณแม่ไม่มีภาวะน้ำหนักเกิน
น้ำหนักทารกในครรภ์แต่ละสัปดาห์ เท่าไหร่จึงจะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แข็งแรงทั้งแม่และลูก

          สิ่งหนึ่งที่คุณหมอย้ำนักย้ำหนากับคุณแม่ตั้งครรภ์ทั้งหลายคือน้ำหนักคนท้องและน้ำหนักทารกในครรภ์ เพราะเป็นสิ่งแรกที่จะบอกได้ว่าเด็กในท้องเติบโตอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือเปล่า น้ำหนักคุณแม่เกินหรือไม่ เนื่องจากจะส่งผลต่อสุขภาพของแม่และเด็กโดยตรง ว่าแต่น้ำหนักทารกในครรภ์แต่ละสัปดาห์ควรหนักเท่าไหร่ และคุณแม่ควรดูแลตัวเองยังไงบ้าง กระปุกดอทคอมมีคำตอบมาฝาก

น้ำหนักทารกในครรภ์บอกอะไรได้บ้าง

          คุณแม่อยากรู้มั้ยว่าทำไมน้ำหนักของทารกในครรภ์จึงสำคัญ และสามารถบอกอะไรได้บ้าง

น้ำหนักทารกมากกว่าเกณฑ์

          การที่ลูกน้อยมีน้ำหนักมากเกินไปนั้นอาจเสี่ยงต่อปัญหาต่าง ๆ ในอนาคต ซึ่งหากน้ำหนักทารกในครรภ์มากเกินไปอาจเป็นสัญญาณของโรคต่าง ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคต เช่น โรคเบาหวานในเด็ก และโรคอ้วนในเด็ก นอกจากนี้อาจส่งผลให้มีความเสี่ยงต่าง ๆ ตามมา ได้แก่
  • เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด
  • ทารกเสี่ยงมีรูปร่างที่ผิดปกติ (จากการบอบช้ำระหว่างคลอด)
  • ทารกเสี่ยงเสียชีวิตทั้งในครรภ์และหลังคลอด
  • คุณแม่เสี่ยงมีภาวะคลอดยากและมีแนวโน้มต้องผ่าคลอด

น้ำหนักทารกน้อยกว่าเกณฑ์

          การที่ลูกมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ก็ไม่ใช่เรื่องดี เพราะส่งผลต่อความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจจะตามมา ได้แก่
  • ทารกเสี่ยงมีการติดเชื้อในครรภ์ เช่น เชื้อเริม
  • ทารกเสี่ยงมีความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือมีโครโมโซมผิดปกติ
  • ทารกเสี่ยงพิการแต่กำเนิด
  • ทารกเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ
  • ทารกอาจมีโรคร้ายต่าง ๆ ตามมาในอนาคตได้ง่าย
          นอกจากนี้การที่ทารกมีน้ำหนักน้อยเกินไปยังบ่งบอกได้ถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของคุณแม่ เช่น การสูบบุหรี่ ใช้สารเสพติด และอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพของคุณแม่ เช่น คุณแม่มีน้ำหนักตัวน้อย มีภาวะโลหิตจาง ป่วยเป็นโรคหัวใจ และมีปัญหาการนำเข้าออกซิเจนจากคุณแม่ไปยังลูกที่ต่ำเกินไปได้อีกด้วย

น้ำหนักทารกในครรภ์แต่ละสัปดาห์ควรเท่าไหร่

          น้ำหนักทารกในครรภ์จะมีมาตรฐานอยู่ว่าแต่ละสัปดาห์ทารกควรจะหนักเท่าไหร่ สรุปได้คร่าว ๆ ดังนี้
อายุครรภ์

น้ำหนักทารก

1-3 สัปดาห์ 0 กรัม
4-8 สัปดาห์ 1 กรัม
9 สัปดาห์ 2 กรัม
10 สัปดาห์ 7 กรัม
12 สัปดาห์ 14 กรัม
13 สัปดาห์ 23 กรัม
14 สัปดาห์ 43 กรัม
15 สัปดาห์ 70 กรัม
16 สัปดาห์ 100 กรัม
17 สัปดาห์ 140 กรัม
18 สัปดาห์ 190 กรัม
19 สัปดาห์ 240 กรัม
20 สัปดาห์ 300 กรัม
21 สัปดาห์ 360 กรัม
22 สัปดาห์ 430 กรัม
23 สัปดาห์ 500 กรัม
24 สัปดาห์ 600 กรัม
25 สัปดาห์ 660 กรัม
26 สัปดาห์ 760 กรัม
27 สัปดาห์ 875 กรัม
28 สัปดาห์ 1,000 กรัม
29 สัปดาห์ 1,200 กรัม
30 สัปดาห์ 1,300 กรัม
31 สัปดาห์ 1,500 กรัม
32 สัปดาห์ 1,700 กรัม
33 สัปดาห์ 1,900 กรัม
34 สัปดาห์ 2,000 กรัม
35 สัปดาห์ 2,400 กรัม
36 สัปดาห์ 2,600 กรัม
37 สัปดาห์ 2,900 กรัม
38 สัปดาห์ 3,100 กรัม
39 สัปดาห์ 3,300 กรัม
40 สัปดาห์ 3,500 กรัม

