น้ำหนักเกินก่อปัญหาเมื่อตั้งครรภ์ (modernmom)
เรื่อง : รศ.นพ.วิทยา ติฐาพันธ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลศิริราช
ในอดีตวงการแพทย์ไม่ค่อยได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ของคนอ้วนเท่าไร เพราะเจอไม่ค่อยมาก แต่ปัจจุบันนี้ไม่ว่าที่ไหนในโลกปัญหาการตั้งครรภ์ในคนอ้วนได้รับความสนใจกันทั้งนั้น เพราะเจอบ่อย (แสดงว่าคนอ้วนก็มีคนรักเยอะนะจะบอกให้) บางโรงพยาบาลในยุโรปถึงกับตั้งหน่วยงานที่ดูแลคนอ้วนโดยเฉาพะก็มี ผลของความอ้วนที่มีต่อคุณแม่ที่ตั้งครรภ์มีมากมายหลายประการครับ
น้ำหนักมาก เพิ่มความเสี่ยง
ผมจะขอแยกกล่าวเป็นช่วง ๆ ไปเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจดังนี้ครับ
ระยะเริ่มตั้งครรภ์ : คุณแม่ที่อ้วนเสี่ยงต่อการแท้งบุตร หรือทารกในครรภ์มีความพิการมากกว่าคุณแม่ที่ไม่อ้วน ความพิการที่ว่าก็เช่น ความผิดปกติของระบบไขสันหลัง ความพิการของหัวใจ ผนังหน้าท้องไม่ปิดหรือปากแหว่งเพดานโหว่ ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ วงการแพทย์ก็ยังตอบไม่ได้เหมือนกัน แต่เชื่อกันว่าปริมาณของสารอาหารที่ใช้ในการพัฒนาการของทารกในครรภ์มีสัดส่วนที่ไม่พอเหมาะมีน้ำตาลและไขมันมากเกินไปทำให้พัฒนาการของทารกผิดปกติ ถ้ารุนแรงมากก็แท้งเลย ถ้าไม่แท้งทารกก็อาจพิการได้
ระยะหลังของการตั้งครรภ์ : คุณแม่ท่านใดที่ฝ่าด่านแรกมาได้ก็อาจประสบปัญหาในช่วงหลังของการตั้งครรภ์ได้อีก ที่พบได้บ่อยมากก็คือ เป็นโรคเบาหวานจากการตั้งครรภ์ และอีกโรคหนึ่งคือความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ โรคทั้ง 2 นี้เวลาไม่ตั้งครรภ์อาจจะไม่เป็น แต่พอตั้งครรภ์จะมาเยี่ยมเยือนทันที ทำไมมันถึงชอบเป็นในคนอ้วนนักก็ไม่รู้ แต่เชื่อว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับปริมาณไขมันในร่างกาย โรคที่ว่าทั้ง 2 ก่อปัญหาให้คุณแม่และทารกในครรภ์ไม่น้อย กรณีโรคเบาหวานถ้าเป็นขณะตั้งครรภ์แล้วไม่ได้รับการดูแลและควบคุมระดับน้ำตาลให้ดี คุณแม่อาจช็อกได้ ส่วนโรคความดันโลหิตสูงถ้าควบคุมไม่ดี ก็อาจทำให้คุณแม่ชักหรือตับวายถึงตายได้
สำหรับทารกในครรภ์ ถ้าคุณแม่เป็นเบาหวานแล้วควบคุมน้ำตาลไม่ดี อาจจะตายในครรภ์เลยก็ได้ บางคนไม่ตายก็เลี้ยงไม่ค่อยโตหรือโตมากกว่าปกติเพราะควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก น้ำตาลที่มีมากสามารถผ่านรกไปให้ทารกได้ ทำให้ทารกรับน้ำตาลเข้าไปเต็มที่เลยอ้วนเอ้าอ้วนเอา ตัวก็เลยใหญ่ แต่อย่าดีใจนะครับ เพราะใหญ่แบบนี้จะใหญ่แบบฉุ ๆ ไม่แข็งแรง
ขณะคลอด : ส่วนมากคุณแม่ที่อ้วน ทารกมักจะตัวโตซึ่งอาจจะเป็นผลจากความอ้วนเอง หรือผลจากโรคเบาหวานที่แทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ ผลก็คือเวลาเจ็บครรภ์คลอดก็อาจจะเจ็บอย่างทรมาน และยาวนาน ถ้าคลอดทางช่องคลอดอาจเป็นอันตรายได้ทั้งคุณแม่และทารก เนื่องจากทารกมักตัวใหญ่จึงมักคลอดยาก บางทีหัวคลอดออกมาแล้วไหล่ไม่ยอมออก เมื่อพยายามดึงออกมาอาจทำให้กระดูกไหปลาร้าหักได้ ส่วนคุณแม่เองถ้าทารกคลอดทางช่องคลอด ช่องคลอดก็มักจะฉีกขาดมากชนิดที่คุณหมอใช้เวลานั่งเย็บแผลได้ครึ่งวันเลยล่ะครับ
