เมื่อลูกในครรภ์ไม่โต!

ตั้งครรภ์

เมื่อลูกในครรภ์ไม่โต!
(รักลูก)
โดย : ก้านแก้ว

             แม่ตั้งครรภ์เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า ลูกในท้องจะเติบโตตามอายุครรภ์หรือเปล่า หรือหากลูกไม่เจริญเติบโต จะมีวิธีสังเกตและป้องกันได้อย่างไร เรามีข้อมูลมาฝากค่ะ

             แม่ท้องสามารถทราบว่าลูกน้อยในท้องมีพัฒนาการตามอายุครรภ์หรือไม่ โดยสังเกตอาการต่าง ๆ ดังนี้

             ฮอร์โมนแห่งการตั้งครรภ์ การตั้งครรภ์ 3-4 เดือนแรก เมื่อลูกในท้องมีพัฒนาการมากขึ้น จะมีการสร้างฮอร์โมนแห่งการตั้งครรภ์ ทำให้แม่ท้องจะมีอาการเช่น เจ็บเต้านม ปัสสาวะบ่อย อารมณ์เปลี่ยนแปลง หงุดหงิดมากขึ้น และแพ้ท้อง

             นับจังหวะลูกดิ้น คุณแม่ท้องแรกจะเริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้นตอน18 สัปดาห์ ถ้าเป็นท้องหลังจะเริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้นตอน 16 สัปดาห์ แต่แม่ท้องจะรู้สึกว่าลูกดิ้นจนนับจังหวะได้ชัดเจนตอนอายุครรภ์ได้ 20 สัปดาห์หรือไตรมาสที่ 2 ไปแล้วค่ะ

             เทคนิคในการนับง่าย ๆ คือใน 12 ชั่วโมง ลูกควรจะดิ้นเกิน 10 ครั้ง เช่น 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม ถ้าลูกดิ้นเกิน 10 ครั้ง ก็แสดงว่าปกติ ถ้าวันไหนที่รอดูมาทั้งวันแล้วรู้สึกว่าลูกไม่ค่อยดิ้นเลย อาจเป็นเพราะลูกกำลังหลับอยู่ ลองดื่มน้ำหวาน แล้วรอประมาณ 1 ชั่วโมง พอลูกตื่น จะดิ้นจนแม่ท้องรู้สึกได้ ซึ่งถ้าลองทำวิธีนี้แล้ว ลูกยังดิ้นน้อยอยู่จะต้องมาพบแพทย์ค่ะ

             น้ำหนักบอกพัฒนาการ น้ำหนักของคุณแม่จะเป็นสิ่งที่บอกว่าลูกได้รับสารอาหารและออกซิเจนเพียงพอ หรือไม่ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ประมาณ 12-15 กิโลกรัมตลอดการตั้งครรภ์

             ดูจากยอดมดลูก เมื่อมีการตั้งครรภ์มดลูกจะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสามารถดูพัฒนาการของลูกน้อยได้จากการขยายตัวของมดลูก โดยเมื่อตั้งครรภ์ในช่วง 12 สัปดาห์แรก ยอดมดลูกจะอยู่เหนือกระดูกหัวเหน่า โดยแบ่งส่วนที่ต่ำกว่าสะดือเป็น 3 ส่วน

             เมื่อตั้งครรภ์ได้ 16 สัปดาห์ ยอดมดลูกจะอยู่เหนือกระดูกหัวเหน่าประมาณ 1 ใน 3 และจะเริ่มสูงประมาณ 2 ใน 3 เหนือกระดูกหัวเหน่า เมื่ออายุครรภ์ 20 สัปดาห์ และจะอยู่ตรงสะดือพอดีเมื่ออายุครรภ์ 24 สัปดาห์

             พออายุครรภ์ 28 สัปดาห์ ยอดมดลูกจะสูงประมาณ 1 ใน 4 เหนือสะดือ จากนั้นจะสูง 2 ใน 4 เมื่ออายุครรภ์ 32 สัปดาห์ สูงประมาณ 3 ใน 4 เมื่ออายุครรภ์ 36 สัปดาห์ และจะอยู่สูงสุดคือ 4 ใน 4 หลังจาก 37 สัปดาห์