ประเมินน้ำหนักทารกจากอะไร

          สำหรับคุณแม่ที่สงสัยว่าจะสามารถหาน้ำหนักของทารกได้อย่างไร มีเทคนิคและเกณฑ์การวัดดังนี้ค่ะ   
  1. ขนาดตัวทารก - เป็นวิธีดั้งเดิมที่ใช้ประเมินน้ำหนัก โดยการคาดคะเนน้ำหนักด้วยมือของสูติแพทย์จากการตรวจร่างกาย เป็นวิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากสะดวกและไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่วิธีนี้อาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้มาก
  2. ประเมินน้ำหนักโดยมารดา - ใช้ในการประเมินน้ำหนักในครรภ์หลัง ๆ และประเมินน้ำหนักทารกที่อายุครรภ์ครบกำหนด
  3. การใช้คลื่นเสียงความถี่สูง - เป็นการวัดสัดส่วนทารกในครรภ์ โดยการวัดความยาวของทารก การวัดความกว้างของศีรษะทารก การวัดเส้นรอบวงศีรษะ การวัดเส้นรอบท้อง การวัดความยาวกระดูกต้นขา

คุณแม่ควรได้รับสารอาหารยังไง

          สำหรับคุณแม่ที่อยากจะปรับการกิน โดยเฉพาะช่วงอายุครรภ์ 14-28 สัปดาห์ ควรกินอาหารเพิ่มจากก่อนตั้งครรภ์ 300 kcal ต่อวัน โดยควรมีสารอาหารดังนี้
  1. โปรตีน เพื่อการสร้างเสริมและการเจริญเติบโตของเซลล์ เนื้อเยื่อ เช่น เนื้อปลา อกไก่ ไข่ ถั่ว เต้าหู้ นมและผลิตภัณฑ์จากนม
  2. คาร์โบโฮเดรต เช่น ข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง แป้ง เผือก มัน
  3. ธาตุเหล็ก ช่วยในการบำรุงเลือด ป้องกันภาวะโลหิตจาง เช่น ตับ ไข่แดง เนื้อแดง อาหารทะเล เนื้อปลา ถั่วชนิดต่าง ๆ ผักใบเขียวเข้ม เมล็ดธัญพืช หากคุณแม่ได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพออาจส่งผลต่อพัฒนาการสมองของทารกได้
  4. วิตามินซี ช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็ก เช่น ส้ม มะนาว กีวี ฝรั่ง และผักใบเขียวเข้ม
  5. ไอโอดีน เช่น อาหารทะเล เกลือทะเล เพื่อป้องกันโรคคอพอกและสติปัญญาบกพร่องจากการขาดสารไอโอดีนในทารก
  6. แคลเซียม ช่วยสร้างกระดูกให้ทารกในครรภ์ เช่น นม ปลา งา ผักใบเขียว โดยเฉพาะปลาเล็กปลาน้อยและอาหารทะเลต่าง ๆ
  7. น้ำ ควรดื่มน้ำประมาณวันละ 6-8 แก้ว เพื่อช่วยให้ระบบขับถ่ายของคุณแม่ดีขึ้น
น้ำหนักทารกในครรภ์แต่ละสัปดาห์ เท่าไหร่จึงจะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แข็งแรงทั้งแม่และลูก

          ทราบแบบนี้แล้วคุณแม่ตั้งครรภ์ก็ควรจะใส่ใจในเรื่องของน้ำหนักทั้งของตัวเองและลูกน้อยในครรภ์ จะได้แข็งแรงทั้งแม่และลูกเลยนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : cryoviva.com, med.cmu.ac.th, bnhhospital.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
น้ำหนักทารกในครรภ์แต่ละสัปดาห์ เท่าไหร่จึงจะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แข็งแรงทั้งแม่และลูก อัปเดตล่าสุด 8 พฤศจิกายน 2567 เวลา 13:50:34 3,900 อ่าน
TOP
x close