ลูกไม่ยอมดูดขวดนม ทำอย่างไรดี กับ 8 วิธีฝึกลูกดูดขวดนมง่าย ๆ สำหรับคุณแม่มือใหม่

          ลูกไม่ยอมดูดขวดนม ทำอย่างไรดี ? วันนี้ เรามีเคล็ดลับการสอนลูกน้อยดูดขวดนมอย่างถูกวิธีมาฝาก บอกเลยว่าไม่ยากอย่างที่คิด เป็นมือใหม่หัดเลี้ยงลูกก็ทำตามได้ง่ายมาก


วิธีเลี้ยงลูก

          ปัญหาที่คุณแม่ลูกอ่อนต้องรับมือกันอยู่บ่อย ๆ ก็คือ ลูกไม่ยอมดูดขวดนมสักที จนไม่รู้จะทำอย่างไรดี โดยเฉพาะคุณแม่ที่ต้องออกไปทำงานหรือธุระข้างนอก แล้วปล่อยให้คนอื่นป้อนนมแทนตัวเอง จะยิ่งเครียดหนักเข้าไปใหญ่ เพราะถึงแม้จะปั๊มน้ำนมเผื่อไว้มากขนาดไหน แต่ถ้าเจ้าตัวเล็กไม่ยอมกิน ก็จะเกิดปัญหาเด็กได้รับสารอาหาร และภูมิคุ้มกันจากน้ำนมแม่ไม่เพียงพอ ตามมาด้วยผลเสียต่อการเจริญเติบโต และอาจมีโรคร้ายถามหาเอาได้ การฝึกลูกให้คุ้นเคยกับขวดนม จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรทำมากเลยทีเดียว

          และสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังมองหาวิธีแก้ ก็ไม่ต้องไปหาที่ไหนอีกแล้ว เพราะกระปุกดอทคอมมี 8  วิธีทำให้ลูกดูดขวดนมมาฝากถึงที่ บอกเลยว่ามือใหม่หัดเลี้ยงลูกทุกคนทำตามได้ไม่ยาก แถมยังทำให้ลูกติดทั้งเต้าและขวดได้อีกด้วย ว่าแล้วก็อย่ารอช้า ตามเราไปพบกับเคล็ดลับดี ๆ กันเลยค่ะ

1. แบ่งเวลาให้นมลูกใหม่


          เพราะเด็กเล็กเป็นวัยที่กำลังอยากรู้อยากเห็น ชอบมองสำรวจแต่สิ่งรอบข้าง มากกว่าการโฟกัสของที่อยู่ตรงหน้า หากคุณแม่ปล่อยให้ลูกน้อยนั่งอยู่กับที่นาน ๆ แล้วบังคับกินนมให้หมดขวดในครั้งเดียว อาจทำให้รู้สึกเบื่อและงอแงจนไม่อยากจับขวดนมอีกก็ได้ หลังจากนี้ ลองแบ่งเวลาให้นมลูกใหม่ เป็นมื้อย่อย ๆ ประมาณ 5 ครั้งต่อวัน และอย่าลืมลดปริมาณนมให้น้อยลง ต่อการป้อนนมหนึ่งครั้ง ตามความเหมาะสมด้วยนะคะ วิธีนี้จะทำให้เด็กไม่รู้สึกอิ่มท้องจนเกินไป และกระตุ้นให้ร้องหาขวดนมบ่อยขึ้น

2. ป้อนนมขวดก่อนลูกหิวจัด

          หลาย ๆ คนเข้าใจว่า การงดให้อาหารลูกจนงอแงเพราะหิวจัด จะทำให้ลูกยอมกินนมขวดที่ป้อนทันที เราขอให้เปลี่ยนความคิดให้ด่วนเลยนะคะ เพราะโดยปกติแล้ว เมื่อเด็กมีอาการหิวจะหงุดหงิด โมโห และร้องหาแต่สิ่งที่คุ้นเคยตามสัญชาตญาณ ซึ่งก็คือการกินนมจากเต้า ไม่มีอารมณ์มาสนใจรับอะไรใหม่ ๆ อย่างขวดนมหรอกค่ะ เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรป้อนนมขวด ให้เร็วขึ้นจากเวลาที่ลูกหิวเป็นประจำ หรือช่วงเวลาก่อนตื่นนอน โดยสามารถสังเกตจากริมฝีปาก หากลูกเริ่มขยับปากขมุบขมิบใกล้จะตื่นแล้ว ก็สามารถป้อนขวดนมได้เลย