ทีนี้ถ้าตัดสินใจเอาคุณแม่ที่อ้วนไปผ่าคลอดเพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาที่ว่าข้างต้น ลองนึกภาพดูนะครับว่า หน้าท้องของคนอ้วนจะหนาแค่ไหน บางคนแค่กรีดมีดที่หน้าท้อง ไขมันก็เผละออกมาให้เห็นแล้ว กว่าจะฝ่าด่านไขมันเข้าไปถึงช่องท้อง คุณหมอบางคนก็เหงื่อหยดแล้ว เพราะมันลึกจริง ๆ นอกจากจะลึกแล้ว เวลาจะทำคลอดทารกก็ต้องดึงรั้งแผลค่อนข้างมากทำให้ชอกช้ำได้ง่าย หลังผ่าคลอดไปแล้วต้องเย็บปิดแผลอีก แผลที่ทั้งใหญ่และหนาย่อมเย็บยากและใช้เวลานาน ทำให้แผลผ่าตัดติดเชื้อได้ง่ายกว่าคุณแม่ที่ผอมกว่า
หลังคลอด : ทารกในครรภ์ของคุณแม่ที่อ้วนมักตัวใหญ่ ผลดังกล่าวทำให้มดลูกของคุณแม่ถูกยืดขยายมาก ดังนั้นภายหลังคลอดมดลูกซึ่งควรจะหดรัดตัวได้ดีก็จะหดรัดตัวได้ไม่ดีเหมือนกับยางยืดที่ถูกยืดมากเกินไปเลยหดตัวไม่ดี ผลก็จะทำให้ตกเลือดหลังคลอดได้ คุณแม่บางรายอาจต้องตัดมดลูกทิ้งเพราะเลือดออกไม่หยุดจากมดลูกหดรัดตัวไม่ดีก็มี
มดลูกที่หดรัดตัวไม่ดี ยังทำให้มีเลือดคั่งค้างในมดลูกมาก ซึ่งเลือดที่คั่งค้างนี้เป็นอาหารอันโอชะของเชื้อแบคทีเรีย และทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย ถ้าให้ยารักษาไม่ดี เชื้อโรคอาจกระจายเข้าหลอดเลือดไปทั่วร่างกายทำอันตรายถึงตายได้นะครับ
สุขภาพทารกหลังคลอด
ทารกที่เกิดจากคุณแม่ที่อ้วน นอกจากจะต้องฝ่าฟันอันตรายตอนคลอด เช่น กระดูกหัก หรืออันตรายต่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแล้ว ถ้าทารกในครรภ์ตัวใหญ่ก็มักที่จะชินต่อการรับอาหารทางสายสะดือโดยเฉพาะอาหารพวกน้ำตาลมากกว่าปกติ ภายหลังคลอดและตัดสายสะดือ ปริมาณน้ำตาลที่ได้รับจะถูกตัดขาดทันที ทารกบางคนทนไม่ได้เกิดอาการชักจากการขาดน้ำตาลได้ ปัญหาที่พบได้บ่อยอีกประการหนึ่งในทารกตัวใหญ่ก็คือตัวเหลือง ถ้าตัวเหลืองไม่มากก็แล้วไป บางคนตัวเหลืองมากจนต้องถ่ายเลือดก็มี มิฉะนั้นอาจเสียชีวิตได้
เตรียมตัวให้ดี ก่อนตั้งครรภ์
เห็นไหมครับว่าการตั้งครรภ์ของคนอ้วนไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เลยเพราะมีสารพัดปัญหาที่รออยู่ แต่ก่อนที่จะคิดเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์ควรจะลดน้ำหนักลงจนค่า ดัชนีมวลกาย (Body Mass Index หรือเรียกย่อ ๆ ว่า BMI) อยู่ในเกณฑ์คนที่น้ำหนักปกติ เห็นค่าตัวเลขแล้วบางคนก็หมดกำลังใจเพราะคำนวณเท่าไรค่า BMI ของตัวเองก็ยังสูงกว่าค่า BMI ของคนที่น้ำหนักปกติอยู่ลิบลิ่ว ผมอยากให้กำลังใจครับว่า พยายามลดเถอะครับ จะลดได้เท่าไรไม่สำคัญหรอกครับ ขอให้ลดก็แล้วกัน แค่นี้ก็ถือว่าคุณมีชัยชนะให้ตัวเองแล้วครับ
วิธีการลดน้ำหนักให้ได้ผลมีประเด็นปัญหาอยู่แค่ 2 อย่างคือ การรับประทานอาหาร และการออกกำลังกาย ลองมาดูทีละประเด็นนะครับ
การรับประทานอาหาร : ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการรับประทานอาหารขณะตั้งครรภ์กันค่อนข้างมาก คุณแม่จำนวนไม่น้อยมีความเข้าใจหรือความเชื่อว่า เมื่อมีการตั้งครรภ์จะต้องรับประทานอาหารให้มากขึ้นเพราะเป็นการรับประทานสำหรับคน 2 คน ถ้าควบคุมปริมาณอาหารและน้ำหนักขณะตั้งครรภ์จะทำให้เมื่อคลอดออกมาลูกจะตัวเล็กและไม่แข็งแรง คุณแม่จำนวนไม่น้อยจึงตะบี้ตะบันรับประทานอาหารกันเต็มที่โดยหวังจะมาลดน้ำหนักกันภายหลังคลอด ความเชื่อเหล่านี้ขอเรียนว่าผิดทั้งสิ้น และทำให้เกิดอันตรายในระยะยาวต่อทั้งคุณแม่และลูกที่จะเกิดมาในอนาคต การรับประทานอาหารที่มากเกินไปจะทำให้ทั้งแม่และลูกอ้วนมากเกินปกติ คุณแม่ที่อ้วนจะมีปัญหาแทรกซ้อนทั้งต่อตัวคุณแม่เองและต่อลูกที่จะคลอดออกมาได้มากมายดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
