ลูกตัวเหลือง เพราะอะไร อันตรายไหม แล้วพ่อแม่ต้องทำยังไง ?

          ลูกตัวเหลือง ภาวะที่มักเกิดขึ้นบ่อย ๆ ในเด็กแรกเกิด สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ มาดูกันเลยว่าลูกตัวเหลืองเพราะอะไร เป็นแล้วจะอันตรายไหม ?

ลูกตัวเหลือง

          ในเด็กทารกแรกเกิด กว่าร้อยละ 25-50 % เมื่อคลอดออกมาแล้วในระยะแรก ๆ จะมีอาการตัวเหลือง ซึ่งภาวะนี้ทำให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่เป็นกังวลไม่น้อย ดังนั้นเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้คลายกังวลและรู้จักกับภาวะ "ลูกตัวเหลือง" กันมากขึ้น วันนี้กระปุกดอทคอมมีข้อมูลมาให้ศึกษากันแล้วค่ะ ดูสิว่าลูกตัวเหลืองเพราะอะไร ลูกตัวเหลืองอันตรายไหม จะสามารถรักษาได้อย่างไร แล้วในช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลลูกน้อยอย่างไรบ้าง

ลูกตัวเหลืองเพราะอะไร


          ภาวะลูกตัวเหลือง เกิดจากสารที่มีชื่อว่า บิลิรูบิน (Bilirubin) ซึ่งเป็นสารที่มีสีเหลือง เป็นส่วนประกอบสำคัญในเม็ดเลือดแดง โดยในทารกปกติจะมีสารบิลิรูบินนี้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ แต่ในทารกที่มีภาวะตัวเหลือง จะมีสารบิลิรูบินในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากตับยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ จึงไม่สามารถขับสารเหลืองบิลิรูบินนี้ออกจากร่างกายได้ จึงส่งผลให้เกิด ภาวะตัวเหลือง ขึ้นนั่นเอง

ลูกตัวเหลือง

ลูกตัวเหลืองดูยังไง และแบบใดผิดปกติ

          วิธีสังเกตลูกตัวเหลืองสามารถดูได้ง่าย ๆ จากร่างกายของลูกน้อย โดยปกติอาการจะเริ่มจากใบหน้าค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน จากนั้นจะค่อย ๆ ลามไปส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย อย่างเช่น ลำตัว ท้อง แขน ขา เป็นต้น และสำหรับเด็กตัวแดง ๆ ที่ดูยาก คุณแม่อาจใช้นิ้วมือกดที่บริเวณผิวหนังจะมีสีเหลืองชัดขึ้นมา นอกจากนี้ยังจะมีอาการอื่น ๆ ด้วย เช่น ตาเหลือง เหงือกเหลือง ปัสสาวะมีสีเหลือง หรืออุจจาระมีสีขาวซีด เป็นต้น ทั้งนี้หากดูแล้วว่าลูกตัวเหลืองไม่มากก็ไม่จำเป็นต้องตรวจหาค่าของสารเหลือง แต่ถ้าเหลืองมากและมีอาการอื่นร่วมด้วยอย่างเช่น มีไข้สูง ไม่ยอมดูดนม น้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้น เซื่องซึม ร้องไห้เสียงแหลม มีอาการตัวเหลืองมากขึ้นเรื่อย ๆ และนานกว่า 3 สัปดาห์ ให้คุณพ่อคุณแม่รีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์ทันที เพื่อเจาะเลือดตรวจดูค่าสารเหลืองและทำการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

ลูกตัวเหลืองอันตรายไหม

          หากมีอาการเหลืองไม่มาก อาการตัวเหลืองของลูกจะหายไปเองภายใน 1-2 สัปดาห์หลังคลอด หรือในเด็กบางรายอาจมีอาการตัวเหลืองนานกว่า 1 สัปดาห์ แต่ไม่มีอาการผิดปกติอื่น อาการแบบนี้อาจเป็นเพราะเกิดจากการดูดนมแม่ ซึ่งอาจมีสารบางอย่างที่ทำให้ลูกตัวเหลือง ซึ่งถ้ามีอาการแบบนี้แนะนำให้งดนมแม่ก่อน 2 วัน หากอาการตัวเหลืองลดลงแล้วค่อยกลับมาให้นมแม่ตามเดิม แต่ถ้าหากลูกมีอาการตัวเหลืองเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับมีอาการที่กล่าวไปข้างต้นร่วมด้วย คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์ทันที เพราะถ้าหากปล่อยไว้นานและตัวเหลืองมาก ๆ บิลิรูบินจะเข้าไปสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อสมองและก่อให้เกิดความผิดปกติทางระบบประสาท อาจทำให้เกิดอาการชัก ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อระบบสมองของลูกน้อย ถึงขั้นทำให้พิการ พัฒนาการล่าช้า หรือปัญญาอ่อนได้

