การเลี้ยงดูบุตรร่วมกันอย่างสมานฉันท์ หลังการหย่า

แม่และเด็ก



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          ชีวิตการแต่งงานเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น ที่ไม่มีใครคาดเดาปลายทางที่แน่นอนของมันได้ ถึงอย่างนั้นก็ไม่น่าจะมีคู่รักคู่ไหนที่อยากมีจุดจบความรักเป็นการแยกทางแน่ ๆ แต่บางครั้งเหตุผลแวดล้อมหลายอย่างก็ทำให้เราเลือกทางเดินชีวิตให้เป็นอย่างที่ใจต้องการไม่ได้ เมื่อถึงวันที่ต่างฝ่ายต่างไม่อยากใช้ชีวิตร่วมกันอีกต่อไป ก็ต้องเดินกันคนละทาง แต่สำหรับครอบครัวที่มีลูกรักเป็นสร้อยทองคล้องใจ คงต้องคิดหนักเรื่องการเลี้ยงดูบุตร ซึ่งถ้าคุณทั้งคู่คิดถึงจิตใจของลูกรัก และตัดสินใจจะเลี้ยงดูเขาร่วมกัน ก็ควรหาวิธีเลี้ยงดูเขาด้วยความสมานฉันท์ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ลูกรักรู้สึกอบอุ่น เติบโตไปเขาจะได้ไม่เป็นเด็กที่ขาดอะไรในชีวิตนะคะ

       นึกถึงหน้าที่ของความเป็นพ่อและแม่ไว้ให้มากที่สุด

          แน่นอนว่าเมื่อถึงวันที่ต้องแยกทาง ไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่งจะต้องทนอยู่กับความเจ็บช้ำ นอนหลับไปพร้อมกับน้ำตา หัวใจอ่อนแอสิ้นหวัง ยิ่งกับคู่ที่มีเรื่องขัดแย้งกันอยู่ทั้งประเด็นเรื่องสินสมรส และสิทธิ์การเลี้ยงดูบุตร ก็คงไม่อยากจะเจอหน้าอดีตคู่ชีวิตอีกต่อไป แต่ลองหันไปมองหน้าลูกสิ เขายังเป็นแค่เด็กที่ต้องการทั้งพ่อทั้งแม่อย่างสมบูรณ์แบบ อย่างนี้คุณจะใจร้ายคิดถึงแต่หัวใจตัวเองก็กระไรอยู่จริงไหม ดังนั้นคิดถึงอนาคตของลูกเป็นสำคัญจะดีกว่า ในเมื่อปลายทางของความสัมพันธ์ยังมีหน้าที่ที่เราต้องรับผิดชอบร่วมกันหลงเหลืออยู่ แทนที่จะสาดอารมณ์และความโกรธใส่กัน ก็มาร่วมกันหาทางแชร์การเลี้ยงดูลูกรักอย่างสมานฉันท์ดีกว่า  คิดซะว่าสถานะในตอนนี้ไม่ใช่คู่สามี-ภรรยา แต่คุณและเขาก้าวมาสู่สถานะของพ่อและแม่ ที่ต้องทุ่มเทความรักและความอบอุ่นให้กับเลือดเนื้อเชื้อไขของตัวเอง

       ดูแลลูกร่วมกัน

          แม้ต่างฝ่ายต่างไม่ได้อาศัยอยู่ภายใต้ชายคาเดียวกัน แต่ก็สามารถแบ่งเวลามาหาลูกหรือมามีเวลาร่วมกับลูกได้ อาจจะแบ่งเวลามาพาเขาไปเที่ยวนอกบ้าน หรือไปร่วมกิจกรรมของโรงเรียนก็ได้ เด็กจะได้มีโอกาสได้เห็นหน้าทั้งพ่อและแม่ได้ครบถ้วน รวมทั้งความอบอุ่นและความใส่ใจที่เขาเคยได้รับก็จะไม่หายไป แม้จะไม่ได้รับเต็มที่เหมือนอย่างที่เคย แต่อย่างน้อยก็ไม่ได้ขาดหายไปจากชีวิตเขาอย่างกะทันหัน และถึงแม้ว่าการต้องเจอหน้ากัน ต้องมาทำหน้าที่พ่อแม่ร่วมกันอย่างที่เคย อาจจะทำให้คุณรู้สึกเจ็บปวดอยู่บ้าง แต่ก็ขอให้คุณอดทนเพื่อความสุขของลูกนะคะ

          และที่สำคัญนักจิตวิทยาด้านครอบครัวก็ยังให้คำแนะนำสำหรับคุณแม่ที่ไม่มั่นใจในศักยภาพของคุณพ่อ กลัวว่าเขาจะไม่สามารถดูแลลูกรักได้ดีพอ ว่าให้ปล่อยวางความกังวลนี้ซะ และเปลี่ยนทัศนคติมามองว่า การสลับกันเลี้ยงดูเขาแบบนี้ จะเป็นการเปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้โลกในหลายแง่มุม อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาความสามารถในการเลี้ยงดูลูกให้อีกฝ่ายด้วย

