เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
การรับมือกับลูกเล็กในวัยไล่เลี่ยกันเป็นสิ่งที่ทำให้คุณแม่เหนื่อยยกกำลังสอง สาม สี่ ดังนั้นจะดีแค่ไหนถ้าเรามีวิธีรับมือลูกเล็กวัยไล่เลี่ยกันไว้คอยช่วยคุณแม่คนเก่ง ซึ่งวิธีรับมือดับความซนในระดับที่ใกล้เคียงกันของเจ้าตัวเล็กก็พร้อมเสิร์ฟคุณแม่อยู่ตรงนี้แล้วค่ะ
สำหรับครอบครัวที่เพิ่งต้อนรับลูกคนที่สอง หรือคนที่สามเมื่อไม่นานมานี้ ทั้ง ๆ ที่ลูกคนแรกก็เพิ่งจะอายุไม่เกิน 2 ขวบ เชื่อได้เลยว่าคุณแม่และคุณพ่อคงรู้สึกหมือนเกิดความโกลาหลย่อม ๆ ภายในบ้าน ซึ่งถ้ากำลังมองหาวิธีรับมือความซนของเจ้าตัวเล็กกันอยู่ วันนี้กระปุกดอทคอมก็มีวิธีรับมือลูกเล็กในวัยไล่เลี่ยกันมาฝากคุณแม่คนเก่งทุกคนด้วยจ้า
1. เตรียมใจยอมรับความวุ่นวายที่กำลังจะเกิดขึ้น
สิ่งแรกที่คุณแม่ควรทำ คือ เตรียมใจรับมือกับความโกลาหลที่กำลังจะอุบัติขึ้นในไม่ช้า โดยเฉพาะเมื่อลูกรักทุกคนอยู่ในวัยกำลังคลาน หรือหัดเดิน ทั้งคุณพ่อและคุณแม่จะไม่มีเวลาส่วนตัวของตัวเองต่อไปอีกสักระยะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นการเตรียมใจให้แข็งแกร่งพอจะรับมือความซนของลูก ๆ เพียงแค่ระยะสั้น ๆ เท่านั้น เมื่อเด็ก ๆ เติบโตพอที่จะช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง ความเหนื่อยของคนเป็นพ่อเป็นแม่ก็จะค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ
2. ขอกำลังสนับสนุน
ต่อให้เป็นสุดยอดคุณแม่ผู้แข็งแกร่ง ยังไงก็ต้องยอมสยบให้เจ้าตัวเล็กที่กำลังมีพัฒนาการขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งตรงนี้ก็บอกไว้เลยว่าคุณแม่จะเหนื่อยมากกว่าการเลี้ยงลูกคนเดียวอีกหลายเท่าเลยทีเดียว ฉะนั้นในช่วงเวลาที่เด็ก ๆ งอแง และต้องการการดูแลด้วยกันทั้งคู่ คุณแม่ก็อย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างเลยนะคะ โดยเฉพาะหากครอบครัวไหนที่มีกูรูเรื่องการเลี้ยงเด็กอย่างคุณย่าคุณยายอยู่ร่วมกันด้วย อย่างนี้ขอกำลังสนับสนุนคุณแม่ได้ไม่ยาก
3. เสริมความสะดวกด้วยรถเข็นเด็กคู่
คุณแม่คงไม่อยากมีสภาพน่าเหนื่อยใจที่ต้องอุ้มลูกคนเล็กไว้ในอ้อมอก และในขณะเดียวกันก็ต้องไล่จับเจ้าตัวแสบคนพี่ไปด้วยหรอกจริงไหมคะ ถ้าอย่างนั้นเรามาจบปัญหาวุ่น ๆ อย่างนี้ด้วยการลงทุนซื้อรถเข็นเด็กคู่มาให้เจ้าตัวเล็กนั่งเลยดีกว่า คราวนี้คุณพ่อคุณแม่ก็จะควบคุมการเคลื่อนไหวของลูก ๆ ได้อย่างชิล ๆ แล้ว
