การบรรเทาความเจ็บปวดระหว่างคลอด (momypedia)
ฝึกลมหายใจ
คลายเจ็บครรภ์ด้วยวิธีของลามาซ
การผ่อนคลายอาการเจ็บท้องคลอด
สิ่งของที่ควรเตรียมไว้สำหรับคุณแม่
คุณแม่ตั้งครรภ์ใกล้คลอด ควรมีการเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อการคลอด และฝึกผ่อนคลายอาการเจ็บครรภ์ ซึ่งจะช่วยให้คุณแม่จัดการความกังวล เพื่อความมั่นใจว่าจะผ่านการคลอดครั้งนี้ไปได้อย่างสบาย เทคนิคการผ่อนคลายนั้นก็มีด้วยกันหลายวิธี
ฝึกลมหายใจ
การฝึกลมหายใจให้ถูกจังหวะและประสานไปกับอาการเจ็บครรภ์จะช่วยผ่อนคลายความเจ็บปวดให้กับคุณแม่ได้ ทั้งยังช่วยให้คุณแม่กับลูกน้อยได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ คุณแม่ควรจะฝึกฝนให้คุ้นเคยก่อนที่จะครบกำหนดคลอดอย่างสม่ำเสมอ
การฝึกหายใจทั้ง 3 วิธีนี้ไม่ได้มีกฎตายตัวว่าจะต้องหายใจเรียงตามลำดับที่กำหนดไว้ หากคุณแม่เห็นว่าการหายใจขั้นตอนใดจะช่วยลดความเจ็บปวดได้ดีกว่าก็ใช้วิธีนั้น อย่างไรก็ตามคุณแม่ไม่ควรกลั้นใจขณะเจ็บครรภ์ เพราะอาจทำให้ลูกน้อยขาดออกซิเจนและคุณแม่จะเหนื่อยล้า
วิธีที่ 1 หายใจลึกถึงกล้ามเนื้อท้อง
คุณแม่นั่งหรือนอนตามสบาย วางมือทั้งสองลงบริเวณท้องน้อยให้ปลายนิ้วกลางแตะถึงกัน
แขม่วกล้ามเนื้อท้องจนรู้สึกว่าบริเวณหน้าท้องหดเข้าไป จากนั้นค่อย ๆ คลายกล้ามเนื้อออก ให้กล้ามเนื้อหน้าท้องนูนขึ้นมาสัมผัสฝ่ามือ
เมื่อฝึกบังคับกล้ามเนื้อได้แล้ว คุณแม่จึงกำหนดลมหายใจให้สัมพันธ์กับการหดเข้า และขยายออกของกล้ามเนื้อหน้าท้อง
หายใจเข้าช้า ๆ พร้อมกับกล้ามเนื้อหน้าท้องที่ค่อย ๆ ขยายออก แล้วจึงหายใจออกช้า ๆ ทางปากโดยให้กล้ามเนื้อท้องแฟบยุบลงไป
คุณแม่ฝึกหายใจเช่นนี้ให้เป็นธรรมชาติ ไม่ต้องเร่งให้เร็วหรือผ่อนลมหายใจช้ากว่าปกติ ทำเป็นประจำ วันละประมาณ 5 นาทีเป็นอย่างน้อย ช่วงเวลาที่เหมาะในการใช้งาน การหายใจวิธีที่ 1 นี้เหมาะจะใช้ในระยะที่คุณแม่เริ่มเจ็บครรภ์และยังสามารถควบคุมตนเองได้ ขณะหายใจคุณแม่พยายามกำหนดสมาธิอยู่ที่ลมหายใจเท่านั้น
วิธีที่ 2 หายใจตื้นเพียงบริเวณทรวงอก
คุณแม่นั่งหรือนอนตามสบาย วางมือทั้งสองบริเวณท้องน้อยให้ปลายนิ้วกลางแตะถึงกัน
เลื่อนมือข้างใดข้างหนึ่งขึ้นมาแนบตรงบริเวณทรวงอก
หายใจเข้ากำหนดลมหายในให้ลึกแค่ทรวงอก จะรู้สึกว่ามือที่วางติดทรวงอกขยับเล็กน้อย ส่วนมือที่วางตรงท้องน้อยจะไม่ขยับเขยื้อน
