ท้องนี้กับวัคซีนไข้หวัดใหญ่

วัคซีนไข้หวัดใหญ่แม่ท้อง

ท้องนี้กับวัคซีนไข้หวัดใหญ่
(รักลูก)
เรื่อง : สิริพร เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ พญ.ธิศรา วีรสมัย สูตินรีแพทย์และหัวหน้าศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลพญาไท1

          จากสถิติประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วงที่มีการระบาดของเชื้อ H1N1 หญิงตั้งครรภ์มีอัตรา การเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลสูงกว่าประชากรทั่วไปถึง 4 เท่า

          โดยในจำนวนร้อยละ 9 ต้องนอนในห้อง ICU และร้อยละ 4-13 ของผู้เสียชีวิตเป็นหญิงตั้งครรภ์โดยภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อย คือปอดบวม หายใจล้มเหลว ยิ่งถ้ามีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคปอด โรคโต โรคหัวใจ โลหิตจาง จะยังเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นค่ะ

 ทำไม...แม่ท้องเสี่ยงไข้หวัดใหญ่

          เพราะในช่วงที่ตั้งครรภ์คุณแม่ท้องจะมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระและภูมิคุ้มกันที่แย่ลงจึงเสี่ยงต่อการเป็นไข้หวัด หรือเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคไข้หวัดใหญ่ได้ง่ายกว่าช่วงที่คุณแม่ยังไม่ได้ตั้งครรภ์ ที่สำคัญขณะตั้งครรภ์อาจเกิดอาการรุนแรงได้ในทุกไตรมาส แค่พบมากที่สุดในไตรมาสที่ 3 ซึ่งอาจมีผลต่อลูกน้อยในครรภ์ได้ เช่น เสี่ยงต่อการแท้งลูกเสียชีวิตในครรภ์หรือตายก่อนคลอด น้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าปกติ และคลอดก่อนกำหนด หากคุณแม่มีอาการรุนแรง ก็มีโอกาสสูงที่ลูกน้อยจะป่วยหนักหรือเสียชีวิตได้ นอกจากคุณแม่ท้องที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นไข้หวัดใหญ่แล้ว ผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน จากโรคไข้หวัดใหญ่ ก็คือเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุที่อายุเกิน 60 ปี ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีการกินยากดภูมิคุ้มกันค่ะ

 อาการไข้หวัดใหญ่

          ไข้หวัดใหญ่ คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Influenza ซึ่งมี 3 ชนิด ได้แก่ ชนิด A, B, C โดยเป็นโรคติดเชื้อที่ระบาดได้ง่าย  และพบได้ในทุกกลุ่มอายุ โดยพบในผู้ใหญ่ได้ร้อยละ 5-10 พบในเด็กได้ร้อยละ 20-30 ติดต่อได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรง คือได้รับจากน้ำลาย น้ำมูกจากการไอจาม ทางอ้อม คือสัมผัสมือที่มีเชื้ออยู่ โดยผู้ป่วยจะแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อน จนถึง 5 วันหลัง ถึงมีอาการ อาการที่พบคือ มีไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เจ็บคอ ไอ รวมถึงอาจมีอาการอื่น ๆ เช่น เบื่ออาหาร กลัวแสง ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ที่สำคัญอาจมีภาวะแทรกซ้อนในรายที่รุนแรงได้ คือปอดบวม หลอดลมอักเสบ หูอักเสบ หอบหืด กล้ามเนื้ออักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สมองอักเสบ ซึ่งมีโอกาสเสียชีวิตได้ 0.5-1 คน ต่อ 1,000 คนค่ะ

 ผลข้างเคียงของวัคซีน & ข้อควรระวัง

          ผลข้างเคียงของวัคซีนที่พบบ่อย คือมีอาการปวด บวม แดงบริเวณที่ฉีด มีไข้ หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ

          ส่วนข้อห้ามในการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ คือ ห้ามฉีดในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 6 เดือน ผู้ที่มีประวัติแพ้วัคซีน แพ้ไข่อย่างรุนแรง หรือผู้ที่เคยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงภายใน 6 สัปดาห์หลังได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่

 วัคซีนไข้หวัดใหญ่สำหรับแม่ท้อง

          วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สำหรับแม่ท้อง จะช่วยป้องกันคุณแม่ท้องจากไข้หวัดใหญ่ตอนตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอด รวมถึงป้องกันทารกในครรภ์ด้วยค่ะ

          โดยเฉพาะการให้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่กับคุณแม่ท้องในไตรมาสที่ 3 สามารถป้องกันทารกจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ใน 6 เดือนแรกคลอดได้ถึงร้อยละ 63 (ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีวัคซีนไข้หวัดใหญ่สำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน) ที่สำคัญภูมิคุ้มกันจากวัคซีนสามารถผ่านจากแม่ไปสู่ทารกในครรภ์ได้ โดยไม่พบอันตรายต่อทั้งแม่และลูก

          องค์การอนามัยโลก แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ให้คุณแม่ท้องที่มีอายุครรภ์มากกว่า 4 เดือนขึ้นไป วัคซีนที่ใช้ฉีดเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย จึงไม่พบอันตรายต่อทารกในครรภ์หลังฉีด โดยวัคซีนนี้สามารถป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เดียวกันหรือใกล้เคียงกับที่บรรจุในวัคซีนได้ประมาณร้อยละ 70-90 แต่ประสิทธิภาพของวัคซีนจะลดลงถ้าผู้รับวัคซีนมิภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีอายุมาก หรือในปีนั้นมีการเปลี่ยนแปลงของเชื้อไปจากเดิม รวมถึงหากเชื้อที่บรรจุในวัคซีนไม่ตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ขณะนั้นก็อาจทำให้วัคซีนด้อยประสิทธิภาพลงได้ เช่นกัน เพราะเชื้อมีหลายสายพันธุ ซึ่งเชื้อที่ระบาดในแต่ละปี จะมีความแตกต่างกัน ดังนั้นการผลิตวัคซีนจึงอาศัยข้อมูลจากการคาดคะเนของผู้เชี่ยวชาญว่าสายพันธุ์ใดน่าจะมีการ ระบาดในปีนั้น ๆ เลยมีการผลิตวัคซีนขึ้นใช้ใหม่ในแต่ละปี และภูมิคุ้มกันจะดีขึ้นหลังฉีดไปแล้ว 2 สัปดาห์ และอยู่นานประมาณ 6-12 เดือน ภูมิคุ้มกันจึงลดลงค่ะ

          นอกจากการฉีดวัคซีน เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันไข้หวัดใหญ่ ในแม่ท้องได้แล้ว การป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่ง่าย ๆ คือการไม่เข้าใกล้ผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัด ล้างมือเป็นประจำ ไม่เอามือไป สัมผัสตา จมูก ปาก ปิดปากและจมูกเวลาไอจาม หรือสวมหน้ากากอนามัยหากต้องออกไปในที่สาธารณะ เพื่อป้องการรับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ฉบับที่ 366 กรกฎาคม 2556

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ท้องนี้กับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ อัปเดตล่าสุด 13 มีนาคม 2557 เวลา 19:05:40 14,016 อ่าน
TOP
x close