ท้องนี้ เราซึมเศร้าหรือเปล่า ?

ตั้งครรภ์

ท้องนี้ เราซึมเศร้าหรือเปล่า ?
(Mother&Care)
เรื่อง : แม่ออมจัง

          "กังวลมากกับท้องแรก ร้องไห้บ่อย กลัวว่าจะทำไม่ถูก ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน อย่างไรดีก่อน แล้วดีหรือเปล่า..."

          "เจ็บแผลผ่าคลอด ทำให้ต้องนอนน้อย อ่อนเพลีย กินก็ไม่ค่อยได้ รู้สึกกังวลตั้งแต่ท้องแล้ว เพราะไม่มีใครช่วยเลี้ยง..."

          "สามีทำงานต่างจังหวัด กังวลกับเรื่องค่าใช้จ่าย เรื่องลูก พอคิดทีไรร้องไห้ทุกที อยากมีคนช่วยเลี้ยง..."

คุณรู้สึกแบบนี้หรือเปล่า ?

          ความรู้สึกหรือปัญหาที่เกิดกับแม่หลังคลอด สามารถเกิดขึ้นได้สิ่งสำคัญคือ ต้องได้รับการดูแลและความเข้าใจจากทุกฝ่าย เพราะอาจเป็นเรื่องซีเรียส มีผลกับการเลี้ยงดูลูกน้อยและคนรอบข้าง เพื่อป้องกันและหาทางออก เตรียมรับมือกับปัญหาให้ถูกทาง เรามีข้อมูลมาบอกค่ะ

แบบไหนที่เรียกว่าซึมเศร้า

          การมีสมาชิกตัวน้อย ๆ ออกจะเป็นเรื่องที่น่ายินดี มีความสุข แต่คุณแม่บางคนอยู่ในสภาพอารมณ์ที่ไม่พร้อม อยู่ในภาวะที่เรียกว่าภาวะซึมเศร้า ซึ่งมีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดขึ้น เช่น ปัญหาระหว่างคลอดหรือหลังการคลอด ปัญหาครอบครัว และการปรับตัวเป็นคุณแม่ ที่ต้องเลี้ยงลูกพร้อมกับการทำหน้าที่ภรรยา ฯลฯ

ในทางการแพทย์ แบ่งกลุ่มคุณแม่ที่มีอาการทางอารมณ์ได้ดังนี้

อารมณ์เศร้าหลังคลอด

          อาการหลัก ๆ คืออารมณ์แปรปรวน เช่น รู้สึกหงุดหงิด วิตกกังวล ฉุนเฉียวง่าย นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย เศร้าเหงาและเบื่ออาหาร มีลักษณะคล้ายอาการหงุดหงิดทั่วไป โดยอาการจะเกิดขึ้นตั้งแต่วันแรก ๆ หลังคลอด เป็นอาการที่ไม่รุนแรงมาก และไม่ใช่อาการป่วยแต่อย่างใด อาการจะดีขึ้นเองในเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์

โรคซึมเศร้าหลังคลอด

          เป็นอาการต่อเนื่องจากอาการอารมณ์ซึมเศร้า (ถ้าเป็นเกิน 2 สัปดาห์) อาการจะมากขึ้น เช่น ไม่อยากลุกจากที่นอน นอนร้องไห้ เลี้ยงลูกไม่ได้ต้องมีผู้ช่วย มักเป็นเกือบตลอดทั้งวัน เกือบทุกวัน ไม่มีความรู้สึกสนุก หรืออยากทำในสิ่งที่ก่อนหน้านี้เคยทำได้

เศร้า...เข้าข่ายรุนแรง

          รูปแบบสุดท้าย เป็นอาการของโรคจิตเวช ซึ่งอาจพบว่ามีประวัติป่วยทางจิตมาก่อน เช่น ระหว่างท้องอ่อน ๆ มีประวัติทำร้ายตัวเองหรือคนในครอบครัว การแสดงอารมณ์จะไม่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ มักหลุดออกจากความเป็นจริง เช่น เดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้ และอาจทำร้ายลูกได้ เป็นต้น