จากนั้นค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจออกทางปากตามจังหวะที่คุณแม่หายใจตามปกติ ฝึกหายใจเช่นนี้วันละประมาณ 5 นาที เป็นอย่างน้อย
ช่วงเวลาที่เหมาะในการใช้งาน การหายใจวิธีที่ 2 นี้ คุณแม่เริ่มทำได้เมื่อรู้สึกว่าการหายใจวิธีที่ 1 ไม่สามารถช่วยให้คุณแม่ลดอาการเจ็บครรภ์ลงได้ การหายใจวิธีนี้จะช่วยลดแรงที่กดลงไปบนยอดมดลูก คุณแม่จะรู้สึกดีขึ้นเมื่อหายใจด้วยวิธีนี้ แต่ไม่ต้องรีบเร่งเพราะจำทำให้เหนื่อยหอบ
วิธีที่ 3 หายใจตื้นเพียงบริเวณลำคอ
วิธีนี้เป็นต่อเนื่องมาจากการฝึกหายใจวิธีที่ 2
คุณแม่เลื่อนมือที่อยู่บริเวณท้องขึ้นมาจับลำคอ ส่วนมือที่วางบนทรวงอกก็ยังคงวางเช่นเดิม
การหายใจคล้าย ๆ กับกำลังเหนื่อยหอบ จังหวะการหายใจเข้าจะสั้นกว่าการหายใจออก
คุณแม่หายใจเข้าออกทางปาก โดยให้อากาศเข้าไปเพียงบริเวณลำคอ มือที่จับบริเวณลำคอจะไม่ขยับแต่จะรู้สึกได้ว่ามีลมเข้ามา และจะรู้สึกว่ามือที่วางอยู่บริเวณทรวงอกไหวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ช่วงเวลาที่เหมาะในการใช้งาน การหายใจด้วยวิธีที่ 3 นี้จะช่วยให้คุณแม่ได้มากในระยะที่เจ็บครรภ์ถี่และมีความปวดรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเป็นระยะที่ใกล้คลอด และคุณแม่อาจจะใช้วิธีหายใจเช่นนี้ตั้งแต่เริ่มเจ็บครรภ์เลยก็ได้
คลายเจ็บครรภ์ด้วยวิธีของลามาซ
วิธีของลามาซถือกำเนิดขึ้นในประเทศรัสเซีย เป็นวิธีคลายความเจ็บปวดขณะตั้งครรภ์ และ ดร.ลามาซ ชาวฝรั่งเศสได้เป็นผู้นำมาใช้จนเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย ผู้หญิงกว่าร้อยละ 90 ในประเทศรัสเซียและร้อยละ 70 ของผู้หญิงในประเทศฝรั่งเศสได้รับการฝึกตามวิธีของลามาซ ซึ่งได้ดัดแปลงไปเพื่อความเหมาะสม และได้รับความนิยมในประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนในประเทศอังกฤษได้รับเข้ามาเป็นการสอนขั้นพื้นฐานในสถาบันที่รับผิดชอบการคลอดระดับชาติ
ถึงแม้คุณแม่จะรู้จักฝึกฝนตนเองให้ผ่อนคลายในขณะคลอดได้มากเท่าใดก็ตาม แต่ลามาซมีความเห็นว่า ความเจ็บปวดก็ยังคงมีอยู่ การจัดการกับความเจ็บปวดย่อมเป็นสิ่งจำเป็น ลามาซได้ยึดผลงานวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นของสุนัขตามหลักการของอีวาน พาฟลอฟ และนำมาใช้กับคุณแม่เพื่อฝึกฝนจนคุ้นเคยทำให้ลดความเจ็บปวดขณะคลอดลงได้
