x close

น้ำหนักคนท้องแต่ละเดือน ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันคลอด ควรน้ำหนักขึ้นเท่าไรดี

          น้ำหนักคนท้อง หรือ น้ำหนักแม่ตั้งครรภ์ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยประเมินสุขภาพของแม่และลูกน้อย น้ำหนักคนท้องในแต่ละเดือนควรขึ้นกี่กิโลกรัม เรามีคำแนะนำ พร้อมวิธีคุมน้ำหนักในช่วงตั้งครรภ์มาบอก
คนท้อง

          คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนล้วนอยากให้ลูกมีสุขภาพดี คลอดออกมาอย่างแข็งแรงและปลอดภัย น้ำหนักตัวเหมาะสม ดังนั้นในช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่หลายท่านจึงสรรหาสิ่งที่มีประโยชน์มาบำรุงอย่างเต็มที่ เลือกกินอาหารที่ดีและหลากหลาย เพื่อทั้งสุขภาพของตัวเองและลูกในท้อง โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่หลายท่านยังมีความคิดว่าต้องกินเผื่อลูก แต่เอ๊ะ  ? บำรุงมากเกินไป น้ำหนักก็ทะยานพรวดพราดขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่ช่วงตั้งครรภ์ในไตรมาสแรกคุณแม่บางคนแพ้ท้องมาก ส่งผลให้น้ำหนักตัวลดลงก็มี แล้วแบบนี้ น้ำหนักคนท้องในแต่ละเดือน ควรจะเพิ่มขึ้นกี่กิโลกรัมถึงจะดีต่อตัวเราและลูกน้อยกันนะ มาหาคำตอบ พร้อมวิธีดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง ทั้งการกินอาหาร และวิธีคุมน้ำหนักตอนท้องกันค่ะ

น้ำหนักคนท้องแต่ละเดือน ควรเพิ่มขึ้นเท่าไรถึงจะดี

          แม่ท้องอาจคิดว่าน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นเท่าไร ลูกในครรภ์ก็จะยิ่งตัวโตแข็งแรง บางคนมีน้ำหนักตอนตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นเกือบ 20 กิโลกรัม ในขณะที่บางส่วนก็เบื่ออาหาร กินไม่ค่อยได้ ทำให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นน้อย ซึ่งสร้างความกังวลใจเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ตามหลักทางการแพทย์ แม่ตั้งครรภ์ควรจะหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 10-15 กิโลกรัม หรือเฉลี่ยประมาณ 12.5 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับดัชนีมวลกายของแม่ก่อนการตั้งครรภ์ด้วยนะคะ โดยการตั้งครรภ์แต่ละไตรมาสก็จะมีน้ำหนักตัวแม่ท้องเพิ่มขึ้นไม่เท่ากัน ดังนี้
 

  • น้ำหนักคนท้อง ช่วงไตรมาสที่ 1 อายุครรภ์ 1-3 เดือน

          ช่วงไตรมาสแรกนี้ ส่วนใหญ่แล้วน้ำหนักตัวของคุณแม่จะไม่ค่อยเพิ่มขึ้น หรือน้ำหนักอาจจะลดลงด้วยซ้ำ เพราะทารกยังมีขนาดเล็กมาก และเป็นช่วงที่ร่างกายของคุณแม่ปรับตัว มีอาการแพ้ท้อง กินอะไรก็ไม่ค่อยได้ นอนไม่หลับ ช่วงนี้ถ้าน้ำหนักจะเพิ่มขึ้นก็มักไม่เกิน 2 กิโลกรัม
 

  • น้ำหนักคนท้อง ช่วงไตรมาสที่ 2 อายุครรภ์ 4-6 เดือน

          พอเริ่มเข้าช่วงท้อง 4 เดือนเป็นต้นไป อาการแพ้ท้องของคุณแม่จะเริ่มน้อยลง อาหารที่เคยกินได้น้อยก็เริ่มกลับมากินได้ตามปกติ หรือบางคนพอหายแพ้ท้องก็อยากกินโน่นกินนี่แบบยั้งไม่อยู่ ทำให้น้ำหนักค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ประมาณเดือนละ 1-1.5 กิโลกรัม รวมแล้วน้ำหนักควรเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 2 อีก 4-5 กิโลกรัม เรียกว่าเป็นช่วงที่คุณแม่ดูอิ่มเอิบ มีน้ำมีนวลขึ้นเวลาใส่ชุดคลุมท้อง
 

  • น้ำหนักคนท้อง ช่วงไตรมาสที่ 3 อายุครรภ์ 7-9 เดือน

          ช่วงนี้รูปร่างของคุณจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด เพราะน้ำหนักจะเพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 2-2.5 กิโลกรัม ในเดือนสุดท้ายน้ำหนักจะเพิ่มขึ้นช้าลงหรือคงที่ แต่คุณจะรู้สึกอึดอัดมากขึ้น เพราะทารกจะเจริญเติบโตเร็วมาก ทั้งทางสมองและร่างกาย รวมถึงมีขนาดตัวใหญ่ขึ้น ทำให้แม่ ๆ บางคนกินอาหารได้น้อยลง รวมแล้วในช่วงนี้น้ำหนักตัวควรเพิ่มขึ้นอีก 5-6 กิโลกรัม
 

          อย่างไรก็ตาม สำหรับคุณแม่ลูกแฝดก็ไม่ได้หมายความว่าน้ำหนักจะต้องเพิ่มเป็น 2 เท่าหรือ 3 เท่าตามจำนวนลูกน้อยในครรภ์นะคะ แต่อาจจะหนักเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ คือประมาณ 17-22 กิโลกรัม

คนท้อง

น้ำหนักคนท้องที่เพิ่มขึ้นมาจากส่วนใดบ้าง

          น้ำหนักแม่ท้องที่เพิ่มขึ้นในแต่ละเดือนนั้น ไม่ได้มีแต่น้ำหนักตัวของลูกน้อยอย่างเดียวนะคะ แต่ยังเพิ่มมาจากส่วนอื่น ๆ ของร่างกายคุณแม่ด้วย โดยน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นกระจายออกเป็นสัดส่วนคร่าว ๆ ดังนี้
 

  • น้ำหนักตัวลูก                3,000 กรัม
     
  • รก                              650 กรัม
     
  • มดลูก                          900 กรัม
     
  • น้ำคร่ำ                         800 กรัม
     
  • เต้านม                         400 กรัม
     
  • เลือดและสารน้ำ            1,200 กรัม
     
  • ไขมันและโปรตีน           5,200 กรัม

น้ำหนักคนท้อง มาก-น้อยเกินไป ควรระวังเรื่องใดบ้าง

          แม่ท้องที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเกินกว่ามาตรฐานอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ รวมถึงการคลอดด้วย เช่น คุณแม่เหนื่อยง่าย ปวดหลังมากขึ้น เส้นเลือดขอดมากขึ้น ทารกตัวโตคลอดลำบาก ถ้าผ่าคลอดก็จะทำให้แผลผ่าตัดติดช้า เกิดภาวะตกเลือดหลังคลอดได้ง่าย รวมทั้งอาจเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ เช่น ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง และเสี่ยงคลอดก่อนกำหนดได้ พอคลอดแล้วยังลดน้ำหนักให้หุ่นเข้าที่ได้ยากอีกด้วย
 

          ส่วนคุณแม่ที่ผอมแห้งแรงน้อย ขนาดท้องแล้วน้ำหนักไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง หุ่นยังเป๊ะ ก็ใช่ว่าจะดี เพราะถ้าน้ำหนักไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐานก็เป็นอันตรายกับลูกเช่นกัน โดยทารกจะมีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำกว่าปกติ คลอดออกมาตัวเล็กมาก ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของลูกตามมา
 

          ในกรณีที่น้ำหนักแม่ท้องไม่เพิ่มขึ้นเลยในช่วงตั้งท้องได้ 2-4 เดือน หรือมีน้ำหนักตัวเพิ่มมากกว่า 1 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ในเดือนที่ 4-6 หรือมีน้ำหนักเพิ่มมากกว่าครึ่งกิโลกรัมต่อสัปดาห์ในเดือนที่ 7-9 อย่ารอช้า รีบไปพบแพทย์ดีกว่าค่ะ

แม่ท้องควรกินอย่างไรให้น้ำหนักตัวได้มาตรฐาน

          ถ้าแม่ท้องน้ำหนักเพิ่มมากเกินไป ไม่ควรใช้วิธีอดอาหารเพื่อลดน้ำหนัก เพราะจะทำให้ลูกขาดอาหารและเสี่ยงต่อการแท้งมากขึ้น ส่วนคุณแม่ที่มีน้ำหนักขึ้นน้อยก็ต้องดูแลเรื่องการกินให้เหมาะสมด้วย ซึ่งวิธีคุมน้ำหนักระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อให้ได้สารอาหารสำหรับทารกและน้ำหนักเป็นไปตามเกณฑ์ สามารถปรับได้ง่าย ๆ ตามนี้ค่ะ
 

  • กินเพิ่มขึ้น

          ความต้องการพลังงานของผู้หญิงก่อนตั้งครรภ์ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,500 กิโลแคลอรีต่อวัน เมื่อมีการตั้งครรภ์ก็ควรเพิ่มอีกประมาณ 300 กิโลแคลอรีต่อวัน (ในไตรมาสสุดท้ายสามารถเพิ่มได้ถึง 450 กิโลแคลอรีต่อวัน) เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกายและการเติบโตของลูก อาจแบ่งเป็นข้าว 3 ทัพพีต่อมื้อ เนื้อสัตว์ 4-5 ช้อนโต๊ะต่อมื้อ ผลไม้ 6-8 คําต่อมื้อ และควรเสริมนมพร่องมันเนยหรือขาดมันเนย 2 กล่องต่อวันก็ได้ค่ะ
 

  • กินบ่อย ๆ

          แม่ตั้งครรภ์มักจะกินไม่ได้มากเท่าปกติ เพราะระบบการย่อยเปลี่ยนไปและกระเพาะถูกเบียด แทนที่จะกินมื้อใหญ่ 2-3 มื้ออย่างเมื่อก่อน ควรแบ่งอาหารออกเป็นมื้อย่อย ๆ วันละ 5-6 มื้อแทน ลำไส้จะได้ทำงานสะดวกและดูดซึมอาหารดีขึ้น
 

  • กินให้ครบคุณค่า

          แม่ท้องควรเน้นอาหารประเภทโปรตีนครบทั้ง 3 มื้อ เพื่อช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของลูกน้อย และคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงานในการทำกิจวัตรประจำวัน เสริมด้วยผักและผลไม้ที่มีกากใย ดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้วต่อวัน และเลือกเสริมอาหารที่มีวิตามินและเกลือแร่ต่าง ๆ ให้เพียงพอ โดยเฉพาะธาตุเหล็ก แคลเซียม ซึ่งจำเป็นสำหรับการทำงานส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ช่วยให้ไม่หงุดหงิด เหนื่อยง่าย และยังลดอาการแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์ได้ด้วย

คนท้อง

  • กินอาหารธรรมชาติ

          ควรกินอาหารธรรมชาติ หรือที่ใกล้เคียงธรรมชาติให้มากที่สุด เช่น อาหารสดใหม่ ผ่านขั้นตอนการปรุงน้อย เพื่อคงคุณค่าอาหารไว้ และควรหลีกเลี่ยงอาหารบรรจุกระป๋อง ของหมักดองทุกชนิด
 

  • เลี่ยงอาหารไขมันและน้ำตาลสูง

          อาหารมัน ๆ ทอด ๆ และอาหารที่มีน้ำตาลสูง เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับแม่ท้อง เพราะน้ำมันจะทำให้คุณแม่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเกินกำหนด แต่ลูกน้อยอาจไม่ได้อ้วนตามไปด้วย แถมยังส่งผลเสียต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดของคุณแม่อีกด้วย
 

          เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว คุณแม่ตั้งครรภ์ก็ควรดูแลสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น กินอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงเมนูจำพวกไขมันและมีรสหวาน น้ำตาล แป้ง มากเกินไป ที่สำคัญอย่าลืมออกกำลังกายวันละนิด ทำจิตใจให้แจ่มใส พูดคุยกับลูกน้อยในท้อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะมีผลดีไม่เฉพาะกับตัวคุณแม่เองเท่านั้น แต่ยังส่งต่อไปถึงลูกในท้องได้ด้วยค่ะ
 

ขอบคุณข้อมูลจาก : med.cmu.ac.th, rama.mahidol.ac.th, maerakluke.com, rakluke.com, cdc.gov

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
น้ำหนักคนท้องแต่ละเดือน ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันคลอด ควรน้ำหนักขึ้นเท่าไรดี อัปเดตล่าสุด 8 กันยายน 2564 เวลา 13:12:48 88,220 อ่าน
TOP