
อาการรู้สึกเบื่อ เหงา ซึมเศร้า อาจเป็นภาวะโรคซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัว
ท้องนี้มีแต่ซึมเศร้า (รักลูก)
เรื่อง : เมธาวี เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ พญ.กุลธิดา ทรัพย์สมุทรชัย สูตินรีแพทย์ประจำศูนย์สุขภาพหญิง โรงพยาบาลพญาไท 3
ทำไมตั้งครรภ์สมกับที่รอคอยแล้ว แต่กลับรู้สึกเบื่อ ซึมเศร้า เหงา ไม่รู้สึกตื่นเต้นยินดีเลยนี่เกิดอะไรขึ้น ? หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีภาวะดังกล่าว อาจเกิดจากการเป็นโรคซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัว แล้วจะมีผลกับลูกน้อยในครรภ์หรือไม่ ไปตามหาคำตอบกันเลยค่ะ

ภาวะซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์ พบได้ร้อยละ 14-23 ค่ะ สาเหตุเชื่อว่ามาจากหลายปัจจัย ทั้งพันธุธรรม จิตใจ ฮอร์โมน และสิ่งแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเมื่อตั้งครรภ์อาจกระตุ้นให้เกิดโรคซึมเศร้า ขณะตั้งครรภ์ได้ (Antenatal depression or prenatal depression) ขณะเดียวกันพบว่า ภาวะซึมเศร้าเกิดจากความเครียดกังวลขณะตั้งครรภ์ การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม ภาวะมีบุตรยาก การมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์การใช้สารเสพติด หรือปัญหาครอบครัว ก็ล้วนมีส่วนกระตุ้นให้เกิดภาวะซึมเศร้าในแม่ท้องได้ค่ะ

คุณแม่ตั้งครรภ์จะมีความผิดปกติในการกินอาหารอยู่แล้ว คือมีอาการแพ้ท้องในช่วงไตรมาสแรกที่มีอาการมากทำให้กินอาหารได้น้อย แต่พอหายแพ้ท้องก็จะเริ่มกินได้มากขึ้น แต่ข้อแตกต่างของคุณแม่ที่มีภาวะซึมเศร้าคือจะกินอาหารมากโดยไม่สัมพันธ์กับการตั้งครรภ์ เวลาเครียดจะรู้สึกอยากกิน ถ้าไม่ได้กินจะหงุดหงิด โมโหง่าย ต้องกินให้ได้ทำให้เกิดโรคอ้วนได้ง่าย เนื่องจากภาวะซึมเศร้าจะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนไปกระตุ้นความหิวทำให้อยากกินอาหารมากกว่าปกติ ส่งผลให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น หากปล่อยไว้ และคิดว่าหลังคลอดน้ำหนักคงจะลดได้เอง ไม่ควบคุมตัวเองขณะตั้งครรภ์ คุณแม่อาจกลายเป็นโรคอ้วนและมีโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้

คุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นโรคซึมเศร้า จะสมาธิไม่ดี ความจำลดลง อารมณ์เศร้าหมอง ท้อแท้ เบื่อหน่าย หดหู่ หงุดหงิด นอนหลับได้น้อย ตื่นบ่อยหรือตื่นเช้ากว่าปกติ รู้สึกเหนื่อยง่ายแม้ใช้แรงเพียงเล็กน้อย ความอยากกินอาหารลดลง น้ำหนักตัวลดลง หรือตรงข้ามกลับกินมากผิดปกติ ทำให้น้ำหนักขึ้นมากผิดปกติโดยไม่สัมพันธ์กับการตั้งครรภ์ ความต้องการทางเพศลดลง มีความกลัวสิ่งต่าง ๆ ร่วมกับการตั้งครรภ์ คิดแต่เรื่องในแง่ร้ายหมดหวัง สิ้นหวัง และรู้สึกผิด เศร้าตลอดเวลา และอาจมีความคิดหรือการกระทำที่จะทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตายได้ค่ะ

โรคซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์ถ้าคุณแม่ไม่รักษาจะมีผลกระทบกับลูกน้อยในครรภ์ได้ โดยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคือ อาจคลอดก่อนกำหนด ลูกมีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย หรือมีพัฒนาการผิดปกติร่างกายไม่แข็งแรง ที่สำคัญอาจส่งผลต่อพัฒนาการด้านอารมณ์ของลูก ทำให้เป็นเด็กขาดสมาธิ อารมณ์หงุดหงิดง่าย ไม่ร่าเริง กระวนกระวายง่ายกว่าทารกที่เกิดจากแม่ที่ไม่มีภาวะซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์ และการที่คุณแม่มีภาวะซึมเศร้านั้นส่งผลต่อพัฒนาการด้านอารมณ์และการเรียนรู้ของลูกในอนาคตได้ค่ะ
4 วิธี แม่ท้องขจัดซึมเศร้า




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 32 ฉบับที่ 381 ตุลาคม 2557