ฝุ่น PM2.5 กระทบลูกในครรภ์แม่ท้อง เสี่ยงเติบโตช้า-อายุขัยสั้น

          ฝุ่น PM2.5 กับปัญหาคนท้อง หากคุณแม่รับฝุ่นพิษ-ละอองสิ่งสกปรกประจำ อาจทำให้ลูกในครรภ์เสี่ยงเติบโตช้า น้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน พัฒนาการทางสมองไม่ดี วันนี้มาดูวิธีรับมือเบื้องต้นกันค่ะ


ฝุ่น PM2.5

          อย่างที่ทราบกันดีว่าบ้านเราในตอนนี้ กำลังประสบปัญหาฝุ่นละอองพิษ PM2.5 อย่างหนัก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพ ทั้งระบบทางเดินหายใจ ระบบหมุนเวียนเลือด รวมถึงระบบการทำงานของสมอง และอาจส่งผลกระทบต่อเราทุกคน ไม่เว้นแม้แต่ลูกในท้องของคุณแม่ตั้งครรภ์ ที่มีผลวิจัยออกมาแล้วว่า การที่คุณแม่ได้รับมลภาวะทางอากาศเป็นประจำ อาจทำให้ลูกน้อยเสี่ยงเกิดภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ พัฒนาการทางสมองช้า รวมถึงอายุขัยสั้นกว่าปกติอีกด้วย

          และเชื่อว่ามีคุณแม่ที่กำลังกังวลใจอยู่ไม่น้อยเลยใช่ไหมคะ ? วันนี้กระปุกดอทคอมจะขออาสาพาไปไขข้อข้องใจกันว่า PM2.5 อันตรายอย่างไรกับลูกในครรภ์ เพราะอะไรถึงทำร้ายลูกน้อยได้ พร้อมวิธีรับมือเบื้องต้นเพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาวค่ะ

ฝุ่น PM2.5 กับผลการทดลองเกี่ยวกับเด็กแรกเกิด


          ผลการวิจัยการทดลองเรื่องฝุ่นละอองกับหนูตั้งท้อง รวมถึงการศึกษาทางสถิติสุขภาพเด็กแรกเกิดในพื้นที่มีฝุ่นละออง จากสถาบันวิทยาศาสตร์ทั่วโลก อาทิ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก, สถาบันเพื่อสุขภาพทั่วโลกบาร์เซโลนา ประเทศสเปน และมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา พบว่าการที่แม่หนูได้รับฝุ่นละอองติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้ลูกหนูที่เกิดออกมามีพัฒนาการทางสมองผิดปกติ ช่วงตัวสั้นผิดปกติ น้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน อวัยวะสืบพันธุ์ผิดปกติ ซึ่งจะส่งผลให้ฮอร์โมนร่างกายและเพศผิดเพี้ยนในอนาคต โดยเฉพาะลูกหนูที่เกิดจากแม่หนูที่ได้รับฝุ่นละอองอย่างหนักในช่วงตั้งท้อง เทียบเท่ากับครรภ์มนุษย์ไตรมาสแรกและไตรมาสที่สอง เนื่องจากเป็นช่วงระยะที่ตัวอ่อนกำลังสร้างเนื้อสร้างตัว ทั้งต้องการสารอาหารหล่อเลี้ยงอย่างเต็มที่

          สำหรับสถิติเด็กแรกเกิดจากคุณแม่ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน พบว่านอกจากมีเด็กคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และเจริญเติบโตช้าผิดปกติแล้ว เด็กบางคนยังมี DNA ในเซลล์ชื่อว่า เทโลเมียร์ (Telomere) สั้นกว่าปกติ ซึ่ง DNA ตัวนี้ทำหน้าที่กำหนดอายุขัย โดยจะแตกตัวสั้นลงทุกครั้งที่เราโตขึ้น และอายุขัยของเราจะสิ้นสุดลง เมื่อเจ้าเทโลเมียร์สั้นกุดจนแตกตัวไม่ได้อีก นั่นหมายความว่าเด็กที่เทโลเมียร์สั้นกว่าปกติ ก็จะมีอายุขัยสั้นกว่าคนทั่วไป แถมร่างกายยังอ่อนแอ อาจเต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บอย่าง โรคหัวใจ เบาหวาน หรือมะเร็งอีกด้วย

ฝุ่น PM2.5

ทำไมฝุ่น PM2.5 ถึงกระทบต่อลูกในครรภ์ ?

