x close

ไขข้อสงสัย คนท้องปวดหลัง นวดได้ไหม รับมืออย่างไรได้บ้าง

          คนท้องปวดหลัง อาการยอดฮิตที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องรับมือ วันนี้เราจะมาไขข้อสงสัย คนท้องปวดหลังเกิดจากอะไร นวดได้ไหม พร้อมวิธีการดูแลคนท้อง ทำอย่างไรจึงจะบรรเทาปัญหานี้ได้
คนท้อง

          ปัญหาที่พบบ่อยในคนท้อง มักหนีไม่พ้นอาการปวดหลัง โดยเฉพาะเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์มากขึ้น จะยิ่งปวดหลังช่วงล่าง ตึงกล้ามเนื้อและเอ็นที่ช่วยพยุงด้านหลังอยู่ ทำให้ขยับร่างกายได้ไม่สะดวกและรู้สึกปวดมากเวลาก้มไปข้างหน้า ซึ่งอาการแม่ท้องปวดหลังจะมีมากหรือน้อยแตกต่างกันไป บางครั้งอาจปวดหลังจนกระทั่งหลังคลอดนานเป็นเดือน ๆ เลยทีเดียว แล้วรู้ไหมคะว่า ผู้หญิงที่มีอาการปวดหลังช่วงล่างในการตั้งครรภ์ลูกคนแรกจะมีโอกาสปวดหลังมากขึ้นเมื่อตั้งครรภ์ลูกคนต่อไปอีกด้วย
 

          ถึงแม้ปัญหานี้จะเป็นเรื่องธรรมดา แต่ความเจ็บปวดก็ทำเอาหนักใจไม่น้อย แล้วคุณแม่ตั้งครรภ์จะรับมืออย่างไรดี วันนี้เราจะพาไปดูสาเหตุที่ทำให้คนท้องปวดหลังและวิธีที่จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้กันค่ะ

คนท้องปวดหลัง เกิดจากอะไร

         คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอาการปวดหลัง ลามไปถึงช่วงบั้นท้ายและขาด้วย เกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่
 
  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

              น้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้นและการถ่วงของครรภ์ที่อยู่ด้านหน้าส่งผลให้กระดูกสันหลังของคุณแม่แอ่นเป็นเวลานาน หลังต้องแบกรับน้ำหนักตัวมากขึ้น ทำให้มีอาการปวดหลังขึ้นได้
     
  • ฮอร์โมนเปลี่ยน

              ช่วงตั้งครรภ์ ผู้หญิงจะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะฮอร์โมนรีแลกซิน (Relaxin) ซึ่งถูกหลั่งออกมาเพื่อให้กระดูกเชิงกรานและกล้ามเนื้อบริเวณที่เกี่ยวข้องกับการคลอดลูกขยายตัวและทำให้คลอดง่ายขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นกลับมีผลทำให้กล้ามเนื้อหลังอ่อนแอลง ทำให้ไม่สามารถพยุงน้ำหนักได้ดี จึงกลายเป็นอาการปวด รวมถึงเมื่ออายุครรภ์ 5 เดือนเป็นต้นไป ทารกจะดึงแคลเซียมจากกระแสเลือดคุณแม่ไปใช้ในการสร้างกระดูกและฟัน เป็นเหตุให้เกิดการกร่อนของกระดูก นำมาซึ่งอาการปวดหลังในที่สุด
     
  • กล้ามเนื้อส่วนกลางของลำตัวแยกตัว

              เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น ทารกเจริญเติบโต มดลูกขยายใหญ่ขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อตรงส่วนกลางของลำตัวเกิดการแยกตัว ส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังตามมา
     
  • การทรงตัวและท่าทางต่าง ๆ

              คุณแม่ที่มีหน้าท้องใหญ่มากขึ้น มักเดินตัวแอ่นไปข้างหลังเพื่อพยุงตัว แต่หารู้ไม่ว่าการแอ่นตัวรวมถึงการนั่งหรือก้มหยิบสิ่งของไม่ถูกวิธี ก็เป็นสาเหตุให้คุณแม่ปวดหลังได้
     
  • ความเครียดขณะตั้งครรภ์

              คุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มีความกังวลและความเครียดซ่อนอยู่ ทำให้กล้ามเนื้อต่าง ๆ ในร่างกายเกิดการตึงตัว และมีผลต่ออาการปวดหลังด้วยเช่นกัน
คนท้อง

คนท้องปวดหลังตรงไหนบ้าง

          อาการปวดหลังในช่วงตั้งครรภ์ มีแบบไหนบ้าง คุณแม่ตั้งครรภ์ลองมาเช็กกันหน่อยว่าเคยเป็นหรือไม่
 
