ภูมิคุ้มกันของหนู เริ่มต้นที่แม่

ตั้งครรภ์


ภูมิคุ้มกันของหนู เริ่มต้นที่แม่
(รักลูก)
เรื่อง : ณัฐสุดา ไพริน เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ นพ.พูนศักดิ์ สุขนวณิช สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท

           ถ้าร่างกายของคุณแม่สมบูรณ์และแข็งแรง ลูกน้อยก็จะยิ่งปลอดภัยและแข็งแรงไปด้วย เพราะพัฒนาการระบบภูมิคุ้มกันของคนเรา เริ่มต้นตั้งแต่ตอนเป็นทารกน้อยในครรภ์นั่นเองค่ะ

Me..ร่างกายหนู

           หนูมีภูมิคุ้มกันแบบไหน

           โดยทั่วไปแล้ว ภูมิคุ้มกันแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

           1. ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ เช่น IgM มีอยู่ในร่างกายตามธรรมชาติ โดยได้รับจากแม่ผ่านทางรก

           2. ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นเอง ซึ่งเกิดจากการได้รับเชื้อโรคแล้วร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา และอีกกรณีหนึ่งคือ ภูมิคุ้มกันที่ถูกกระตุ้นโดยการฉีดวัคซีนต่าง ๆ

           สำหรับทารกที่ยังอยู่ในครรภ์ ภูมิคุ้มกันส่วนใหญ่จะเป็นประเภทแรก คือได้รับถ่ายทอดจากแม่เป็นหลัก โดยมีการตรวจพบเซลล์ภูมิคุ้มกันในช่วงอายุครรภ์ต่าง ๆ ดังนี้

          สัปดาห์ที่ 9 พบเซลล์เลือดขาวชนิด B Lymphocyte ในตับ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของระบบภูมิคุ้มกัน

          สัปดาห์ที่ 12 เซลล์ภูมิคุ้มกันเริ่มกระจายไปในกระแสเลือด

          สัปดาห์ที่ 13 ระบบภูมิคุ้มกันเริ่มทำงาน

          สัปดาห์ที่ 14 พบเซลล์ภูมิคุ้มกันชนิด T Lymphocyte ซึ่งผลิตโดยต่อมไทมัส และเมื่อเซลล์นี้ทำงานจะมีตัวช่วย (Helper Cell) ในการจับเชื้อโรค

          สัปดาห์ที่ 20 หรือเดือนที่ 5 ระบบภูมิคุ้มกันจะทำงานแบบครบวงจร และพัฒนาเพิ่มอีก เช่น มีการสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวแบบ Monocyte ในช่วงคลอด เพื่อปกป้องทารกที่กำลังจะออกไปสัมผัสกับโลกภายนอก

เชื้อโรคจากแม่ติดต่อถึงหนูได้ไหม

          แม้ว่าโดยปกติแล้วระบบเลือดของแม่กับลูกจะแยกกัน โดยมีจุดเชื่อมที่บริเวณรกแค่ประมาณ 140 มิลลิลิตร แต่ก็มีเชื้อโรคบางชนิดที่สามารถถ่ายทอดจากแม่ไปสู่ลูกได้ เช่น ไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคหัดเยอรมัน คางทูม โปลิโอ และแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคชิฟิลิส มาลาเรีย วัณโรค เป็นต้น หรือแม้กระทั่งพยาธิที่ทำให้เป็นโรค Toxoplasmosis ก็สามารถแพร่ไปยังลูกน้อยในครรภ์ได้เช่นกัน ซึ่งการติดเชื้อเหล่านี้ค่อนข้างอันตราย โดยเฉพาะในช่วง 13 สัปดาห์แรก เพราะอาจส่งผลทำให้ทารกพิการ และบางกรณีอาจต้องยุติการตั้งครรภ์

          อย่างไรก็ตามคุณแม่ที่ปรึกษาคุณหมอและเตรียมตัวอย่างดีก่อนการตั้งครรภ์คงจะสังเกตได้ว่าโรคติดเชื้อต่าง ๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่มีการฉีดวัคซีนป้องกันเรียบร้อยแล้ว ซึ่งนี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่การฝากครรภ์มีความสำคัญอย่างมาก