การฝึกประกอบด้วย 3 ขั้นตอนสำคัญดังนี้
1. เรียนรู้ข้อมูล ให้คุณแม่เข้าใจและรู้ความเจ็บปวดเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งจะช่วยลดความกลัวและวิตกกังวลได้
2. การผ่อนคลาย คุณแม่จะต้องฝึกการตั้งสติ มีสมาธิแยกความเจ็บปวดออกจากความรู้สึกตัว คือเบนความสนใจไปตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย
3. เบนความสนใจ คุณแม่จะฝึกเบนความสนใจจากอาการเจ็บปวด ไปยังการกำหนดลมหายใจเข้าออกในขณะที่มดลูกหดรัดตัวในแต่ละครั้ง
การผ่อนคลายอาการเจ็บท้องคลอด
นอกจากการฝึกหายใจ เทคนิคการเกร็ง และคลายกล้ามเนื้อหรือวิธีอื่น ๆ ที่คุณแม่ได้ฝึกฝนเพื่อช่วยคลายอาการเจ็บท้องคลอด ยังมีอุปกรณ์เครื่องใช้ที่จะช่วยลดความเจ็บปวดได้ คุณแม่ควรจัดเตรียมสิ่งของเหล่านี้ไว้ในพร้อม จะได้ไม่ลืมเมื่อเจ็บท้องขึ้นมาจริง ๆ
1. อาหารเพิ่มพลังงาน
คุณแม่ต้องเจ็บท้องนานและสูญเสียเรี่ยวแรงมาก การเก็บกักตุนพลังงานสำหรับการเจ็บท้องระยะแรกมีความสำคัญต่อคุณแม่อย่างยิ่ง ถ้าโรงพยาบาลที่จะไปคลอดอนุญาตให้คุณแม่กินอาหารหรือดื่มน้ำในช่วงเจ็บท้องได้ คุณแม่อาจเตรียมอาหารที่ย่อยง่ายกินสะดวก เช่น แซนด์วิช ขนมปัง ผลไม้ หรือขนมที่ให้พลังงานได้ในทันที เช่น ช็อกโกแลต เป็นต้น คุณแม่ควรเตรียมไปเผื่อคุณพ่อ ผู้ใกล้ชิด รวมทั้งผู้ช่วยคลอดบ้างก็ได้ หากหิวขึ้นมาจะได้ไม่ทิ้งคุณแม่ออกไปหาซื้ออะไรกิน
ระยะนี้คุณแม่จะกระหายน้ำมากควรเตรียมน้ำผลไม้เจือจางที่ไม่หวานนัก หรือน้ำเย็นใส่กระติกไปด้วย แต่เมื่อเข้าสู่ระยะการคลอดจริง ๆ แล้วส่วนใหญ่คุณหมอจะให้งดอาหารและน้ำไว้ก่อน เพราะอาจเกิดภาวะฉุกเฉินในระหว่างการคลอด เช่น ปากมดลูกไม่เปิดเพิ่ม หรือหัวใจลูกเต้นผิดปกติ จำเป็นต้องผ่าตัดคลอดฉุกเฉินจะได้สามารถดมยาสลบได้
2. เตรียมคลอดอย่างผ่อนคลาย
เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลหรือพยาบาลแนะนำให้คุณแม่เตรียมอุปกรณ์ที่จะช่วยผ่อนคลายความเจ็บปวดได้ เช่น ลูกกลิ้งนวดหลัง กระเป๋าน้ำร้อน ฯลฯ คุณแม่จัดใส่กระเป๋าวางรวมกับข้าวของอื่น ๆ เมื่อเวลาเจ็บท้องจะได้ไม่ลืมหยิบไปโรงพยาบาล
