ทารกโตช้าในครรภ์ แม่ท้องต้องระวัง มาดูสาเหตุ พร้อมวิธีรับมือ

          ทารกโตช้าในครรภ์ เกิดจากอะไร ? เมื่อลูกในท้องโตช้า คุณแม่จะรู้ได้อย่างไร และภาวะทารกโตช้าในครรภ์นี้เสี่ยงอันตรายแค่ไหน ตามมาดูสาเหตุ พร้อมวิธีรับมือ เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยกัน

ตั้งครรภ์

          คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ อาจเป็นกังวลว่าทำไมท้องเล็กจัง หรือลูกดิ้นน้อยกว่าปกติ อาการแบบนี้ต้องระวังไว้นะคะ เพราะอาจเป็นสัญญาณของภาวะทารกโตช้าในครรภ์ ทำให้เด็กตัวเล็ก น้ำหนักน้อย หรือมีพัฒนาการที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งอาจเสี่ยงพิการหรือเสียชีวิตได้ อะไรคือสาเหตุของปัญหาน่าเป็นห่วงนี้ และจะสามารถแก้ไขหรือป้องกันได้อย่างไรบ้าง ตามมาหาคำตอบกัน

ภาวะทารกโตช้าในครรภ์ คืออะไร ?


          ภาวะทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า (Growth Retardation) คือภาวะที่ตัวอ่อนในครรภ์ไม่ได้พัฒนาขึ้นตามกำหนดที่ควรเป็น ทำให้ทารกเกิดภาวะทุพโภชนาการ มีขนาดเล็ก และมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติ พบได้ประมาณ 3-10% โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ครั้งแรก ตั้งครรภ์ก่อนอายุ 19 ปี ตั้งครรภ์ขณะที่อายุมากกว่า 35 ปี และตั้งครรภ์มากกว่า 5 ครั้งขึ้นไป จะมีความเสี่ยงมากเป็นพิเศษ

ภาวะทารกโตช้าในครรภ์มีอยู่ 2 รูปแบบ คือ


          - แบบได้สัดส่วน (Symmetrical) ทารกโตช้าจะมีขนาดร่างกายเล็กกว่าปกติแบบเท่า ๆ กันทุกส่วน

          - แบบผิดสัดส่วน (Asymmetrical) ทารกโตช้าจะมีขนาดร่างกายเล็กกว่าศีรษะมาก

ตั้งครรภ์

ทารกในครรภ์โตช้า เกิดจากอะไร


          ภาวะทารกโตช้าในครรภ์เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งความผิดปกติในเซลล์ หรือเนื้อเยื่อที่สืบทอดมาจากพ่อแม่ตั้งแต่แรก มีปริมาณการนำเข้าออกซิเจนต่ำ หรือปัญหาสุขภาพของคุณแม่ โดยสามารถเริ่มขึ้นช่วงเวลาใดของการตั้งครรภ์ก็ได้ และมีปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงให้ทารกเกิดภาวะนี้ขึ้น ได้แก่

          ปัจจัยเสี่ยงจากสุขภาพของมารดา


          - โรคเรื้อรัง เช่น โรคไตเรื้อรัง เบาหวาน โรคหัวใจ และโรคทางเดินหายใจต่าง ๆ

          - ภาวะความดันโลหิตสูง

          - ภาวะทุพโภชนาการ

          - โรคโลหิตจาง

          - การติดเชื้อบางประเภท

          - การใช้สารเสพติด

          - การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์

          ปัจจัยเสี่ยงจากตัวทารกเอง


          - ทารกพิการ ทารกพิการร้อยละ 20-60 จะเจริญเติบโตช้าในครรภ์ ขณะที่อีกร้อยละ 10 พบว่าเป็นเด็กพิการ ความพิการที่พบบ่อยในทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า ได้แก่ ไม่มีผนังหน้าท้อง ไส้เลื่อนกระบังลม มีความพิการของหัวใจ และกระดูกผิดปกติ

