ความผิดปกติของน้ำคร่ำ เกิดจากอะไร
โดย : Momypedia
น้ำคร่ำคืออะไร
ปริมาณของน้ำคร่ำ
หน้าที่ของน้ำคร่ำ
ความผิดปกติของน้ำคร่ำ
น้ำคร่ำคืออะไร
น้ำคร่ำเป็นของเหลวที่ถูกสร้างขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ จะมีลักษณะเป็นด่าง ใส ปราศจากสี แต่จะค่อนข้างขุ่นเมื่อครรภ์ใกล้ครบกำหนด เนื่องจากเซลล์ผิวหนังที่หลุดออกมา ไข และขนอ่อนที่มากขึ้น แหล่งที่ผลิตน้ำคร่ำนั้นแตกต่างกันตามอายุครรภ์
ไตรมาสแรกเกิดจากการซึมผ่านของเหลวในเลือดมารดา
ไตรมาสที่ 2 เกิดจากการซึมของของเหลวจากทารกผ่านผิวหนังออกมา
หลังจากอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ น้ำคร่ำจะมาจากปัสสาวะทารก และส่วนน้อยมาจากของเหลวจากปอดของทารก และของเหลวที่ซึมออกจากรก
ปริมาณของน้ำคร่ำ
ปริมาตรของน้ำคร่ำเปลี่ยนแปลงตามอายุครรภ์
เมื่อตั้งครรภ์ 3 เดือน จะมีน้ำคร่ำประมาณ 50-80 มิลลิลิตร
เมื่อตั้งครรภ์ 4 เดือน จะมีน้ำคร่ำประมาณ 150-200 มิลลิลิตร
เมื่อใกล้คลอดจะมีปริมาณถึง 1 ลิตร
หน้าที่ของน้ำคร่ำ
ป้องกันทารกจากแรงกระทบกระแทกจากภายนอก
ทำให้ทารกมีพื้นที่ในการเจริญเติบโตและเคลื่อนไหว
ช่วยรักษาอุณหภูมิให้คงที่
ในน้ำคร่ำมีสารอาหารเพียงเล็กน้อย แต่น้ำคร่ำมีโปรตีนหลายชนิดและมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาของปอด และลำไส้ เพราะฉะนั้น ทารกที่มีน้ำคร่ำน้อย มักเกิดปัญหาปอดไม่พัฒนา
ความผิดปกติของน้ำคร่ำ
1. ถุงน้ำคร่ำรั่วหรือแตกก่อนกำหนด
เมื่อถุงน้ำคร่ำแตกก่อนที่จะมีอาการเจ็บครรภ์คลอด ซึ่งอาจแตกก่อนที่จะมีการคลอดเป็นชั่วโมง เป็นวัน เป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน จะมีน้ำใส ๆ ไหลออกทางช่องคลอดคล้ายน้ำปัสสาวะในปริมาณมาก อาจจะมีอาการเจ็บครรภ์หรือไม่มีก็ได้ และยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนว่าทำไมถุงน้ำคร่ำจึงแตกก่อนกำหนด แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด
เมื่อคุณแม่สงสัยว่าถุงน้ำคร่ำแตกหรือน้ำเดิน ควรไปโรงพยาบาลในทันที คุณหมอจะได้ให้คุณแม่ตั้งครรภ์นอนพักในโรงพยาบาล และตรวจดูว่ามีถุงน้ำคร่ำรั่วจริงหรือไม่ และจะเฝ้าระวังการติดเชื้อและอาการเจ็บครรภ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ ถ้าอายุครรภ์ยังน้อย แพทย์จะพยายามดูแลประคับประคองการตั้งครรภ์ออกไปให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ปอดทารกมีความสมบูรณ์มากที่สุด แต่หากคุณแม่มีอายุครรภ์ 36 สัปดาห์ขึ้นไป แพทย์ส่วนใหญ่จะให้คลอดทันทีก่อนจะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย
ตามปกติแล้วการติดเชื้อภายในถุงน้ำคร่ำจะเกิดขึ้น เมื่อถุงน้ำคร่ำแตกไปแล้ว 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจให้สเตียรอยด์เร่งความสมบูรณ์ของปอดทารก และเฝ้าระมัดระวังการติดเชื้อของทารกในครรภ์อย่างใกล้ชิด
