x close

การพยาบาลผู้ป่วยเด็ก ท้องเสีย คุณแม่ควรดูแลอย่างไรให้ถูกต้อง

          การพยาบาลผู้ป่วยเด็ก ท้องเสีย เมื่อลูกท้องเสียคุณแม่กลุ้มใจ ถ้าทำอะไรไม่ถูก หรือไม่รู้ว่าควรทำยังไงดี มาศึกษาวิธีดูแลเด็กท้องเสียเบื้องต้นเอาไว้กันเลยค่ะ

โรคเด็ก

          โรคท้องเสีย คือโรคที่ใช้เรียกเมื่อมีอาการถ่ายอุจจาระบ่อยกว่าปกติ ลักษณะคือถ่ายเหลว ถ่ายเป็นน้ำ ถ่ายมีมูก หรือมูกปนเลือด ซึ่งสามารถพบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี จนถึง 5 ปี โดยสาเหตุหลัก ๆ มักจะมาจากเชื้อโรค เชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย เพราะเด็กในวัยนี้มักจะหยิบจับสิ่งของเข้าปาก ทำให้เชื้อโรคต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายได้ง่าย หรือแม้แต่อาหาร น้ำ และขวดนมที่ไม่สะอาดก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกน้อยเกิดอาการท้องเสียได้เช่นเดียวกัน ซึ่งสำหรับคุณแม่หลาย ๆ คนนั้นถือเป็นเรื่องที่น่ากลุ้มใจอย่างมาก เพราะไม่รู้ว่าควรจะรับมืออย่างไรดี เอาเป็นว่าเพื่อให้คุณแม่คลายกังวลเมื่อลูกน้อยมีอาการท้องเสีย กระปุกดอทคอมมีวิธีพยาบาลผู้ป่วยเด็กท้องเสียเบื้องต้นมาฝากกันค่ะ

          1. เบื้องต้นเมื่อแน่ใจแล้วว่าลูกท้องเสีย ควรต้องรีบทดแทนน้ำและเกลือแร่ในร่างกายของลูกน้อยโดยการให้ดื่ม ORS (Oral Rehydration Salt) หรือที่เรียกว่า น้ำเกลือแร่ หรือน้ำตาลเกลือแร่ โดยให้ผสมกับน้ำดื่มต้มสุก หรือน้ำดื่มที่สะอาด สำหรับเด็กเล็กให้ใช้ช้อนตักป้อนทีละน้อยบ่อย ๆ ส่วนเด็กโตให้ใช้จิบทีละน้อยบ่อย ๆ โดยถ้ามีอาการขาดน้ำน้อยหรือถ่ายเหลวไม่มากนัก ให้รับประทานน้ำเกลือแร่ประมาณ 50 ซีซีต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมภายใน 4 ชั่วโมงแรก หรือในรายที่ขาดน้ำปานกลางหรือถ่ายเหลวบ่อยหน่อยให้รับประทานน้ำเกลือแร่ 100 ซีซีต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมใน 4 ชั่วโมงแรก หลังจากนั้นก็ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ทดแทนตามปริมาณอุจจาระที่ถ่ายไปรวมกับปริมาณน้ำที่อาเจียนออก ซึ่งน้ำเกลือแร่นี้จะสามารถทดแทนการสูญเสียน้ำจากการถ่ายท้องได้

          2. ถ้ามีไข้อ่อน ๆ ร่วมด้วย ให้รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล และหมั่นเช็ดตัวเพื่อให้ไข้ลดลง

          3. ในเด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่ ควรให้ดื่มนมแม่ต่อไป โดยอาจให้เด็กดื่มมากกว่าปกติ เพื่อทดแทนสารอาหารที่ขาดไป ส่วนเด็กที่ดื่มนมผสม ควรผสมให้ดื่มในอัตราส่วนปกติ แต่ให้ลดปริมาณลง และชดเชยด้วยการเพิ่มจำนวนมื้อที่มากขึ้น

          4. สำหรับในเด็กโต ควรให้รับประทานอาหารอ่อน ๆ ที่ย่อยง่าย อย่างเช่น ข้าวต้ม โจ๊ก แกงจืด เป็นต้น โดยอาจต้องให้รับประทานมากกว่าปกติ พร้อมกับการดื่มน้ำเกลือแร่จนกว่าจะหยุดถ่าย ซึ่งควรให้รับประทานแบบนี้ไปจนกว่าเด็กจะหยุดท้องเสียและกลับมาถ่ายปกติ จึงค่อย ๆ ปรับให้กลับมารับประทานอาหารปกติตามเดิม

โรคเด็ก

          5. ต้องหมั่นทำความสะอาด ทุกครั้งที่ลูกน้อยถ่ายออกมา คุณแม่จะต้องรีบทำความสะอาด ด้วยการใช้น้ำฝักบัวล้าง หรือใช้สำลีชุบน้ำบีบหมาด ๆ ค่อย ๆ เช็ด เพื่อไม่ให้ก้นของลูกน้อยเกิดการอับชื้นหรือสกปรก รวมถึงควรเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อย ๆ อย่าทิ้งไว้นาน เพราะในอุจจาระของเด็กจะมีน้ำย่อยปนออกมาด้วย ซึ่งอาจทำให้ก้นของเด็กอักเสบ แดง และอาจปวดแสบได้

          6. นอกจากนี้คุณแม่จะต้องหมั่นสังเกตอาการของลูกน้อยด้วย หากรักษาด้วยวิธีเบื้องต้นดังที่กล่าวไปแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรืออาการหนักกว่าเดิม เช่น ยังถ่ายเหลวไม่หยุด ลูกน้อยปากและลิ้นแห้ง ปวดท้อง อาเจียน มีไข้สูง กระหายน้ำมาก ปัสสาวะออกน้อย ร้องไห้ไม่มีน้ำตา หรือตัวเย็น หากมีอาการใดอาการหนึ่งให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที อย่ามัวนิ่งนอนใจ ทั้งนี้คุณแม่ควรเก็บตัวอย่างอุจจาระของลูกน้อยไปให้คุณหมอตรวจเพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุด้วย

          สำหรับโรคท้องเสียในเด็กนี้ จริงอยู่ว่าเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยน่ากังวลเท่าไรนัก หากเด็กมีอาการถ่ายเหลวเพียงอย่างเดียว ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วอาการท้องเสียนี้มักจะหายหรือดีขึ้นเองภายใน 2-3 วัน แต่หากนานกว่านี้ถ้ายังไม่หาย แนะนำให้ผู้ปกครองควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจและรักษา อย่าปล่อยทิ้งไว้นานจนเกินไป เพราะอาจทำให้เด็กเกิดภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นช็อกได้เลยทีเดียว

ขอบคุณข้อมูลจาก : chulakid.com, maeneptune.com, haamor.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
การพยาบาลผู้ป่วยเด็ก ท้องเสีย คุณแม่ควรดูแลอย่างไรให้ถูกต้อง อัปเดตล่าสุด 24 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10:42:59 6,948 อ่าน
TOP