ภาวะตับแข็งในเด็กเล็ก เกิดจากอะไร สังเกตอาการได้จากตรงไหนบ้าง ?

          ภาวะตับแข็งในเด็กเล็ก โรคร้ายที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้จักสาเหตุ และวิธีสังเกตอาการเอาไว้ จะได้รักษาได้ทันท่วงที


โรคตับแข็ง

          เชื่อเลยว่าถ้าให้พูดถึงโรคตับแข็ง คนส่วนใหญ่ก็จะนึกถึงโรคประจำตัวของเหล่านักปาร์ตี้สังสรรค์อย่างแน่นอน แต่ในความเป็นจริง สาเหตุที่ทำให้ตับทำงานผิดปกตินั้นไม่ได้มีเพียงการติดแอลกอฮอล์เพียงเท่านั้น ซ้ำร้าย ยังเป็นโรคที่พบได้ในทารกและเด็กเล็กเช่นเดียวกัน วันนี้กระปุกดอทคอม เลยจะพาทุกคนไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับ "ภาวะตับแข็งในเด็กเล็ก" กันว่า โรคเด็กที่ว่านี้ เกิดจากอะไร มีวิธีการรักษายังไง คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตอาการเริ่มต้นจากตรงไหนได้บ้าง พร้อมตอบคำถามคาใจ ถ้าลูกท้องโตผิดปกติ แปลว่าเป็นโรคตับแข็งหรือเปล่า ? ถ้าพร้อมแล้วไปดูคำตอบพร้อม ๆ กันเลยค่ะ

ภาวะตับแข็งในเด็กเล็ก เกิดจากอะไร ?

          ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ตับ เป็นอวัยวะที่สำคัญอย่างมากต่อร่างกายมนุษย์ เพราะมีหน้าที่ขับของเสียในเลือด ดูดซึมสารอาหารที่มีประโยชน์และจำเป็น รวมถึงสร้างน้ำดี ผู้ช่วยตัวหลักของระบบย่อยอาหารรวมถึงระบบขับถ่าย นั่นหมายความว่า หากเซลล์ในตับถูกทำลาย ของเสียจะไม่ได้รับการกำจัด และสะสมหรือตกค้างจนเกิดอันตรายตามมา โดยเซลล์ของตับสามารถถูกทำร้ายได้ด้วยสาเหตุเหล่านี้

          1. ไวรัสตับอักเสบ เด็กอาจได้รับผ่านทางอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรค ใช้ของร่วมกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ หรือกระทั่งได้รับเชื้อผ่านคุณแม่ ที่มีพาหะของโรคอยู่ในตัว

          2. โรคทางพันธุกรรม อย่างเช่น โรควิลสัน (Wilson’s Disease), โรคไกลโคเจนสะสม (Glycogen Storage Disease) หรือภาวะเหล็กเกิน (Hemochromatosis) ที่เกิดจากการสะสมธาตุเหล็กและทองแดงมากเกินไป รวมถึงมีความบกพร่องทางการใช้คาร์โบไฮเดรตบางประเภท ก็มีส่วนทำให้เกิดภาวะตับแข็งได้

          3. ท่อน้ำดีทำงานผิดปกติ เกิดจากการเติบโตที่ไม่สมบูรณ์ของทารกตั้งแต่แรกเกิด ทำให้ท่อน้ำดีตีบตัน แล้วน้ำดีไม่สามารถพาของเสียออกจากร่างกายได้อย่างสะดวก จนของเสียไปอุดตันตามท่อ ส่วนน้ำดีก็ย้อนกลับเข้าสู่กระแสเลือด และสะสมค้างอยู่ในตับ เมื่อของเสียไม่ได้รับการขับออก ตับก็จะเริ่มแข็งตัว ทำงานหนักเกินความจำเป็น บางรายตับอาจล้มเหลวเฉียบพลันได้ในที่สุด

          4. ได้รับยาเกินขนาด โดยเฉพาะยาแก้ปวด ลดไข้ประเภทพาราเซตามอล หากคุณแม่ไม่รู้แล้วกินตอนที่กำลังตั้งครรภ์เป็นประจำ ตัวยาก็จะส่งผ่านสายสะดือ ทำให้ไปสะสมในตัวเด็ก ส่งผลให้มีอาการตับแข็งตอนโต หรือกระทั่งเด็กเล็ก ที่คุณแม่ให้กินยาแก้ปวดเกินขนาด ก็สามารถเป็นได้เช่นกัน

          โดยโรคตับแข็งนั้นมีอยู่ 2 ประเภทหลัก ๆ คือแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง สำหรับโรคตับแข็งแบบเฉียบพลันนั้นสามารถรักษาให้หายขาดได้ เพราะเกิดจากการติดเชื้อไวรัสกะทันหัน ด้วยการให้ยารักษาตามอาการ ส่วนโรคตับแข็งแบบเรื้อรัง จะลุกลามไปถึงโรคตับอักเสบ ควรให้แพทย์ดูแลเรื่องยารักษาอย่างใกล้ชิด รวมถึงคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องดูแลโภชนาการ และการใช้ชีวิตของลูกให้ดีตามคำแนะนำของแพทย์ต่อไปจนกระทั่งลูกน้อยโตค่ะ

โรคตับแข็ง

โรคตับแข็ง ตับอักเสบ มีอาการแบบไหน คุณแม่สังเกตยังไงได้บ้าง ?