เตรียมตัวให้สบาย ช่วงแรกที่เริ่มเจ็บท้องคลอดคุณแม่อาบน้ำให้สบายเนื้อสบายตัว ถ้าผมยาวปรกหน้ารุงรัง ใช้หวีสับหรือรวบมัดให้เรียบร้อย จะได้ไม่ทำให้รำคาญเวลากระสับกระส่ายขณะเจ็บท้องคลอด คุณแม่เตรียมลิปสติกทากันปากแห้งติดตัวไปด้วย เพราะต้องหายใจทางปากช่วยขณะเบ่งคลอด ทำให้ปากแห้งได้ อย่าลืมนำแปรงสีฟันและยาสีฟันติดกระเป๋าไปด้วย เมื่อเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ถ้าได้แปรงฟันอาจช่วยให้รู้สึกดีขึ้น เตรียมผ้าซับเหงื่อยามเจ็บท้องและเบ่งคลอด ถ้าเพลียและเหนื่อยลองใช้ผ้าชุบน้ำเย็นๆ เช็ดเนื้อตัว อาจช่วยให้คุณแม่สดชื่นขึ้น
เบี่ยงเบนความสนใจ คุณแม่ส่วนใหญ่มักเจ็บท้องคลอดในช่วงต้นๆ อยู่นาน เป็นการรอคอยที่ทำให้คุณแม่เบื่อได้ หากมีอะไรทำเพลิน ๆ เบนความสนใจไปเรื่องอื่น เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลงหรือเล่นเกม จะช่วยให้คุณแม่ลืมความเจ็บปวดไปได้บ้าง
ความเจ็บปวดทุรนทุรายในช่วงแรกของการเจ็บท้องคลอดอาจผ่อนคลายลงได้ด้วยการนวด คุณแม่ให้คุณพ่อหรือญาติมิตรชิดใกล้นวดบริเวณกระดูกสันหลัง โดยใช้มือหรือลูกกลิ้งนวดหลัง โดยทาน้ำมันนวดหรือแป้งฝุ่นที่ผิวหนังคุณแม่และมือผู้นวดเพื่อลดความแห้งกระด้างของผิว และวางกระเป๋าน้ำร้อนประคบไว้ที่บริเวณก้นกบจะช่วยบรรเทาอาการปวดหลังให้คุณแม่ได้
คลายร้อน คุณพ่อใช้ผ้าขนหนูผืนเล็กๆ ชุบน้ำเย็นคอยเช็ดหน้าให้คุณแม่ขณะที่เจ็บท้องคลอด หรือใช้พัดเล็กๆ โบกพัด ลมเย็นอ่อนๆ จะช่วยให้คุณแม่สดชื่นสบายขึ้น
บางช่วงระหว่างเจ็บท้องคลอด คุณแม่อาจไม่อยากดื่มอะไรทั้งนั้น เพียงแค่อยากอมอะไรที่ช่วยให้ชุ่มคอก็พอ เช่น น้ำแข็งก้อนละเอียดที่เตรียมไว้ในกระติก คุณแม่อมน้ำแข็งไว้ในปากจะรู้สึกเย็นสบายผ่อนคลายได้
กันหนาว หลังจากคลอดใหม่ๆ คุณแม่บางคนอาจรู้สึกหนาวจนตัวสั่นเนื่องจากสูญเสียความร้อนภายในตัวจากลูกที่คลอดออกไป ควรเตรียมถุงเท้าหนาๆ หรือผ้าผืนเล็กๆ ไว้ห่มขาให้อบอุ่นด้วย
สิ่งของที่ควรเตรียมไว้สำหรับคุณแม่
หนังสือ นิตยสาร เกม ฯลฯ
อาหารและเครื่องดื่ม
แป้งฝุ่นหรือน้ำมันนวด
ที่นวดหลัง
ฟองน้ำธรรมชาติ
กระเป๋าน้ำร้อน
หวีและที่หนีบผม
แปรงสีฟันและยาสีฟัน
พัดกับผ้าเช็ดหน้า
ผ้าขนหนูเช็ดตัว
ถุงเท้าและผ้าห่ม
กระดาษทิชชู
ลิปมัน
กระติกน้ำแข็ง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก