แชร์ความประทับใจ ครอบครัวอังกฤษกับการอุปการะเด็กแบบใช้ใจนำทาง

อุปการะเด็ก

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          การรับอุปการะเด็กสักคนหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่าย ๆ เพราะตัวผู้อุปการะเองแค่มีเพียงแค่จิตใจที่ต้องการช่วยเหลือเพียงอย่างเดียวเท่านั้นยังไม่พอ ยังต้องมีความรู้สึกถูกชะตากับเด็กที่เลือกมา เพื่อทำให้เกิดความรู้สึกว่าเขาจะกลายเป็นคนสำคัญอีกคนหนึ่งของชีวิตได้จริง เพราะการอุปการะเลี้ยงดู ไม่ใช่เพียงการให้ปัจจัยในการดำรงชีวิตเท่านั้น แต่ยังต้องให้ความรักความอบอุ่น ทำให้เขารู้สึกว่าเขาคือสมาชิกจริง ๆ ของครอบครัวด้วย

          และสำหรับบางคนแล้ว ครอบครัวอุปการะที่สมบูรณ์ที่สุดนั้น ทั้งตัวผู้อุปการะและเด็กที่รับเข้ามา ต่างต้องเป็นผู้เลือกกันและกัน รู้สึกถูกชะตาต้องใจทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่การจับคู่เด็กด้วยเกณฑ์การคัดกรองเลือกเฉพาะเด็กที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของผู้ประสงค์จะอุปการะเท่านั้น จึงจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขทั้งคู่ ดังเช่นตัวอย่างการอุปการะเด็กของคู่สามีภรรยาชาวอังกฤษ ที่กระปุกดอทคอมได้นำมาฝากในวันนี้ค่ะ

          เว็บไซต์เดลี่เมล ได้เผยแพร่บทความพิเศษ เกี่ยวกับการรับอุปการะเด็กผ่านวิธีการที่เรียกว่า "อะด็อปชั่น ปาร์ตี้" (Adoption Party) เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2014 ที่ผ่านมา เป็นเรื่องราวของไมเคิล และลูซี่ คู่สามีภรรยาชาวอังกฤษในวัย 30 ต้น ๆ ทั้งคู่มีชีวิตคู่ที่ดี และแสนจะโรแมนติก แต่ประสบปัญหามีบุตรยาก ทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจที่จะรับอุปการะเด็กสักคนมาเป็นลูกบุญธรรม แต่ต่างก็เห็นตรงกันว่า ไม่ต้องการรับอุปการะเด็กผ่านกระบวนการของทางรัฐ ที่คัดกรองเด็กตามคุณบัติตามที่ผู้ประสงค์เลี้ยงดูแจ้งมา แล้วจึงนำเด็กที่มีคุณสมบัติครบทุกประการมาจับคู่ให้ มันอาจจะได้ผลดีก็จริง แต่โดยส่วนตัวแล้วไมเคิลเห็นว่า กระบวนการนี้ไม่ต่างอะไรกับการค้ามนุษย์เลย

          ทั้งคู่จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการรับอุปการะเด็กด้วยวิธีดั้งเดิม อาศัยวิธีการที่เรียกว่า "อะด็อปชั่น ปาร์ตี้" เมื่อเดือนกรกฎาคม 2013 ที่ผ่านมา อะด็อปชั่น ปาร์ตี้ เป็นการรวมเด็ก ๆ และผู้มีความประสงค์รับอุปการะหลาย ๆ คู่มาทำกิจกรรมร่วมกัน ปล่อยให้ความรู้สึกถูกชะตาต้องใจเป็นสิ่งที่บอกว่า สมาชิกคนใหม่ที่ครอบครัวกำลังตามหา อยู่ในที่นี้ด้วยหรือไม่ เรียกว่าเป็นการจับคู่แบบใช้ใจนำทาง มากกว่ากำหนดสเป็กความต้องการขึ้นมาแล้วค่อยคัดกรอง