คุณแม่ควรปรับเปลี่ยนทัศนคติในการรับประทานอาหารเสียใหม่ เน้นการรับประทานอาหารให้ครบทุกหมวดหมู่ทั้ง โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน เกลือแร่ วิตามิน และน้ำ ในปริมาณที่เหมาะสมของแต่ละหมวดหมู่
ลด : อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต เช่น แป้ง น้ำตาล และอาหารกลุ่มไขมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัว เช่น มันหมู ของทอด
เพิ่ม : อาหารกลุ่มไขมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว เช่น ปลาทะเล สาหร่ายทะเล น้ำมันพืช อาหารกลุ่มโปรตีน เช่น พวกเนื้อสัตว์ไม่ติดมันและถั่ว พืชผักใบเขียวชนิดต่าง ๆ ให้มากขึ้น เพราะมีวิตามินและเกลือแร่ต่าง ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก เป็นต้น
และทั้งหมดจะต้องกำกับโดยการเพิ่มของน้ำหนักตัวของคุณแม่ โดยไม่ควรให้น้ำหนักตัวของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์เพิ่มมากเกินไป ข้อมูลของประเทศไทยจากการศึกษาที่โรงพยาบาลศิริราช พบว่าถ้าคุณแม่อ้วนอยู่แล้ว น้ำหนักตัวที่ควรเพิ่มขึ้นตลอดการตั้งครรภ์ไม่ควรจะเกิน 4-8 กิโลกรัม ซึ่งจะเห็นว่าเป็นการเพิ่มที่น้อยมาก ถ้าเพิ่มมากกว่านี้ภาวะแม่และลูกอ้วนก็จะตามมาหาทันทีครับ
การออกกำลังกาย : หญิงไทยจำนวนไม่น้อยไม่ชอบออกกำลังกาย ยิ่งเมื่อมีการตั้งครรภ์ยิ่งไม่ออกกำลังกายเลย ด้วยความเชื่อที่ว่า การออกกำลังกายจะเป็นอันตรายต่อลูกในท้อง ขอเรียนให้ทราบว่าความเชื่อเช่นนี้ผิดครับ คุณแม่ที่ตั้งครรภ์แล้วไม่ยอมออกกำลังกายเลยมีโอกาสอย่างยิ่งที่จะมีน้ำหนักเกินหรืออ้วน ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนมากมายดังกล่าวข้างต้น
ผมอยากแนะนำให้คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ทุกคนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ที่อ้วน อย่าอยู่เฉยครับ มาออกกำลังกายกันดีกว่า การออกกำลังกายในขณะตั้งครรภ์สมารถทำได้หลายอย่าง โดยยึดหลักว่า ต้องเป็นการออกกำลังกายที่ไม่รุนแรง ไม่หักโหม ไม่ก่อให้เกิดอันตราย โดยควรออกกำลังกายวันละประมาณ 30 นาที และประมาณ 3-5 วันต่อสัปดาห์ ตัวอย่างของการออกกำลังกายที่คุณแม่ทำได้ เช่นการว่ายน้ำ การเดินเร็ว ๆ การเหยียดแขนขา การบิด ก้มตัว เป็นต้น
อยากฝากย้ำถึงคุณแม่ว่า การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อทั้งตัวคุณแม่และลูกในครรภ์ คือการรับประทานอาหารที่ไม่เน้นปริมาณ แต่เน้นคุณภาพและความหลากหลายของอาหาร โดยใช้การเพิ่มของน้ำหนักตัวเป็นตัวกำกับไม่ให้รับประทานอาหารมากเกินไป ส่วนการออกกังกายขณะตั้งครรภ์จะเป็นตัวช่วยเสริมให้คุณแม่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในปริมาณที่สมควรไม่มากเกินไป ทั้งสองเรื่องต้องทำควบคู่กันเพื่อผลที่ดีต่อสุขภาพของทั้งตัวคุณแม่และลูกในครรภ์ครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.19 No.223 พฤษภาคม 2557