Mommy…เคล็ดลับดูแลครรภ์

          เพราะหนูน้อยในครรภ์ได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่เป็นหลัก ดังนั้น แม่ท้องจึงควรใส่ใจดูแลสุขภาพและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของตนเองตามคำแนะนำต่อไปนี้ค่ะ

           ฝากครรภ์เพื่อรับวัคซีนที่จำเป็น วัคซีนภูมิคุ้มกันที่แม่ท้องได้รับจะถูกถ่ายทอดไปสู่ลูกในครรภ์ด้วย เช่น วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไข้ทรพิษ รวมไปถึงอาการต่าง ๆ เช่น ภาวะแพ้ทางผิวหนัง เยื่อบุตา จมูก เป็นต้น โดยวัคซีนส่วนใหญ่ควรได้รับตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เพราะผลิตจากเชื้อโรคโดยตรง เช่น วัคซีนหัดเยอรมัน ส่วนวัคซีนที่สามารถรับระหว่างตั้งครรภ์ได้ ได้แก่ วัคซีนตับอักเสบบี และวัคซีนโรคติดเชื้อตามฤดูกาล เช่น ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะช่วยปกป้องทารกไปจนคลอด เพราะฉะนั้นการฝากครรภ์จึงเป็นตัวช่วยให้แม่ท้องได้รับการดูแลสม่ำเสมอและประเมินสุขภาพย่างเหมาะสมว่าควรได้รับวัคซีนชนิดใดบ้าง

           กินให้ได้สารอาหารครบถ้วน คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ควรได้รับสารอาหรครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะโปรตีนและผักผลไม้ ที่ใช้สร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย คุณแม่ที่ได้รับโปรตีนเพียงพอจะมีภูมิคุ้มกันที่ดี ขณะที่คุณแม่ที่ขาดสารอาหารจะพบว่ามีอัตราการติดเชื้อสูง

          สำหรับแหล่งของโปรตีนที่แม่ท้องควรได้รับ ได้แก่ เนื้อสัตว์ ไข่ นม และถั่วต่าง ๆ บางคนที่กังวลว่าการดื่มนมมากเกินไปจะทำให้ลูกเป็นภูมิแพ้ ก็สามารถกินโปรตีนเสริมได้

           ดื่มน้ำเยอะ ๆ น้ำเป็นตัวช่วยกระจายสารอาหารต่าง ๆ เพื่อสร้างเป็นภูมิคุ้มกัน ถ้าร่างกายมีปริมาณน้ำเพียงพอก็สามารถกระจายสารอาหารไปได้อย่างทั่วถึง

           ลดโอกาสเสี่ยงติดเชื้อ ถ้าระหว่างตั้งครรภ์ แม่ท้องไม่มีการติดเชื้อใด ๆ เลย เมื่อถึงช่วงคลอด ลูกน้อยก็จะไม่มีความเสี่ยงตามมา

          วิธีเลี่ยงโอกาสติดเชื้อสามารถทำให้ด้วยการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี อากาศถ่ายเทสะดวก ห้องสะอาดไม่มีฝุ่นเยอะ รวมทั้งการมีเครื่องกรองอากาศไว้ในบ้านก็จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้

           หลีกเลี่ยงความเครียด ความเครียดมีผลทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง คุณแม่ที่ตั้งครรภ์จึงควรดูแลอารมณ์ของตัวเองให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ ซึ่งจะส่งผลดีต่อลูกน้อยในท้องอย่างมาก

           พักผ่อนให้เพียงพอ แม่ท้องควรพักผ่อนอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง และถ้าได้นอนกลางวันด้วยก็จะยิ่งดี เพราะเวลาเรานอนหลับถือเป็นช่วงที่ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี

           ออกกำลังกาย เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง โดยแม่ท้องควรเลือกประเภทของการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับอายุครรภ์นะคะ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 31 ฉบับที่ 375 เมษายน 2557


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ภูมิคุ้มกันของหนู เริ่มต้นที่แม่ อัปเดตล่าสุด 1 กรกฎาคม 2557 เวลา 14:34:02 3,171 อ่าน
TOP
x close