          โดยปกติแล้ว อาการของโรคตับแข็งในระยะแรกเริ่มจะไม่แสดงออกให้เห็นทันที จนกระทั่งการทำงานของตับเริ่มล้มเหลว หรือความดันโลหิตสูงขึ้น ส่งผลให้ร่างกายของเด็กแสดงอาการออกมาดังนี้

          - เลือดคั่งตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า มีเส้นเลือดสีแดงอมม่วงปรากฏตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณสะดือจะสังเกตได้อย่างชัดเจน

          - เส้นผมและขนตามตัวขาดหลุดร่วง

          - ไข้ขึ้นสูง อาเจียนเป็นเลือด

          - ท้องโตและขาทั้งสองข้างจะใหญ่ขึ้นเนื่องจากบวมน้ำ

          - เกิดผื่นคันตามผิวหนัง

          - กล้ามเนื้อกระตุก และร่างกายมีอาการสั่นเทาผิดปกติ

          - ตัวเหลือง นัยน์ตาเหลือง เพราะเกิดการสะสมของน้ำดีมากเกินไป

          ทั้งนี้ หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกของเราเริ่มงอแง เบื่ออาหาร ไม่ยอมกินอาหาร ซูบผอมมากผิดปกติ อุจจาระมีสีดำเข้ม อุจจาระมีเลือดปะปน อันเป็นอาการเริ่มต้นของผู้ป่วยโรคตับแข็ง ก็ควรพาลูกไปปรึกษาแพทย์โดยทันทีนะคะ

โรคตับแข็ง

คุณแม่มีวิธีป้องกันและรับมือยังไงบ้าง ?

          หากไม่อยากให้อาการของโรคเริ่มเรื้อรัง รักษาไม่หาย หรือไม่อยากให้โรคนี้เกิดขึ้นกับลูกน้อย คุณพ่อคุณแม่สามารถทำตามวิธีป้องกันเบื้องต้นได้ดังนี้ค่ะ

          - ตรวจเช็กให้ลูกน้อยได้รับวัคซีนครบถ้วนตามวัย โดยเฉพาะวัคซีน HB2 ที่ป้องกันโรคตับอักเสบบี มีกำหนดฉีดเมื่อเด็กอายุ 1 เดือน

          - สำหรับเด็กวัยแรกเกิด ควรตรวจเช็กกับแพทย์ให้มั่นใจ ว่าท่อน้ำดีของลูกสมบูรณ์เป็นปกติ เพราะโรคท่อน้ำดีตีบตันนั้น ควรได้รับการผ่าตัดแก้ไขอย่างด่วนที่สุด ภายในอายุ 2 เดือน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการอุดตันในท่อน้ำดี แล้วเป็นโรคตับแข็งตามมาเมื่อลูกโต

          - ทำความสะอาดภาชนะใส่อาหารของลูกให้ดี เมื่อล้างเสร็จแล้วก็ควรนำไปผ่านน้ำร้อนเพื่อฆ่าเชื้อโรคอีกขั้น และตรวจเช็กให้มั่นใจด้วยว่า อาหารของลูกนั้นปรุงสุกและสดใหม่ทุกครั้ง

          - คุมโภชนาการให้เหมาะสม ไม่ควรให้ลูกกินขนม อาหารรสเค็มจัด อาหารรสเผ็ดจัดมากเกินไป เพราะนอกจากจะทำให้เด็กเสี่ยงเป็นโรคอ้วนแล้ว ยังอาจมีไขมันสะสมพอกที่ตับ หรือร่างกายเกิดอาการบวมน้ำได้อีกด้วย

          - เมื่อลูกโตจนรู้ความ ควรสอนให้รู้โทษของสิ่งเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เอาไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะได้ไม่ไปข้องเกี่ยว จนเกิดผลร้ายต่อร่างกายในอนาคต

โรคตับแข็ง

ลูกท้องโต เป็นอาการของภาวะตับแข็งในเด็กเล็กหรือเปล่า ?

          แม้อาการท้องโต ท้องบวม ท้องแข็ง จะเป็นส่วนหนึ่งของโรคตับแข็งก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่า เด็กที่มีอาการแบบนี้จะเป็นโรคตับแข็งกันทุกคนนะคะ บางคนอาจแค่ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อยเพียงเท่านั้น ซึ่งเมื่อพบว่าลูกของเราท้องโตแล้ว ก่อนอื่นคุณแม่ต้องตั้งสติ อย่าเพิ่งเป็นกังวลมากเกินไป แล้วคอยสังเกตอาการของลูกไว้ให้ดี หากผ่านไป 1-2 วันแล้วเด็กขับถ่ายเป็นปกติ ไม่มีอาการแรกเริ่มของโรคตับแข็งอย่างที่เราบอกไปข้างต้น แล้วกลับมาร่าเริง รวมถึงกินอาหารได้ปกติ ก็หายห่วงได้เลย

          แต่ถ้าหากคลำท้องแล้วเจอก้อนแข็ง ๆ ปูดโปนผิดปกติ หรือลูกมีอาการซึม กินข้าวแล้วอาเจียน ก็ให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที จะได้ตรวจเลือดหรือทำการวินิจฉัยอื่น ๆ เพื่อหาสาเหตุว่าเป็นโรคตับแข็ง หรือมีโรคแทรกซ้อนร้ายแรงอื่น ๆ ด้วยหรือเปล่า ทั้งนี้ ก็เพื่อความปลอดภัยของคุณลูก และความสบายใจของตัวคุณพ่อคุณแม่เองด้วยนะคะ

ข้อมูลจาก : childrenshospital.org, chp.edu, bumrungrad.com


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ภาวะตับแข็งในเด็กเล็ก เกิดจากอะไร สังเกตอาการได้จากตรงไหนบ้าง ? อัปเดตล่าสุด 26 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 11:43:11 113,119 อ่าน
TOP
x close