ผลร้ายต่อแม่และลูก

          เนื่องจากร่างกายของแม่หลังคลอดจำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่ถูกสัดส่วน เพื่อพักฟื้นร่างกายหลังการคลอด แต่เมื่อเกิดภาวะซึมเศร้า ทำให้คุณแม่เกิดอาการต่าง ๆ เช่น กินอาหารได้น้อยลง นอนไม่หลับ และพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้สุขภาพไม่แข็งแรง เจ็บป่วยได้ง่าย จึงส่งผลต่อการเลี้ยงดูลูกในที่สุด โดยเฉพาะเรื่องพัฒนาการ การเติบโตของลูกที่ขาดการดูแลเอาใจใส่ได้ไม่เต็มที่หรือเหมาะสม และในรายที่รุนแรง ก็พบได้ว่า อาจถึงขั้นทำร้ายลูกน้อยค่ะ

คลายเศร้า ให้คุณแม่หลังคลอด

          การป้องกันและช่วยให้ภาวะซึมเศร้าของแม่หลังคลอดผ่านไปได้ด้วยดี ไม่ถึงขั้นรุนแรง คือ การปรับสภาพจิตใจและดูแลตัวเอง พร้อมทั้งคนรอบข้างอย่างคุณพ่อและสมาชิกในบ้าน ที่เข้าใจถึงความรู้สึก ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นกำลังใจที่ดี ด้วยวิธีต่อไปนี้ค่ะ

ที่พึ่งทางใจ

          อารมณ์ที่แปรปรวนของคุณแม่ หากมีคุณพ่อของลูกเป็นที่พึ่งทางใจ ให้คำแนะนำดี ๆ มีทางออกร่วมกันถึงสิ่งที่คุณแม่กังวล วิตก หรือรู้สึกแย่ จะช่วยให้ช่วงเวลาเหล่านี้ คลี่คลายไปด้วยดียิ่งขึ้น

ผู้ช่วยเรื่องลูก

          การเลี้ยงลูกเพียงลำพัง อาจทำให้คุณแม่รู้สึกท้อและเหนื่อยได้ง่าย ๆ ดังนั้น การมีคนคอยช่วยเหลือ หยิบจับทำแทนคุณแม่บางเรื่อง เช่น คุณพ่อช่วยอาบน้ำลูก ทำงานบ้านแทนคุณแม่หรือมีผู้ช่วยเรื่องงานบ้านหรือการมีคุณตาคุณยายมาช่วยเลี้ยงหลาน ๆ ก็ถือว่าช่วยแบ่งภาระได้พอสมควร

เวลาส่วนตัวของแม่

          การให้แม่ของลูกมีเวลาส่วนตัว ได้พักผ่อน คลายเครียดหรือการดูแลสุขภาพร่างกายบ้าง ก็เท่ากับเป็นการชาร์จแบตเตอรี่ให้คุณแม่ได้กลับมาทำหน้าที่คุณแม่และภรรยาได้อย่างเต็มที่นั่นเอง

เลี้ยงลูกอย่างมีความสุข

          ขอเพียงคุณแม่แน่วแน่ที่จะแก้ไข หรือคิดที่จะเปลี่ยนตัวเอง เป็นคุณแม่คิดบวก (คิดดี ทำดี = ได้ดี) สิ่งดี ๆ ก็จะเกิดขึ้น เพราะอย่าลืมว่าเมื่อแม่เปี่ยมล้นด้วยความสุขลูกและคนรอบข้าง ก็พลอยมีความสุขด้วยเช่นกัน

          ความทุกข์ ความสุขอยู่แค่เอื้อม เพียงคุณแม่เลือกหยิบสิ่งไหนให้กับลูกและเราก็รู้ว่า คุณแม่มีคำตอบอยู่ในใจแล้วค่ะ


               
      



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.9 No.98 กุมภาพันธ์ 2556

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ท้องนี้ เราซึมเศร้าหรือเปล่า ? อัปเดตล่าสุด 26 ธันวาคม 2566 เวลา 16:23:59 1,917 อ่าน
TOP
x close