6 วิธีรับมือ...โรคซึมเศร้าหลังคลอด

โรคซึมเศร้าหลังคลอด

           โรคซึมเศร้าหลังคลอดเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ทุกคนค่ะ วันนี้กระปุกดอทคอมมีวิธีรับมืออาการซึมเศร้าหลังคลอด จากนิตยสาร Mother & Care มาแนะนำกันค่ะ เพราะหากคุณแม่รับมือกับภาวะโรคซึมเศร้าและปรับสภาพจิตใจได้เร็วก็จะส่งผลดีกับตัวคุณแม่และการเลี้ยงลูกน้อยได้อย่างมีความสุขค่ะ ^^

           Baby Blue หรือที่เรียกว่า อาการซึมเศร้าหลังคลอด นั้นมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นตัวกระตุ้น เช่น ความเครียดการพักผ่อน ความกังวลในการเลี้ยงลูก และการปรับตัวของคุณแม่เองดังนั้น การเตรียมพร้อมทางด้านร่างกายและจิตใจ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณแม่ผ่านพ้นไปได้ด้วยดีค่ะ

สัญญาณเตือน

           อาการซึมเศร้าหลังคลอดที่เกิดกับคุณแม่ มีความแตกต่างกันออกไป แต่ก็สามารถสังเกตความผิดปกติได้ (ยิ่งรู้เร็วการแก้ไขก็เร็วตามไปด้วย) โดยสังเกตจากเรื่องหลัก ๆ ต่อไปนี้

         อารมณ์เปลี่ยนแปลง จากคนร่าเริงสนุกสนานก็เปลี่ยนเป็นขี้กังวล รู้สึกหดหู่ ซึมเศร้า หรือรู้สึกเครียด หรือจากคนใจเย็นกลายเป็นคนหงุดหงิดโมโหง่ายมากขึ้น ขี้น้อยใจ ร้องไห้แบบไม่มีเหตุผล

         ความคิดเปลี่ยน เช่น คิดช้าลง หรือมีสมาธิในการจดจำน้อยลง

         ประสิทธิภาพ การสื่อสารกับคนอื่น ๆ เปลี่ยนไปในทางลบ บางครั้งอาจเริ่มแยกตัว ไม่สนใจที่จะทำงาน

           ระยะเวลาของอาการซึมเศร้าหลังคลอดนั้นขึ้นอยู่กับคุณแม่แต่ละราย บางคนอาจเป็นแค่สัปดาห์เดียว บางคนอาจนานเป็นเดือน หากไม่รุนแรงอาการจะค่อย ๆ หายไป สิ่งที่จะช่วยได้ดีกับเรื่องนี้คือ คนรอบข้างคุณแม่ที่เข้าใจและรู้ถึงวิธีแก้ไข พร้อมที่จะเป็นกำลังใจ โดยเฉพาะตัวคุณแม่เอง คือคนที่สำคัญที่สุดที่จะต้องดูแลร่างกายและจิตใจของตัวเอง

รับมืออาการ Baby Blue

1. ผ่อนคลายและนอนหลับ

           การผ่อนคลายอารมณ์ด้วยกิจกรรมบันเทิง เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ก็จะช่วยได้ ที่สำคัญควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอด้วยค่ะ โดยคุณอาจนอนพร้อม ๆ กับลูก คุณจะได้ไม่เหนื่อยและหงุดหงิดได้ง่าย พร้อมกับการปฏิบัติภารกิจของคุณ

2. นมแม่ช่วยได้

           ช่วงหลังคลอดปริมาณฮอร์โมนจะลดลง ขณะเดียวกันฮอร์โมนเกี่ยวกับการสร้างน้ำนมแม่จะเพิ่มขึ้น การให้ลูกดูดนมแม่สารความสุขก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณฮอร์โมนความเครียดค่อย ๆ ลดลง ส่งผลให้อารมณ์และความรู้สึกที่แย่ ๆ กลับสู่ปกติ

3. กินอาหารดี มีประโยชน์

           สารอาหารที่ดีต่อร่างกาย ย่อมส่งเสริมให้ระบบการทำงานต่าง ๆ ในร่างกายของคุณทำงานได้ดี มีประสิทธิภาพเป็นการสร้างภูมิต้านทานที่แข็งแรง ปรับสมดุลร่างกายได้เป็นอย่างดี

4. ออกกำลังกาย

           เป็นอีกหนึ่งวิธีในการปรับสมดุลของร่างกาย ช่วยให้ร่างกายและจิตใจของคุณแข็งแรง สดใส แนะนำว่า ควรเป็นการออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การเดิน หรือทำกิจกรรมเบา ๆ

5. มีผู้ช่วย

           การมีผู้ช่วยที่ดีไม่ว่าจะคุณสามี ญาติสนิท หรือพี่เลี้ยงมาช่วยผ่อนแรง เพราะคุณไม่ควรเลี้ยงลูกเพียงลำพังในสถานการณ์ที่จิตใจคุณมีปัญหาเรื่องอาการซึมเศร้า

6. คิดบวก

           เป็นวิธีที่ง่ายและดีทีเดียว เพราะจะช่วยให้คุณสามารถควบคุมอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ที่เป็นลบเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ที่จริงแล้วอะไรที่คุณแม่คิดว่าทำแล้วรู้สึกสบายใจและดีต่อตัวเอง นอกจากวิธีที่เอ่ยมาก็ทำได้เลยนะคะ เพราะหากทำแล้วคุณแม่แฮปปี้ ลูกน้อยและคนรอบข้างก็ย่อมรู้สึกดีตามไปด้วยค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.11 No.130 ตุลาคม 2558

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
6 วิธีรับมือ...โรคซึมเศร้าหลังคลอด อัปเดตล่าสุด 26 ธันวาคม 2566 เวลา 15:31:14 3,982 อ่าน
TOP
x close