7 Steps ลดปวดอุ้งเชิงกราน ช่วงตั้งครรภ์

ตั้งครรภ์


7 Steps ลดปวดอุ้งเชิงกราน (รักลูก)
เรื่อง : ก้านแก้ว

          เมื่อคุณแม่อยู่ในอิริยาบถเดิม ๆ เช่น ยืนหรือนั่งนาน ๆ แล้วมีอาการปวดหลัง เอว ก้นกบ จนถึงบริเวณอุ้งเชิงกราน สัญญาณเหล่านี้คืออาการปวดเรื้อรังซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นหมอนรองกระดูกเสื่อมได้ค่ะ

7 สาเหตุปวดอุ้งเชิงกราน


          อาการปวดที่บริเวณอุ้งเชิงกรานเกิดขึ้นได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 5-6 เดือนไปจนถึงช่วงหลังคลอด เมื่ออายุครรภ์เพิ่มมากขึ้น มดลูกและน้ำหนักตัวลูกจะทำให้ท้องคุณแม่มีขนาดใหญ่ แต่สิ่งที่ช่วยป้องกันร่างกายคุณแม่ไม่ให้ล้มไปด้านหน้าคือกล้ามเนื้อบริเวณหลังที่ช่วยยืดกระดูกสันหลังทำหน้าที่ดึงรั้งให้ตัวคุณแม่โน้มมาในแนวตรงดังเดิม ซึ่งกระดูกสันหลังนั้นยืดติดกับกระดูกเชิงกราน ทำให้กระดูกบริเวณนี้ต้องทำงานหนัก จนเกิดอาการปวดร้าวได้ค่ะ

โดยสาเหตุหลักของอาการปวด คือ

          1.น้ำหนักเพิ่มขึ้นมากช่วงตั้งครรภ์ โดยทั่วไปคุณแม่ตั้งครรภ์ควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 10-15 กิโลกรัม แต่ถ้าน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ จะทำให้กระดูกสันหลังและกระดูกเชิงกรานต้องออกแรงมากขึ้นในการพยุงน้ำหนักของคุณแม่และลูกน้อย จนอาจเกิดอาการปวดอุ้งเชิงกรานได้

          2.อายุที่เพิ่มขึ้นของคุณแม่ ถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์ตอนอายุมาก สภาพความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและความยืดหยุ่นของร่างกายก็จะลดน้อยลง กล้ามเนื้อที่ใช้ยืดบริเวณอุ้งเชิงกรานก็จะรับน้ำหนักได้ไม่ดี

          3.ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่สูงขึ้น ช่วงตั้งครรภ์ 5-6 เดือน ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนนี้มีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว เพื่อเตรียมยืดขยายสำหรับให้ลูกน้อยเคลื่อนผ่านช่องคลอดได้ง่ายขึ้น ทั้งยังส่งผลให้กล้ามเนื้อที่ยืดอุ้งเชิงกรานอีกด้วย ทำให้กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง กระดูกเชิงกรานต้องแบกรับน้ำหนักมากขึ้น อาการปวดก็จะตามมา

          4.พื้นฐานเดิมของคุณแม่ ถ้าก่อนตั้งครรภ์คุณแม่เป็นคนที่มีกล้ามเนื้อแข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอแล้วล่ะก็ จะพบกับปัญหาการปวดกระดูกเชิงกรานน้อยกว่าคนที่อ้วนหรือกล้ามเนื้อไม่แข็งแรงค่ะ

          5.พฤติกรรมระหว่างตั้งครรภ์ ทั้งท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน มีผลต่อกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานแทบทั้งสิ้น เช่น คุณแม่ที่ท้องใหญ่แล้วต้องมาก้ม ๆ เงย ๆ ยกของ จะทำให้กระดูกสันหลังและกระดูกเชิงกรานถูกดึงรั้งจึงทำให้เกิดอาการปวดหลังคลอดได้มากยิ่งขึ้น

          6.ตั้งครรภ์ในท้องหลัง ๆ กรณีคุณแม่ที่เคยคลอดลูกมาแล้วหลายคน กล้ามเนื้อจะหย่อนยานมากกว่าคุณแม่ท้องแรก เมื่อต้องรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นแต่กล้ามเนื้อขาดความแข็งแรงก็จะปวดรุนแรงกว่าค่ะ