  • คนท้องปวดหลังข้างขวา ข้างซ้าย หรือทั้งสองข้าง

              ในช่วงที่ตั้งครรภ์ กล้ามเนื้อส่วนหลังของคุณแม่จะต้องทำงานหนักเป็นพิเศษเพื่อพยุงท้องส่วนหน้าอยู่ตลอดเวลา ทำให้กล้ามเนื้อเมื่อยล้า ยึด หรือตึง จนส่งผลให้มีอาการคนท้องปวดหลังตามมาได้
     
  • คนท้องปวดบั้นเอวช่วงล่าง

              สรีระที่เปลี่ยนแปลงไปของคุณแม่ และร่างกายที่ต้องรองรับน้ำหนักตัวมากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อทำงานหนัก อาจเกิดอาการตึง จนมีอาการปวดเมื่อยได้บริเวณบั้นเอวช่วงล่าง
     
  • คนท้องปวดหลัง ปวดขา

              เป็นอาการปวดที่พบเจอได้มากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ โดยจะมีอาการปวดเมื่อยบริเวณสะโพก ร้าวลงไปถึงขาทั้งสองข้าง ซึ่งก็เป็นผลมาจากขนาดของลูกน้อยในท้องที่เจริญเติบโตมากขึ้นจนใกล้คลอดนั่นเอง

คนท้องปวดหลังนวดได้ไหม

          คำถามยอดฮิตสำหรับแม่ท้องหลาย ๆ คน ที่มักกังวลว่าคนท้องนวดได้ไหม ต้องระวังหรือหลีกเลี่ยงอะไรบ้าง ซึ่งก็ต้องบอกว่าการนวดสำหรับคนท้องสามารถทำได้ค่ะ แต่ควรขอคำแนะนำจากสูติแพทย์เพื่อความปลอดภัยก่อน และจะต้องเน้นไปที่การนวดผ่อนคลาย ลงน้ำหนักเบา เพราะมีการศึกษาส่วนหนึ่งพบว่าการนวดช่วยลดความปวดเมื่อย ลดอาการบวม ตะคริว ปวดศีรษะ คลายความเครียด ทำให้หลับสบายขึ้น และอารมณ์ดีขึ้น
 

          อย่างไรก็ตาม คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรกนั้นไม่ควรนวด เนื่องจากเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงในการแท้งง่ายที่สุด รวมถึงในช่วงอายุครรภ์ 6 เดือนขึ้นไปก็ไม่ควรนวดเช่นกัน เนื่องจากเป็นช่วงที่มดลูกขยายใหญ่จนไปกดทับเส้นเลือดและอวัยวะอื่น ๆ ซึ่งการนวดที่ไม่ถูกต้องอาจก่อให้เกิดอันตรายได้

สิ่งที่อยากแนะนำคุณแม่ในการนวดช่วงตั้งท้อง

  • ควรเลือกการนวดสำหรับคนท้องโดยเฉพาะ เพราะวิธีการนวดจะไม่เหมือนปกติทั่วไป หรืออาจเข้าสปาเพื่อนวดเฉพาะช่วงคอ บ่า ไหล่ แทนได้
     
  • ผู้นวดควรเป็นผู้ที่ผ่านการรับรอง มีความรู้และทักษะการนวดสำหรับหญิงตั้งครรภ์
     
  • หลีกเลี่ยงการนวดบริเวณท้อง เพราะอาจจะกระทบต่อเด็กในครรภ์ได้
     
  • การลงน้ำหนักและเทคนิคการนวด ควรเป็นไปตามความเหมาะสม ไม่หนักจนเกินไป
     
  • อุปกรณ์การนวด เช่น เตียง หมอน ควรใช้แบบที่ทำมาเพื่อหญิงตั้งครรภ์โดยเฉพาะ
     
  • ควรเลือกใช้น้ำมันที่ไม่มีกลิ่น เพราะกลิ่นของน้ำมันหอมระเหยบางตัวจะมีผลต่อการตั้งครรภ์
     
  • ห้ามนวดแผนไทยกับผู้นวดที่ไม่รู้วิธีการนวดหญิงตั้งครรภ์โดยเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายต่อเด็กในครรภ์ได้
     
  • หากมีภาวะแท้งคุกคาม ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดขอดหรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ควรหลีกเลี่ยงการนวดหรือปรึกษาแพทย์ก่อน


          หากคุณแม่บางท่านไม่อยากเสี่ยงนวดจริง ๆ ก็ยังมีวิธีอื่นที่จะช่วยยืดกล้ามเนื้อแบบเบา ๆ ให้คุณแม่ได้ผ่อนคลายขึ้นเช่นกัน ตามไปดูเลย

คนท้อง

วิธีแก้อาการปวดหลังขณะตั้งครรภ์

          1. คุมน้ำหนักตัวให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่แพทย์กำหนดไว้ ควรคุมไม่ให้ครรภ์ใหญ่เกินไป จนเกิดการถ่วงจนกระดูกสันหลังแอ่น


          2. เลือกที่นอนที่ไม่อ่อนยวบจนเกินไป โดยเฉพาะที่นอนที่ยุบไปตามน้ำหนักตัว จะทำให้คุณแม่ปวดหลังมากยิ่งขึ้น