วิธีเลี้ยงลูก

3. หาโลเคชั่นเงียบสงบเวลาให้นม

          อยากที่บอกไปว่าเด็กกำลังอยู่ในวัยอยากรู้อยากเห็น คุณแม่จึงควรพาลูกน้อยไปยังสถานที่ที่ไม่มีเสียงรบกวน ไม่มีผู้คนหรือสิ่งของที่จะดึงความสนใจของลูกน้อย อย่างเช่นห้องนอนที่ไม่มีของเล่นวางตกแต่ง แล้วลองให้นมลูกอย่างเงียบสงบที่สุด โดยไม่ต้องชวนลูกคุย ไม่ต้องให้คุณพ่อมานั่งเชียร์อยู่ข้าง ๆ จะช่วยให้ลูกโฟกัสว่าตัวเองรู้สึกหิว และตั้งใจกับการกินนมมากขึ้น

4. ฝึกให้ดูดจุกยางตั้งแต่เนิ่น ๆ

          แม้คนส่วนใหญ่จะไม่แนะนำให้ลูกน้อยดูดจุกยางเล่นโดยไม่จำเป็น แต่สมัยนี้คุณแม่สามารถปั๊มนมตัวเองเก็บไว้ในขวดได้ ก็ไม่ต้องห่วงเลยว่าลูกน้อยจะไม่ยอมกินนมจากเต้า โดยให้คุณแม่ฝึกลูกดูดจุกยางตั้งแต่เนิ่น ๆ ด้วยวิธีป้อนจุกยาง สลับกับป้อนนมจากเต้าวนไปหลาย ๆ ครั้งระหว่างให้นม วิธีนี้จะทำให้ปากของเด็กได้รู้จักสัมผัสใหม่ ๆ นอกจากเต้านมแม่ รวมถึงคุ้นเคยกับการดูดนมจากจุกมากขึ้น ตอนถึงเวลาป้อนขวดนมจริงจะได้ไม่งอแงค่ะ

วิธีเลี้ยงลูก

5. เปลี่ยนทรงจุกขวดนม จนกว่าลูกจะถูกใจ

          การเลือกวัสดุที่ทำจุกขวดนมให้ดี ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญมาก ๆ เนื่องจากบางทีการที่เด็กไม่ยอมดูดนมจากขวด ก็เป็นเพราะจุกยางมีเนื้อสัมผัสที่แข็งบาดปาก หรือรูของช่องดูดนั้นเล็กจนทำให้อากาศออกมาแทนน้ำนมในขวด ส่งผลให้ลูกน้อยท้องอืดและไม่รู้สึกอยากอาหาร คุณพ่อคุณแม่ต้องเลือกจุกนมที่อ่อนนุ่มและระบายนมได้ดี อาจเป็นวิธีที่ต้องลงทุนกันสักหน่อย แต่เพื่อลูกน้อยแล้ว ก็ควรให้ลองดูดนมจากจุกนมหลาย ๆ ขวด จนกว่าจะมั่นใจได้ว่า เจ้าตัวเล็กนั้นมีท่าทางสะดวกสบาย และผ่อนคลายทุกครั้งเวลาเราป้อนขวดนม