4. กล่อมลูก ๆ ให้นอนพร้อมกัน
ช่วงเวลาที่ลูกนอนหลับเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่น่าจะพอหายใจหายคอได้บ้าง แต่ถ้าลูกคนใดคนหนึ่งไม่ยอมนอนขึ้นมา แน่นอนว่าคุณแม่คงได้สิทธิ์เหนื่อยต่อแบบไม่ต้องสงสัย ฉะนั้นลองฝึกให้ลูก ๆ นอนหลับพร้อมกันไปเลยดีกว่า ซึ่งในช่วงแรกเด็ก ๆ อาจจะมีงอแงบ้างเป็นเรื่องปกติ แต่ขอให้คุณแม่ทนเหนื่อยสักหน่อย เพื่อความสบายในอนาคตข้างหน้านะคะ
5. ฝึกเด็ก ๆ ให้ใช้ชีวิตเป็นกิจวัตร
การฝึกให้เด็ก ๆ ใช้ชีวิตตามตารางกิจวัตรประจำวัน เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ดีทั้งกับคุณแม่และคุณลูกพอ ๆ กัน เนื่องจากเด็ก ๆ จะเกิดความเคยชินว่าในแต่ละวันควรต้องทำอะไรบ้าง มีช่วงเวลาที่แน่นอนสำหรับกิจกรรมแต่ละอย่าง ส่วนคุณแม่ก็จะเลี้ยงลูก ๆ อย่างราบรื่นมากขึ้น เพราะเด็ก ๆ ก็จะทำกิจวัตรของเขาอย่างไม่งอแงมากนัก
6. หาแนวร่วม
คงจะดีไม่น้อยถ้าคุณแม่ได้พูดคุย หรือมีสังคมกับกลุ่มคุณแม่ที่มีลูกในวัยไล่เลี่ยกันกับเจ้าตัวเล็กของเรา จะได้แลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน รวมทั้งพูดคุยถึงพัฒนาการ และสไตล์การเลี้ยงดูลูกเล็กในวัยไม่เกินสองขวบอย่างสนุกสนาน เผลอ ๆ คุณแม่อาจจะเกิดไอเดียดี ๆ ในการเลี้ยงลูกเพิ่มขึ้นอีกมากมายเลยก็ได้
7. ดูแลตัวเองให้ดี
ไม่ว่าจะกี่เคล็ดลับเลี้ยงดูลูก หรือกลวิธีรับมือลูกที่ว่าเริ่ดแค่ไหนก็คงใช้ไม่ได้ผล หากคุณแม่ลืมดูแลสุขภาพตัวเองจนล้มป่วย ไร้เรี่ยวแรงเลี้ยงลูกไปซะอย่างนั้น และก็คงไม่ดีแน่ ๆ ถ้าคุณแม่จะเป็นคุณแม่ที่แสนโทรม ดูเหนื่อยล้าจนรังสีของความสดชื่นกระปรี้กระเปร่าหายไป ซึ่งวิธีการดูแลตัวเองให้เป็นคุณแม่แสนเฟรชก็ทำไม่ยากค่ะ เพียงแค่รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ หรือจะกินอาหารพร้อม ๆ กับตอนที่ป้อนลูกก็ได้ พร้อมกันนั้นก็ควรหาเวลาไปออกกำลังกาย ฟิตหุ่นให้แข็งแรงและเฟิร์มอยู่ตลอด สมกับที่เป็นคุณแม่คนเก่งของเด็ก ๆ
ลำพังแค่เลี้ยงลูกคนเดียวก็เหนื่อยสายตัวแทบขาด แต่ถึงอย่างนั้นเมื่อมีโซ่ทองคล้องใจเพิ่มมาอีกคน หรืออีกหลาย ๆ คน เราก็เชื่อว่าพลังความรักของคุณแม่ และคุณพ่อย่อมต้องมีเหลือเฟือ และสามารถดูแลลูก ๆ ทุกคนให้เติบโตมาพร้อมสมบูรณ์อย่างครบถ้วนทุกด้านอย่างแน่นอน