             หากเป็นท้องแรกเมื่อศีรษะเด็กเข้าสู่อุ้งเชิงกราน ช่วงนั้นท้องก็จะเริ่มลดลง ซึ่งวิธีสังเกตยอดมดลูกนี้ แพทย์จะเป็นผู้ประเมินเวลาที่คุณแม่มาตรวจอัลตราซาวนด์ค่ะ

พัฒนาการของทารกน้อย

             พัฒนาการของการตั้งครรภ์จะแบ่งเป็น 3 ไตรมาส ดังนี้

             ไตรมาสที่ 1 (เดือน ที่ 1-3) หลังจากมีการปฏิสนธิระหว่างอสุจิกับไข่แล้ว ตัวอ่อนจะเคลื่อนเข้าไปฝังในโพรงมดลูก และเมื่อมีการยึดติดกันอย่างมั่นคงก็จะเป็นการปฏิสนธิที่สมบูรณ์ และเกิดเป็นตัวอ่อนในการตั้งครรภ์ขึ้น

             อายุครรภ์เดือนแรกจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน แต่ในเดือนที่ 2 จะเริ่มมองเห็นเป็นตัวทารก และเริ่มมีการพัฒนาในส่วนของใบหน้า มือและเท้า เวลาคุณแม่ไปตรวจอัลตราซาวนด์ก็จะเห็นหัวใจเต้น เห็นสายรกและรก ซึ่งทำหน้าที่นำเลือด ออกซิเจน และลำเลียงสารอาหารมาให้ลูก

             เดือนที่ 3 ลูกจะมีการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อ ระบบของร่างกายเริ่มทำงานสัมพันธ์กับระบบสมอง มีการเคลื่อนไหว นิ้วมือและนิ้วเท้าเริ่มสมบูรณ์และงอได้แล้ว ช่วงนี้ทารกจะกลืนน้ำคร่ำและลอยตัวอยู่ในน้ำคร่ำ ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องลูกจากการกระทบกระเทือนต่างๆ ค่ะ

             ไตรมาสที่ 2 (เดือนที่ 4-6) ทารกเริ่มมีการเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วขึ้น หากเป็นท้องแรกอาจจะไม่รู้สึกว่าลูกดิ้น แต่ถ้าเป็นท้องที่ 2 จะเริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้นแล้ว ทารกน้อยจะเริ่มมีขนอ่อนปกคลุมร่างกาย มีจำนวนเส้นประสาทและกล้ามเนื้อมากขึ้น อวัยวะเพศเริ่มพัฒนา และสามารถระบุเพศได้

             เมื่อถึงเดือนที่ 5 คุณแม่จะเริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้นชัดเจน มีการสร้างฟัน เส้นผม คิ้ว ขนตา และเริ่มมีการสร้างสารสีขาวเคลือบเส้นผมและขนของทารก ช่วงนี้ทารกจะเริ่มพัฒนาการรับรส รับกลิ่นและการได้ยิน ดังนั้น แม่ตั้งครรภ์และคุณพ่อสามารถเปิดเพลงให้ลูกฟัง พูดคุย หรืออ่านหนังสือนิทาน จะช่วยฝึกให้ลูกจำเสียงได้

             เมื่อถึงเดือนที่ 6 ปอด ระบบย่อยอาหารและระบบภูมิคุ้มกัน จะเริ่มพัฒนามากขึ้นค่ะ

             ไตรมาสที่ 3 (เดือนที่ 7 ไปจนกระทั่งคลอด) ในเดือนที่ 7 ทารกจะมีไขมาปกคลุมผิวหนัง เพื่อสร้างความอบอุ่น ต่อมรับรสและการมองเห็นเริ่มมีการพัฒนามากขึ้น จะเริ่มมองเห็นแสงจากภายนอกได้แล้ว

             เดือนที่ 8 ทารกเริ่มกลับหัวเข้าสู่อุ้งเชิงกราน ช่วงนี้คุณแม่จะเริ่มมีอาการเจ็บท้องหลอก โดยจะรู้สึกเจ็บแบบไม่สม่ำเสมอ ซึ่งเป็นการบีบตัวของมดลูกค่ะ

             เดือนที่ 9 เริ่มมีเล็บยาวจนคลุมปลายนิ้ว มีผมยาวประมาณ 1-2 นิ้ว และศีรษะของลูกจะเลื่อนลงสู่อุ้งเชิงกราน เตรียมพร้อมออกมาเห็นหน้าคุณพ่อคุณแม่แล้วค่ะ

อาการนี้ แม่ตั้งครรภ์ต้องระวัง!