6. เปลี่ยนคนป้อนนมขวด


          สาเหตุหนึ่งที่ลูกไม่ยอมดื่มนมจากขวด นั่นเป็นเพราะรู้สึกคุ้นเคยกับการดื่มนมจากเต้ามาตั้งแต่เกิด พอคุณแม่เป็นคนอุ้มไว้ในอ้อมกอดทีไร ก็พร้อมจะเข้าเต้าเองโดยอัตโนมัติตามสัญชาติญาน พอคุณแม่เปลี่ยนมาป้อนขวดนมให้ ร่างกายก็เลยปฏิเสธเองทันทีด้วยความไม่คุ้นชิน หลังจากนี้ ลองฝึกให้คุณพ่อ หรือญาติพี่น้องป้อนนมลูกกันให้เป็นด้วย จะช่วยทำให้เด็กจำความรู้สึกได้เองว่าถ้าอยู่กับแม่จะได้กินนมจากเต้า แต่ถ้าอยู่กับคนอื่นจะได้กินนมจากขวด โดยคนที่รับหน้าที่ป้อนขวดนม ควรอุ้มเด็กในท่าที่แตกต่าง จากท่าที่คุณแม่อุ้มเป็นประจำด้วยนะคะ

วิธีเลี้ยงลูก

7. คุณแม่ควรออกห่างจากลูกน้อยบ้าง

          เนื่องจากคุณแม่เป็นคนที่อยู่ใกล้ชิดลูกน้อยมาตั้งแต่วันแรกที่เกิด ทำกลายเป็นคนที่เด็กรู้สึกคุ้นเคย ปลอดภัย และอบอุ่นเวลาอยู่ด้วย ถึงแม้ว่าคุณแม่จะไม่ได้เป็นคนป้อนขวดนมด้วยตัวเอง แต่ด้วยกลิ่นหรือเสียง ทำให้เด็กสามารถรับรู้ได้ว่าคุณแม่ยังคงอยู่ใกล้ ๆ และไม่ยอมดูดนมจากขวดที่คนอื่นป้อน เพราะต้องการดื่มนมจากเต้าเหมือนทุกที ดังนั้นเวลาปล่อยให้คนอื่นป้อนขวดนมลูก คุณแม่ควรทิ้งระยะห่างจากลูก หรือไม่ก็ออกไปเดินเล่นข้างนอกเลยก็ได้

8. ใส่อาหารเหลวในถ้วยหัดดื่ม


          สำหรับลูกน้อยที่โตพอจะเริ่มกินอาหารเหลวได้แล้ว แทนที่คุณพ่อคุณแม่จะใช้ชามเป็นภาชนะ ลองเปลี่ยนเป็นใส่อาหารเหลวลงในถ้วยหัดดื่ม หรือที่เรียกกันว่า ซิปปี้ คัพ (Sippy Cup) ดูนะคะ เพราะอาหารเหลวที่รสชาติอร่อยและแปลกใหม่ จะทำให้ลูกอยากอาหารแล้วยอมดื่มจากถ้วยหัดดื่ม พอลูกหิวน้ำหรือนมก็ยื่นขวดไปให้ดื่มสลับกันได้เลย ถือเป็นวิธีที่ช่วยฝึกให้ลูกน้อยคุ้นเคยกับการถือขวดไว้ในมือ และคุ้นเคยกับการดูดอาหารจากขวดไปในตัวอีกด้วย

วิธีเลี้ยงลูก

          เห็นไหมคะว่าแต่ละวิธีนั้นง่ายนิดเดียวเอง แต่ยังไงความอดทนและความพยายามของคุณพ่อคุณแม่ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด เพราะฉะนั้นก็ค่อย ๆ ฝึกฝนกันไปอย่างใจเย็น ไม่ต้องรีบร้อนกันนะคะ ส่วนกระปุกดอทคอมเอง ก็ขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ด้วยอีกแรง ^^

ข้อมูลจาก : sleepingshouldbeeasy.com, yourkidstable.com


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลูกไม่ยอมดูดขวดนม ทำอย่างไรดี กับ 8 วิธีฝึกลูกดูดขวดนมง่าย ๆ สำหรับคุณแม่มือใหม่ อัปเดตล่าสุด 13 ธันวาคม 2561 เวลา 14:09:36 100,550 อ่าน
TOP
x close