          วิธีการนี้เป็นวิธีการดั้งเดิมที่อังกฤษเคยใช้ในการจับคู่เด็กและผู้ที่ต้องการรับอุปการะ แต่ก็ถูกสั่งห้ามไปในช่วงปี 1980s แล้วแทนที่ด้วยการคัดกรองจับคู่เด็กของหน่วยงานางคมสงเคราะห์แทน แต่ในปัจจุบันก็มีการรื้อฟื้นขึ้นมาใช้ใหม่ ดังเช่นโครงการของสภามณฑลเคนท์ ( Kent County Council and Coram) ที่ไมเคิลกับลูซี่เข้าร่วมนั่นเอง

          ในงานนี้เอง ที่ไมเคิลและลูซี่ ได้พบกับ โซฟี เด็กหญิงที่ผู้ดูแลบอกว่าเงียบขรึม พูดน้อย และไม่ค่อยแสงออก โซฟี เคยเป็นสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัวที่มีลูกหลายคน พ่อแม่ที่แท้จริงของเธอไม่ได้ใส่ใจเรื่องการเลี้ยงดูและความเป็นอยู่ของเธอและพี่น้องมากนัก ในที่สุดรัฐจึงรับเธอมาดูแลในหน่วยงานของสถานสงเคราะห์เด็กเมื่อมีอายุ 2 ขวบเท่านั้นเอง โซฟีถูกระบุว่า เป็นเด็กที่มีพฤติกรรมพูดน้อย (Selective Mutism) อาจมีอาการของออทิสติก และภาวะการเรียนรู้ช้า ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่สองสามีภรรยาเคยไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวเด็กที่กำลังจะมาเป็นดวงใจของพวกเขา

          แต่เมื่อพวกเขาได้พบโซฟี โดยที่ยังไม่รู้ว่าเธอมีอาการแบบที่พวกเขากำลังเลี่ยงอยู่หรือไม่ ทั้งคู่ก็เกิดถูกชะตากับเจ้าหญิงน้อย ๆ คนนี้ขึ้นมาโดยพลัน สัญชาตญาณของทั้งคู่บอกว่าต้องการดูแล ปกป้อง และอยากมีเด็กหญิงคนนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตจริง ๆ

          "ฉันกับไมเคิลกำลังผลักชิงช้าเล่นกับเด็กคนอื่น ๆ อยู่ แล้วก็หันไปเห็นโซฟีที่ก้าวเข้ามา ฉันรู้สึกรักเด็กคนนี้ตั้งแต่แรกเห็นจริง ๆ เธอทำท่าอยากเข้ามาเล่นด้วย แล้วพวกเราก็เล่นผลักชิงช้าด้วยกัน" ลูซี่เล่า

          หลังจากช่วงเวลาพบปะเล่นสนุกด้วยกันราว 20 นาที โซฟีน้อยหัวเราะร่า เธอจูงมือไมเคิลข้างหนึ่ง ลูซี่อีกข้างหนึ่ง แล้วโหนตัวเองเล่นเป็นชิงช้าอย่างสนุกสนาน เธออยู่เกาะติดคลอเคลียทั้งคู่ไม่ห่าง จนผู้ดูแลยังแอบมาสะกิดบอกว่า รู้สึกประหลาดใจมากจริง ๆ ที่จู่ ๆ โซฟีก็พูด และคุยเล่นกับคนแปลกหน้า แถมยังหัวเราะอย่างร่างเริงอีกต่างหาก ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เธอไม่เคยหัวเราะเลย เหมือนกับว่าเด็กหญิงเลือกที่จะมีความสุขกับคนที่เธอรู้สึกไว้วางใจ

          หลังจากงานปาร์ตี้สำหรับเด็ก ๆ และผู้อุปการะในวันนั้น ลูซี่และไมเคิลกลับบ้านมาด้วยหัวใจที่พองโต รู้สึกว่าได้เจอแล้วกับคนที่ตามหามาตลอด คนที่พวกเขาหลงรัก และอยากจะให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตลอดไป ทั้งคู่ตัดสินใจยื่นเรื่องขอรับโซฟีมาอุปการะอย่างไม่ลังเล แถมยังตัดสินใจตรงกันทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ปรึกษากันก่อนล่วงหน้าด้วย แต่ก็ต้องกังวลอย่างหนัก เมื่อรู้ว่ามีคนอีก 3 คู่ ที่ต้องการรับอุปการะโซฟีเช่นเดียวกัน 