2. การติดเชื้อของน้ำคร่ำ
การติดเชื้อจะเกิดขึ้นบริเวณน้ำคร่ำและเยื่อหุ้มถุงน้ำคร่ำ อาจมีถุงน้ำคร่ำแตกหรือไม่ก็ได้ สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด คุณแม่ตั้งครรภ์จะมีไข้ กดเจ็บบริเวณมดลูก สารคัดหลั่งทางช่องคลอดจะมีกลิ่นเหม็นมาก ถ้ามีถุงน้ำคร่ำแตกด้วยจะพบว่าน้ำคร่ำมีกลิ่นเหม็น ทารกในครรภ์จะมีหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ
เมื่อคุณแม่มีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรไปพบคุณหมอเพื่อจะได้ดูแลรักษาทันท่วงที แพทย์จะพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะในปริมาณสูง และสารน้ำทางหลอดเลือดดำ และพิจารณาให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลง โดยไม่คำนึงถึงอายุครรภ์ที่ครบกำหนด เพราะคุณแม่และทารกในครรภ์มีภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่รุนแรง เพราะภาวะการติดเชื้อของน้ำคร่ำจะต้องรีบพาไปโรงพยาบาลเป็นกรณีเร่งด่วน ไม่สามารถรอได้ จะต้องคลอดโดยเร็ว
3. ภาวะน้ำคร่ำน้อย
ภาวะน้ำคร่ำน้อยหมายถึง การตั้งท้องที่มีน้ำคร่ำเพียงประมาณ 100-300 มิลลิลิตร แทนที่จะเป็น 1 ลิตรเมื่อตั้งท้องครบกำหนดแล้ว สาเหตุของภาวะน้ำคร่ำน้อยไม่สามารถบอกแน่ชัดได้ แต่เชื่อว่าน่าจะเกี่ยวกับความพิการบางอย่างของทารกแรกเกิดในท้อง เช่น ไตพิการ หรือจากการตั้งท้องเกินกำหนด
อันตรายจากน้ำคร่ำน้อย เมื่อมีน้ำคร่ำน้อย ผนังทรวงอกของทารกในท้องจะถูกกดเบียดด้วยผนังมดลูก ผลดังกล่าวจะทำให้ปอดของทารกขยายตัวได้ไม่ดี และเจริญเติบโตไม่ดี เมื่อทารกต้องคลอดทั้งที่ปอดไม่แข็งแรง อาจเสียชีวิตหลังคลอดได้ เมื่อแพทย์ตรวจครรภ์แล้วพบว่า คุณแม่มีน้ำคร่ำน้อยกว่าปกติจะแนะนำให้คุณแม่รับการผ่าตัดคลอดโดยเร็ว เพราะทิ้งไว้ทารกในท้องอาจจะเสียชีวิตได้
4. ภาวะน้ำคร่ำมาก
ภาวะน้ำคร่ำมาก เรียกอีกอย่างว่า "ครรภ์แฝดน้ำ" หมายถึงการตั้งท้องที่มีน้ำคร่ำมากกว่า 2 ลิตร สาเหตุส่วนมากเกิดจากทารกในท้องมีความพิการ เช่น หลอดอาหารตีบตัน ทารกไม่มีกะโหลกศีรษะ ซึ่งความพิการดังกล่าวทำให้ทารกกลืนน้ำคร่ำไม่ได้ ผลจึงทำให้น้ำคร่ำล้นอยู่ในถุงน้ำคร่ำ สาเหตุจากที่คุณแม่มีน้ำคร่ำมากและพบบ่อยที่สุดคือ การที่คุณแม่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม มีคุณแม่จำนวนมากถึงร้อยละ 60 ที่ไม่ทราบว่าการตั้งครรภ์ที่มีน้ำคร่ำมากเกิดจากอะไร
การรักษาภาวะน้ำคร่ำมากถ้าทราบสาเหตุ เช่น เกิดจากคุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวาน แพทย์จะให้การควบคุมเบาหวานที่ดี ปัญหาน้ำคร่ำมากก็จะหายไป กรณีที่เกิดจากทารกพิการ การดูรักษาตั้งแต่ทารกอยู่ในท้องทำได้ค่อนข้างยาก อาจต้องรอให้การรักษาภายหลังทารกคลอดออกมาแล้ว แต่ถ้าไม่ทราบสาเหตุเลยแพทย์จะให้คุณแม่พักผ่อนมากเพียงพอ ถ้าอึดอัดมาก อาจพิจารณาเจาะดูดน้ำคร่ำออกได้บ้าง