          นั่นเป็นเพราะว่าขนาดของฝุ่น PM2.5 มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือเล็กกว่าเส้นผมถึง 20+ เท่า ซึ่งสามารถเล็ดลอดขนจมูกเข้าสู่ปอดและกระแสเลือดได้อย่างง่ายดาย ทำให้สารพิษส่งต่อจากเลือดผ่านสายสะดือไปสู่เด็ก รวมถึงการที่คุณแม่หายใจได้ไม่เต็มปอด ยังทำให้ร่างกายนำออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงลูกในครรภ์ไม่เพียงพออีกด้วย นอกจากนี้ หากคุณแม่โชคร้าย เกิดเป็นโรคภัยที่มาจากฝุ่นละออง อันได้แก่ โรคหลอดเลือดในสมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคมะเร็งปอด โรคหัวใจขาดเลือด และโรคติดเชื้อเฉียบพลัน อาการผิดปกติทางร่างกายในระยะแรกเริ่มของโรคเหล่านี้ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อลูกในครรภ์แน่นอนอยู่แล้ว

          ทั้งนี้ทั้งนั้นอย่าเพิ่งกังวลใจกันไปนะคะ เพราะผลกระทบร้ายแรงเหล่านี้จะเกิดขึ้น เมื่อคุณแม่รับฝุ่นละอองติดต่อมากเกินไปเป็นระยะเวลานาน ถ้ารู้จักป้องกันและดูแลสุขภาพก็ไม่ต้องห่วงอะไรแล้วค่ะ ว่าแล้วก็ไปดูวิธีรับมือฝุ่นละอองที่นำมาฝากกันค่ะ

วิธีรับมือฝุ่นละอองเบื้องต้นฉบับแม่ท้อง

          1. ใส่หน้ากากอนามัย N95 : แม่ท้องควรสวมหน้ากาก N95 มากกว่าหน้ากากผ้าธรรมดา เพราะมีประสิทธิภาพป้องกันและกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ดีกว่า แนะนำให้ใส่แบบมีวาล์วเปิด-ปิดจะหายใจได้สะดวกกว่า แต่ถ้าหาซื้อยาก สามารถใช้หน้ากากกัน PM2.5, FFP2, P2 หรือ R95 ทดแทนได้ อาจใส่เพิ่มทับ 2 อันตามความเหมาะสมและความสบายใจ อย่าลืมเปลี่ยนทุกวันเพื่อป้องกันเชื้อโรคหรือสิ่งสกปรกหมักหมมด้วยนะคะ

ฝุ่น PM2.5
         
          2. หลีกเลี่ยงกิจกรรมนอกบ้านดูแลความสะอาดให้ดี :
แม่ท้องไม่ควรออกไปไหนมาไหนในสภาพอากาศที่มีแต่ฝุ่นควัน ทางเลือกที่ดีที่สุดคือการอยู่ในบ้าน และใช้วิธีลดฝุ่นละอองในบ้าน โดยการปิดหน้าต่าง-ประตูให้มิดชิด เช็ดถูรอบบริเวณบ้านด้วยผ้าชุบน้ำหมาด ๆ เพื่อกำจัดสิ่งสกปรกแทนการใช้เครื่องดูดฝุ่น รวมถึงใช้เครื่องฟอกอากาศที่ใช้แผ่นกรองอากาศ HEPA (High Efficiency Particulate Air Filter) เพราะสามารถกรองฝุ่นขนาดเล็กได้ถึงขนาด 0.3 ไมครอน

          3. งดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นควัน : ควรงดกิจกรรมทั้งหมดจนกว่าค่า PM2.5 ในอากาศจะดีขึ้น โดยไม่ควรทำกิจกรรมปิ้งย่าง จุดเตาถ่าน สูบบุหรี่ เผากระดาษ-สิ่งของ และจุดธูป-เทียน เป็นต้น

           4. ปลูกต้นไม้ทั้งภายในและภายนอกบ้าน : ผู้ช่วยจากธรรมชาติที่เป็นมิตรกับมนุษย์อยู่เสมอ เพียงปลูกต้นไม้กระถางเล็ก ๆ ตามมุมบ้าน จะสามารถช่วยกรองอากาศให้ดีขึ้นได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงการรดน้ำต้นไม้ทุกวัน ยังช่วยลดฝุ่นละอองได้เบื้องต้นอีกด้วย

ฝุ่น PM2.5

          5. หากรู้สึกไม่สบายตัวควรพบแพทย์ทันที : เมื่อรู้สึกหายใจไม่ทั่วท้อง มีอาการไอ จาม คัดจมูก แสบรอบดวงตา รวมถึงแสบคอ คุณแม่ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ทันทีอย่ารอช้า รวมถึงต้องตรวจครรภ์เป็นประจำอย่าให้ขาด จะได้รับมือ บำรุง และป้องกันได้ทันท่วงที โดยเฉพาะคุณแม่ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีค่า PM2.5 สูง

          หากปัญหานี้แก้ได้เร็ววันเราก็จะกลับมาสูดออกซิเจนได้เต็มปอดเหมือนเดิมแล้วล่ะค่ะ ส่วนตอนนี้ขอให้ทุกคนอดทน ทำตามคำแนะนำ และรักษาสุขภาพกันไว้ให้ดี เพื่อความปลอดภัยในระยะยาวนะคะ

ข้อมูลจาก : sciencedaily.com, ehp.niehs.nih.gov, eurekalert.org, cambridgemask.com, time.com


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฝุ่น PM2.5 กระทบลูกในครรภ์แม่ท้อง เสี่ยงเติบโตช้า-อายุขัยสั้น อัปเดตล่าสุด 25 มกราคม 2562 เวลา 09:58:37 14,955 อ่าน
TOP
x close