          ไม่กี่วันถัดมา เจ้าหน้าที่ของโครงการได้นัดทั้งคู่ไปพบ พร้อมชี้แจงว่าเด็กหญิงที่ทั้งคู่ต้องการอุปการะนั้น มีปัญหาพูดน้อย อาจบกพร่องด้านการเรียนรู้ และอาจมีอาการของออทิสติกอ่อน ๆ ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งคู่เคยระบุไว้ในประวัติการรับอุปการะเด็กว่า ไม่ต้องการเลี่ยงเด็กที่มีลักษณะเช่นนี้ แต่สัญชาตญาณและความรู้สึกลึก ๆ ของไมเคิลและลูซี่บอกอย่างเดียวกันว่า ต้องเป็น โซฟี คนนี้เท่านั้น ลู่ซี่ให้คำตอบยืนยันกับเจ้าหน้าที่ว่า ไม่ว่าอะไรก็ตามที่คุณบอกมา ไม่ได้ทำให้ฉันรักเด็กคนนี้น้อยลงเลย และในอีกไม่กี่สัปดาห์ถัดมา ก็ได้รับแจ้งข่าวดีว่า ทางโครงการอนุมัติให้ทั้งคู่ได้เป็นผู้อุปการะเด็กหญิงโซฟีจริง ๆ

          ผู้เขียนบทความนี้ของเว็บไซต์ ระบุไว้ว่า ได้เดินทางไปเยี่ยมครอบครัวใหม่นี้ หลังจากไมเคิลและลู่ซี่ รับตัวโซฟีน้อยไปอยู่ด้วยกันแล้ว 6 สัปดาห์ เขาบอกว่า โซฟีดูร่าเริงแจ่มใส และชอบที่จะเกาะติดอยู่ใกล้ ๆ พ่อแม่ของเธอมาก ทั้งยังช่างเจรจา และพูดจาฉลาดเฉลียวน่ารักน่าชัง ไม่มีวี่แววของโซฟีที่พูดน้อยคนเดิมเลย แถมยังเอาตุ๊กตาหมีซึ่งเดิมเคยเป็นของลูซี่มาอวดอีกต่างหาก บอกว่าตอนนี้ตุ๊กตาตัวนี้เป็นของเธอแล้ว บางทีทั้งสามคนก็จะออกไปเดินเล่นกันที่ประภาคาร ซึ่งจากที่นั่น โซฟีชอบทีจะมองลงมา แล้วหาบ้านของตัวเองให้เจอ บ้านหลังที่ว่า ก็คือบ้านของเธอและคุณพ่อคุณแม่ ไมเคิลกับลูซี่นั่นเอง

          ดูท่าทางในตอนนี้ ครอบครัวเล็ก ๆ นี้กำลังมีความสุขที่สุด ไม่ใช่เพียงไมเคิลและลูซี่ที่รู้สึกว่าต้องการดูแลและปกป้องโซฟีเท่านั้น โซฟีเองก็รู้สึกว่าไมเคิลและลูซี่เป็นคนของเธอด้วยเหมือนกัน ต่างคนต่างรู้สึกว่าตัวเองได้เป็นฝ่ายเลือก ไม่ใช่ผู้ถูกเลือก จึงทำให้ช่องว่างที่ขาดหายต่างเติมเต็มเข้ากันได้อย่างพอดี กลายเป็นครอบครัวเล็ก ๆ ที่น่ารัก และเพอร์เฟคท์ไม่แพ้ครอบครัวพ่อแม่ลูกร่วมสายเลือดครอบครัวอื่นเลยทีเดียว






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แชร์ความประทับใจ ครอบครัวอังกฤษกับการอุปการะเด็กแบบใช้ใจนำทาง อัปเดตล่าสุด 20 มกราคม 2557 เวลา 15:39:30 1,863 อ่าน
TOP
x close