          3. ท่านอนช่วยลดอาการปวดหลังของแม่ตั้งครรภ์ได้ ลองเปลี่ยนจากนอนหงายเป็นนอนตะแคง โดยงอเข่าและวางขาลงบนหมอนข้างที่มีความแข็งและหนา พอให้ทิ้งน้ำหนักได้พอดี ซึ่งจะช่วยให้น้ำหนักตัวและครรภ์ถูกถ่ายลงไปยังหมอนข้าง ลดภาระการทำงานของกล้ามเนื้อหลังได้มากขึ้น


          4. หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูงมากเกินไป ตามหลักการแพทย์แล้ว คุณแม่ตั้งครรภ์ควรใส่รองเท้าที่มีส้นไม่เกิน 1–2 นิ้ว เพื่อให้น้ำหนักอยู่ในช่วงกลางลำตัวและมีความสมดุล


          5. หากมีความจำเป็นต้องยกของหนักหรืออุ้มเด็ก คุณแม่ตั้งครรภ์ควรฝึกให้ถูกวิธี โดยยืนแยกเท้าออกเท่าช่วงสะโพก ให้ปลายเท้าเฉียงออกเล็กน้อย จากนั้นค่อย ๆ งอเข่า หย่อนตัวลงตรง ๆ พยายามให้น้ำหนักตัวอยู่ตรงกลางและบริเวณสะโพก ใช้กำลังจากแขนและไหล่ยกของ สุดท้ายจึงใช้ขาพยุงตัวขึ้น โดยไม่ใช้แรงหลังเด็ดขาด แต่ถ้ามีอาการปวดหลังหรือไม่มีความจำเป็นก็ไม่ควรยกของหนักหรืออุ้มเด็กจากพื้น


          6. หลีกเลี่ยงการยืนนาน ๆ และการยืนบนพื้นแข็ง ๆ โดยควรหาผ้าหรือพรมเช็ดเท้ามารองพื้น และมีเก้าอี้เตี้ย ๆ รองขาข้างหนึ่งไว้


          7. ฝึกท่านั่งให้ถูกต้อง หลังตรง เอนพิงพนักเก้าอี้เล็กน้อย และควรมีเก้าอี้เตี้ย ๆ รองรับเท้า ควรเลือกเก้าอี้ที่มีพนักพิงหลังและเบาะไม่นุ่มเกินไป และไม่ควรนั่งไขว่ห้าง รวมถึงไม่ควรนั่งนาน  ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ


          8. การทาครีมแก้ปวด สามารถบรรเทาอาการได้บ้าง แต่ไม่ได้รักษาอาการปวดให้หายเด็ดขาด


          9. สวมใส่อุปกรณ์ช่วยพยุง เช่น สายเข็มขัดคาดพยุงช่วงท้องที่จะช่วยพยุงน้ำหนักของลูกน้อยให้กระจายไปยังกล้ามเนื้อส่วนอื่น ๆ วิธีนี้แม้ว่าปัจจุบันอาจยังไม่มีการพิสูจน์ว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพจริง แต่คุณแม่หลายคนที่สวมใส่กลับรู้สึกได้ว่าสบายหลังมากขึ้น


          10. ควรออกกำลังกายเป็นประจำระหว่างการตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นการเดินเบา ๆ ว่ายน้ำ โยคะ ที่จะช่วยให้คุณแม่ได้ออกกำลังกายทุกสัดส่วน เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและสมรรถนะของกล้ามเนื้อต่าง ๆ และช่วยให้คลอดได้ง่ายขึ้นอีกด้วย ซึ่งระหว่างออกกำลังกาย หากรู้สึกเจ็บควรหยุดกิจกรรมทันทีและเปลี่ยนไปออกกำลังกายด้วยวิธีอื่น เนื่องจากหากฝืนอาจทำให้อาการแย่ลงได้

          อาการปวดหลังของคุณแม่ตั้งครรภ์ อาจเป็นเรื่องที่สามารถทนได้ แต่หากมีอาการปวดรุนแรงจนทนไม่ไหว ไม่ควรซื้อยามารับประทานเองเด็ดขาด เพราะยาบางประเภทอาจมีผลต่อทารกในครรภ์ รวมถึงหากมีอาการปวดร้าวไปถึงก้นและขาอย่างรุนแรง ปวดไปถึงน่อง นิ้วมือ นิ้วเท้า หรือมีอาการเหมือนกล้ามเนื้ออ่อนแรง ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันทีนะคะ
 

ขอบคุณข้อมูลจาก : samitivejhospitals.com, chulalongkornhospital.go.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไขข้อสงสัย คนท้องปวดหลัง นวดได้ไหม รับมืออย่างไรได้บ้าง อัปเดตล่าสุด 14 มกราคม 2565 เวลา 15:59:44 12,139 อ่าน
TOP