ลูกตัวเหลือง

ลูกตัวเหลือง รักษาอย่างไร

          ปัจจุบันการรักษาอาการลูกตัวเหลืองสามารถรักษาให้หายได้ ด้วยการลดระดับของบิลิรูบินในเลือดด้วยวิธีมาตรฐานที่นิยมใช้ดังนี้

          1. การส่องไฟรักษา หากระดับของบิลิรูบินในเลือดสูงเกิน 12-15 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร ต้องใช้หลอดไฟชนิดพิเศษที่มีความยาวคลื่นแสงเหมาะสมในการรักษา ซึ่งต้องนำทารกไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเท่านั้น

          2. ถ่ายเลือดร่วมกับการส่องไฟรักษา หากระดับของบิลิรูบินในเลือดสูงมากจนอาจจะเกิดการสะสมในเนื้อเยื่อสมอง หรือแสดงอาการเฉียบพลันทางสมองเบื้องต้นแล้ว ควรใช้วิธีการถ่ายเลือดร่วมกับวิธีการส่องไฟรักษา เพื่อลดระดับของบิลิรูบินในร่างกายของทารกได้อย่างทันท่วงที

          3. รักษาด้วยยา ซึ่งยาที่สามารถรักษาภาวะตัวเหลืองในทารกได้ก็คือ ยาชีววัตถุ เช่น อิมมูโนโกลบูลินชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous immunoglobulin - IVIG) เป็นต้น ซึ่งควรอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น

ลูกตัวเหลือง

ดูแล ลูกตัวเหลือง ทํายังไง

          เมื่อลูกมีอาการตัวเหลือง นอกจากจะทำการรักษาตามวิธีมาตรฐานของแพทย์แล้ว เมื่อกลับบ้านคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องดูแลลูกน้อยให้ถูกต้องเช่นกัน โดยวิธีปฏิบัติสามารถทำได้ดังนี้...

          - เลี้ยงทารกด้วยน้ำนมแม่ โดยให้ลูกได้รับนมแม่อย่างเพียงพอ ทั้งนี้ถ้าดื่มนมแม่ได้ก็ไม่จำเป็นต้องให้น้ำ เพราะในนมแม่มีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่แล้ว เพียงแค่ให้ลูกดูดนมบ่อยขึ้นก็พอ

          - พาลูกไปรับแดดอ่อน ๆ ยามเช้า ช่วงเวลาประมาณ 06.00 - 07.00 น. ครั้งละประมาณ 20-30 นาที

          - หมั่นสังเกตอาการลูกน้อยว่าลูกมีอาการตัวเหลืองขึ้นหรือไม่ หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ หรือเปล่า อย่างเช่น มีไข้ เซื่องซึม ไม่ดูดนม หรือท้องอืด หากมีอาการเหล่านี้ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์ทันที


          - พาลูกน้อยไปตรวจตามที่คุณหมอนัดทุกครั้ง

          สำหรับภาวะลูกตัวเหลืองสามารถเกิดขึ้นได้กับทารกแรกเกิดทุกคน ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่อย่ากังวลมากจนเกินไปนะคะ เพียงแค่ทำตามคำแนะนำและหมั่นสังเกตอาการของลูกน้อยบ่อย ๆ ก็พอ ซึ่งถ้ามีอาการตัวเหลืองไม่มาก ไม่กี่สัปดาห์อาการตัวเหลืองก็จะหายไปได้เอง แต่ถ้าหากมีอาการตัวเหลืองมาก ๆ แบบนี้คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรจะนิ่งนอนใจ ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาให้เร็วจะดีที่สุดค่ะ

ข้อมูลจาก : pharmacy.mahidol.ac.th, enfababy.com, mamaexpert.com, maerakluke.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลูกตัวเหลือง เพราะอะไร อันตรายไหม แล้วพ่อแม่ต้องทำยังไง ? อัปเดตล่าสุด 8 มกราคม 2562 เวลา 17:18:30 60,516 อ่าน
TOP
x close