          - ทารกติดเชื้อโรค เช่น เชื้อเริม เชื้อหัดเยอรมัน เชื้อไวรัสอีสุกอีใส เชื้อ Cytomegalovirus เชื้อ Toxoplasmosis

          - ทารกมีโรคหัวใจ ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงร่างกายของทารกได้ไม่ดี จึงเกิดการเจริญเติบโตช้าในครรภ์

          - ทารกมีความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือโครโมโซมผิดปกติ เช่น เป็นดาวน์ซินโดรม

ตั้งครรภ์

          ปัจจัยเสี่ยงจาก รก ถุงน้ำคร่ำและสายสะดือ


          - รกลอกตัวก่อนกำหนด

          - รกเกาะต่ำ

          - รกอักเสบ

          - รกมีเนื้องอกและถุงน้ำ (Chorioangioma, Placental Cyst)

          - ถุงน้ำคร่ำอักเสบ

          - สายสะดือเกิดความผิดปกติ เช่น สายสะดือพันกัน ผูกเป็นปม มีเส้นเลือดผิดปกติ ตีบมาตั้งแต่กำเนิด ทำให้รกไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงทารกได้เพียงพอ

          ปัจจัยเสี่ยงภายในมดลูก


          - การไหลเวียนโลหิตที่มดลูกลดลง

          - การไหลเวียนโลหิตภายในรกลดลง

          - การติดเชื้อที่เนื้อเยื่อโดยรอบตัวอ่อน

ภาวะทารกโตช้าในครรภ์ อันตรายแค่ไหน


          ภาวะทารกโตช้าในครรภ์ มีความเสี่ยงทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้สูง ดังนี้

          - หากคลอดออกมาแล้วอาจมีน้ำหนักแรกเกิดน้อย

          - มีระดับออกซิเจนและน้ำตาลในเลือดต่ำ

          - มีเซลล์เม็ดเลือดแดงมากผิดปกติ

          - การรักษาอุณหภูมิในร่างกายผิดปกติ

          - มีภูมิต้านทานต่ำ

          - มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ การรับประทานอาหาร ระบบประสาท และอาจมีอาการสำลักขี้เทาด้วย

          ในกรณีที่อาการรุนแรง อาจทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์หรือระหว่างคลอดได้ ซึ่งหากทารกรอดชีวิตก็มีโอกาสที่จะเกิดความพิการทางการเรียนรู้ มีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวและสังคมล่าช้า รวมทั้งเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงขึ้น

ตั้งครรภ์

จะรู้ได้อย่างไรว่าทารกในครรภ์โตช้า


          ทราบสาเหตุและอันตรายของภาวะทารกในครรภ์โตช้าไปแล้ว คุณแม่ท้องอาจกังวลว่าแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกในครรภ์เติบโตช้า เรามีวิธีสังเกตอาการต่าง ๆ มาบอก

          - คุณแม่มีโรคประจำตัว หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์

          - น้ำหนักขณะตั้งครรภ์ลดลง หรือไม่ก็ขึ้นน้อยกว่าเดือนละ 1 กิโลกรัม

          - รู้สึกว่าท้องตัวเองเล็กกว่าคนตั้งครรภ์ปกติ

          - รู้สึกได้ว่าลูกดิ้นน้อย โดยปกติทารกจะดิ้นไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง ภายใน 12 ชั่วโมง


          - การตรวจครรภ์พบขนาดยอดของมดลูกไม่โตขึ้น และไม่เป็นไปตามเกณฑ์ปกติ

          - การตรวจวัดการสูบฉีดเลือดของทารกในครรภ์พบความผิดปกติ

          ถ้ามีอาการเหล่านี้ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่าทารกในครรภ์อาจเจริญเติบโตช้า แต่เพื่อความชัดเจนที่สุด คุณแม่ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอัลตราซาวด์ หากพบว่าทารกมีขนาดเล็กผิดปกติ น้ำหนักเพิ่มขึ้นช้ากว่าทารกที่มีอายุครรภ์เท่ากัน แพทย์จะคอยติดตามการเจริญเติบโตเป็นประจำต่อเนื่อง รวมถึงอาจจะทดสอบด้วยการเจาะน้ำคร่ำ เพื่อตรวจความผิดปกติต่าง ๆ และหาแนวทางแก้ไขต่อไป