       ประนีประนอม

          ไม่ใช่เรื่องดีแน่ ๆ ถ้าพ่อแม่จะมาทะเลาะหรือเถียงกันต่อหน้าเด็ก ๆ เพราะพฤติกรรมแบบนี้ของคนเป็นพ่อและแม่ จะบั่นทอนจิตใจและทำร้ายความรู้สึกเขาได้อย่างมาก ฉะนั้นแทนที่คุณทั้งสองคนจะมาเถียงกันให้เสียบรรยากาศ ก็พยายามข่มอารมณ์แล้วหันมาพูดคุยตกลงกันดี ๆ เถอะ และถ้าหากประเด็นที่ถกเถียงกันบ่อย ๆ เป็นเรื่องเวลาของแต่ละฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูลูก ก็ควรจะจัดตารางรับผิดชอบกันให้ชัดเจนตั้งแต่ต้น อาจจะแบ่งเวลาเลี้ยงเขาคนละ 3 วัน ต่อสัปดาห์ ส่วนอีกวันที่เหลือก็ให้เป็นวันครอบครัวที่อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา หรือตกลงกันไว้ตั้งแต่ต้นเลยว่าถ้าใครมีธุระกะทันหัน จะสลับวันเลี้ยงดูเขาเมื่อไรก็ได้หมด พยายามอย่าให้เกิดการเกี่ยงงอน หรือการแก่งแย่งกีดกันเด็ดขาด อย่าลืมว่าลูกไม่ใช่เครื่องมือที่ใช้ตัดสินว่าใครแพ้หรือชนะนะคะ


        เคล็ดลับเป็นพ่อแม่ร่วมสุดเพอร์เฟคท์

          อย่าปิดกั้นซึ่งกันและกัน

          ไม่ง่ายเลยที่จะกลับไปพูดคุยกับคนเคยรักอย่างปกติหลังจากการหย่าร้าง แต่ถ้าคุณปิดกั้นไม่ให้เขาเจอกับลูกด้วยความโกรธแค้นส่วนตัว คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือลูกรักของคุณเองนะ ดังนั้นแทนที่ตัดขาดการติดต่อกับเขาอย่างสิ้นเชิง ก็หมั่นแชทหรือพูดคุยกันปรึกษาเรื่องการเลี้ยงดูลูกบ่อย ๆ ดีกว่า

          พยายามพูดให้สั้นแต่กระชับได้ใจความ

          เวลาที่คุณจะติดต่อหาเขาเนื่องจากมีธุระสำคัญ หรือมีเรื่องที่อยากปรึกษา พยายามพูดคุยให้สั้นและกระชับมากที่สุด เพราะเป็นไปได้ที่ประโยคหรือข้อความที่เขียนยาว ๆ อาจจะมีการพาดพิงถึงอดีตที่แสนเจ็บปวด หรือการโทษกันไปโทษกันมาแทรกซ้อนอยู่ในนั้นแบบเนียน ๆ จนในที่สุดแทนที่จะกลายเป็นเนื้อหาของการปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูก ก็จะเป็นข้อความที่ชวนทะเลาะบาดหมางกันขึ้นมาอีก

          ตกลงวันเวลาให้ชัดเจน

          ตารางเวลาการเลี้ยงดูลูกและกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต่างฝ่ายต่างต้องรับผิดชอบควรจะกำหนดให้รับรู้กันอย่างชัดเจนทั้ง 2 ฝ่าย ถ้าสามารถจัดทำเป็นตารางที่แน่นอนให้เปิดดูได้ตลอดก็จะยิ่งดี จะได้หมดปัญหามาเกี่ยงกันรับผิดชอบ หรือทำเป็นไม่รับรู้ตารางเวลาตอนที่ผิดนัดไปแล้ว

          หาสังคมอื่น ๆ ให้ลูกรัก

          การผูกมิตรกับพ่อแม่ของเพื่อนสนิท หรือหาครูพี่เลี้ยงมาให้ลูกน้อย เป็นแนวคิดที่ดี ที่สามารถช่วยให้ลูกรักได้มีสังคมภายนอกบ้านบ้าง ยิ่งมีโลกที่กว้างขึ้นมากเท่าไร เด็ก ๆ ก็จะมีทัศคติและมุมมองผ่านการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้มากเท่านั้นนะคะ

          แสดงความมีน้ำใจกับคนรอบข้าง

          ในเทศกาลสำคัญเช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ วันพ่อ วันแม่ หรือแม้กระทั่งวันเกิดเพื่อน หรือวันเกิดพ่อแม่เพื่อนสนิทของลูกรัก คุณควรจะพาเขาไปหาซื้อของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับคนเหล่านี้บ้าง เพราะเด็ก ๆ จะได้ซึบซับความใจดี และความอบอุ่นของคุณ และรู้สึกเหมือนตัวเองมีครอบครัวใหญ่ ๆ อยู่ตลอด


          ช่วงแรก ๆ ของการดูแลลูกร่วมกันอาจจะทำให้คุณลำบากใจอยู่ไม่น้อย แต่ก็อย่างที่บอกว่า เพื่อความอบอุ่นของลูกรักเราก็ต้องอดทนกันหน่อย โดยเฉพาะถ้าลูกของคุณยังเล็ก เขาก็อาจจะไม่เข้าใจเหตุผลของผู้ใหญ่เท่าไรนัก ฉะนั้นนอกจากคุณจะต้องประคับประคองความรู้สึกของตัวเองแล้ว ก็ต้องใส่ใจความรู้สึกของลูกให้มากด้วยนะคะ อย่างไรก็ตามกระปุกดอทคอมก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนผ่านพ้นช่วงเวลาของความทุกข์ไปได้เร็ว ๆ เพื่อให้ตื่นขึ้นมาดำเนินชีวิตในรูปแบบใหม่ได้อย่างมีความสุขต่อไปค่ะ





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
การเลี้ยงดูบุตรร่วมกันอย่างสมานฉันท์ หลังการหย่า อัปเดตล่าสุด 5 พฤศจิกายน 2556 เวลา 11:53:52 5,182 อ่าน
TOP
x close