          ถ้าแม่ท้องมีอาการเหล่านี้ ให้สังเกตและสงสัยว่าลูกน้อยในท้องอาจไม่ปกติค่ะ

             อายุครรภ์ 3-4 เดือนแรก มีการเจ็บเต้านม ปัสสาวะบ่อย คลื่นไส้ ตัวบวม แล้ว จู่ ๆ อาการเหล่านี้ก็หายไป ให้สงสัยว่าลูกในท้องกำลังมีปัญหา (เว้นเสียแต่ว่าจะดีขึ้นจริงๆ)

             น้ำหนักลดหรือไม่ขึ้นตามเกณฑ์

             ตำแหน่งยอดมดลูกอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์

             เมื่ออายุครรภ์ถึง 20 สัปดาห์แล้ว แต่ยังไม่รู้สึกว่าลูกดิ้น หรือลูกดิ้นมาโดยตลอดแต่ตอนนี้ไม่ดิ้นเลย หรือรู้สึกดิ้นน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ ต้องรีบพบแพทย์ทันที

5 วิธีปฏิบัติตัว เมื่อลูกน้อยในครรภ์พัฒนาการไม่ปกติ

            1. พบแพทย์ คุณหมอจะประเมินว่าสาเหตุที่ลูกในท้องไม่พัฒนาตามอายุครรภ์ ซึ่งเกิดขึ้นได้จาก 3 สาเหตุหลัก คือ

             แม่ตั้งครรภ์มีความผิดปกติ เช่น มีโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวาน เกิดความผิดปกติที่เส้นเลือดทำให้อาหารส่งไปถึงลูกได้น้อยลง หรือแม่ตั้งครรภ์ที่น้ำหนักขึ้นไม่ค่อยตามเกณฑ์ น้ำหนักน้อยหรือมีประวัติได้รับยาหรือสารอันตราย เช่น สูบบุหรี่จัด ดื่มเหล้า ใช้สารเสพติด เป็นต้น

             รกสายและสะดือผิดปกติ เช่น มีปัญหารกลอกตัวก่อนกำหนด เส้นเลือดบริเวณใต้รกฉีกขาด รกเสื่อมสภาพ

             เกิดจากความผิดปกติของลูก เช่น มีความผิดปกติของโครโมโซม มีการติดเชื้อไวรัส หรือมีความพิการแต่กำเนิด ซึ่งเมื่อทราบสาเหตุแล้วคุณหมอจะแก้ไขที่สาเหตุ ร่วมกับการปรับเปลี่ยนโภชนาการและพฤติกรรมของแม่ตั้งครรภ์

            2. กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และควรเพิ่มพลังงานจากอาหารวันละ 300 กิโลแคลลอรี เมื่อไปฝากครรภ์ทางโรงพยาบาลจะมีทีมโภชนาการคอยดูแล ซึ่งนักโภชนาการจะวิเคราะห์ว่าคุณแม่กินอาหารไปเท่าไหร่ และเพียงพอหรือไม่

            3. ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 8-10 ชั่วโมง นอนกลางวันประมาณ ½ -1 ชั่วโมง

            4. ทำตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น การนับลูกดิ้นใน 12 ชั่วโมง ควรจะเกิน 10 ครั้ง

            5. ไปพบตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ หากคุณแม่มีอาการผิดปกติ ควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อการป้องกันแก้ไขได้อย่างทันท่วงที

             แม่ตั้งครรภ์ควรสังเกตอาการและดูแลครรภ์อย่างเหมาะสม เพื่อพัฒนาการของลูกน้อยที่ปกติค่ะ



            


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เมื่อลูกในครรภ์ไม่โต! อัปเดตล่าสุด 21 สิงหาคม 2557 เวลา 11:47:37 64,281 อ่าน
TOP
x close