ตั้งครรภ์

การรับมือกับภาวะทารกในครรภ์โตช้า


          ถึงแม้ภาวะลูกในครรภ์โตช้าจะน่าเป็นห่วง แต่คุณแม่สามารถแก้ไขไปพร้อม ๆ กับแพทย์ผู้ดูแลครรภ์ได้ โดยจะต้องมาพบแพทย์ตามนัดหมายทุก 2-6 สัปดาห์ เพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิดจนกว่าอายุครรภ์จะครบ 34 หรือมากกว่านั้น ทั้งนี้คุณแม่จะต้อง...

          - ดูแลโภชนาการ ด้วยการเพิ่มการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง  เพื่อให้ตัวอ่อนได้รับสารอาหารที่จำเป็นมากขึ้น โดยแพทย์อาจช่วยวางแผนการรับประทาน รวมทั้งเสริมวิตามินที่จำเป็นต่อหญิงตั้งครรภ์ด้วย

          - พักผ่อนบนเตียงด้วยท่าพิเศษ แพทย์อาจแนะนำให้คุณแม่นอนพักรักษาตัวอยู่บนเตียงในท่าทางเฉพาะ เพื่อช่วยกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนไปยังทารกได้ดีขึ้น

          - การกระตุ้นให้คลอด ในกรณีรุนแรง เช่น การเจริญเติบโตของทารกชะงักลงอย่างสมบูรณ์ แพทย์อาจมีการเร่งให้คลอดก่อนกำหนด เพื่อไม่ให้ทั้งแม่และลูกมีอาการทรุดหนักกว่าที่เป็นอยู่

ตั้งครรภ์

วิธีป้องกันภาวะทารกโตช้าในครรภ์ของทารก


          สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีปัจจัยเสี่ยง ยังสามารถป้องกันไม่ให้เกิดภาวะทารกในครรภ์โตช้าได้ ตามแนวทางเหล่านี้

          - นอนพักให้เพียงพอ 8-10 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนโลหิต

          - รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

          - งดดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่

          - ปรับเปลี่ยนท่าทางและพฤติกรรม เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้นและทารกจะได้รับออกซิเจนมากขึ้น เช่น ควรนอนตะแคงซ้าย เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงมดลูกและรกมากที่สุด

          - สังเกตการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ ควรนับว่าลูกดิ้นกี่ครั้งในแต่ละวัน

          - ระวังหากมีโรคประจำตัว และควรตรวจหาโรคต่าง ๆ อย่างละเอียด

          - เข้ารับการตรวจตามนัดหมายแต่ละครั้งให้ครบถ้วน สม่ำเสมอ

          - ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยารักษาโรคใด ๆ เนื่องจากยาบางชนิดอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้

          คุณแม่ที่สงสัยว่าอาจจะมีภาวะทารกโตช้าในครรภ์ หรือมีอาการผิดปกติใด ๆ ละก็ อย่าชะล่าใจ รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาและหาแนวทางแก้ไขให้ทันท่วงที เพียงเท่านี้ลูกในครรภ์ก็จะมีโอกาสคลอดอย่างปลอดภัย คุณพ่อคุณแม่ก็สบายใจหายห่วงขึ้นแล้วล่ะค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : med.cmu.ac.th, clmjournal.org, maerakluke.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทารกโตช้าในครรภ์ แม่ท้องต้องระวัง มาดูสาเหตุ พร้อมวิธีรับมือ อัปเดตล่าสุด 18 มกราคม 2567 เวลา 16:52:25 131,628 อ่าน
TOP
x close