          7.ชอกช้ำจากการคลอด เช่น ทารกมีขนาดตัวใหญ่ทำให้คลอดยากหรือต้องเบ่งคลอดนาน ส่งผลให้กระดูกเชิงกราน และกล้ามเนื้อรอบ ๆ ชอกช้ำ ทำให้มีอาการปวดได้

          ถ้าหากคุณแม่มีอาการปวดกระดูกเชิงกรานเรื้อรัง อาจทำให้กล้ามเนื้อที่ยืดขยายรับน้ำหนักได้ไม่ดี ส่งผลกระทบต่อหมอนรองกระดูกที่จะเสื่อมเร็ว มีโอกาสที่หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท เมื่อกระดูกต้องแบกรับน้ำหนักมากโดยขาดกล้ามเนื้อที่แข็งแรงมาช่วยพยุงน้ำหนัก อาจทำให้กระดูกผุกร่อนจนนำไปสู่ภาวะกระดูกพรุนได้ในระยะยาวค่ะ

7 Steps ปวดอุ้งเชิงกราน


          1.หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง เพราะรองเท้าส้นสูงทำให้น้ำหนักตัวของเราโน้มมาด้านหน้ากระดูกสันหลัง และกล้ามเนื้อจะต้องทำงานหนักในการดึงตัวกลับมาทรงตัวอยู่ในแนวตรงได้ตามปกติ อาการปวดก็จะเพิ่มขึ้น

          2.ไม่นอนเตียงที่นิ่มเกินไป เพราะจะทำให้หลังไม่ตรง กระดูกเชิงกรานต้องรับน้ำหนักเพิ่ม ทำให้มีอาการปวดมากขึ้น ถ้ามีอาการปวดที่รุนแรงแนะนำให้นอนบนพื้น ซึ่งใน 2-3 วันแรก จะรู้สึกปวดเวลาต้องนอนที่พื้นแข็ง ๆ แต่เมื่อกระดูกสันหลังตรงแล้วก็จะหายปวดได้

          3.รักษาแกนร่างกายให้ตรง ไม่ว่าจะเป็นการนั่ง นอน ยืน โดยควรปฏิบัติมาตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ เช่น หากคุณแม่ตั้งครรภ์จะต้องก้มหยิบของ ควรย่อเข่าลงไปทั้งตัว เพื่อเป็นการผ่อนน้ำหนักไม่ให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานทำงานหนักเกินไป รวมทั้งเวลานอนก็ควรนอนตะแคงและนำหมอนมารองระหว่างขาเพื่อช่วยรองรับน้ำหนักให้สมดุลยิ่งขึ้น

          4.บริหารอุ้งเชิงกราน โดยฝึกขมิบกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเหมือนการกลั้นปัสสาวะ เกร็งไว้ประมาณ 10 วินาที โดยทำวันละ 20-30 ครั้ง หรืออาจทำท่าคุกเข่าลงให้ไหล่ หลัง และก้น อยู่ในระดับเดียวกัน จากนั้นยกตัวขึ้นเกร็งไว้ประมาณ 10 วินาที ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้น

          5.ประคบร้อนและเย็น การประคบร้อนจะทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวมากขึ้น เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อได้ง่ายขึ้น อาการปวดก็จะลดลง ส่วนการประคบเย็นจะทำให้เส้นเลือดหดตัว จะรู้สึกชาบริเวณที่ปวด ซึ่งจะประคบเย็นในกรณีที่มีการปวดเฉียบพลัน จากนั้นคุณแม่สามารถสลับเป็นประคบร้อนได้

          6.ควบคุมน้ำหนักตั้งแต่ตั้งครรภ์ ควรเลือกบริโภคอาหารที่เป็นประโยชน์ หลีกเลี่ยงการกินคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป ไม่ควรให้น้ำหนักเกิน 15 กิโลกรัมตลอดการตั้งครรภ์ เพื่อเป็นการป้องกันให้กล้ามเนื้อและกระดูกเชิงกรานต้องรับน้ำหนักที่หนักมากเกินไป

          7.ถ้ามีอาการปวดรุนแรงสามารถกินยาได้ เช่น ยาพาราเซตามอล หรือยากลุ่มที่ต้านการอักเสบของกล้ามเนื้อที่ไม่ใช่ยาสเตียรอยด์ ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ในการป้องกันอาการปวดกล้ามเนื้อได้ดี ซึ่งจะใช้ได้เฉพาะหลังคลอดเท่านั้น เนื่องจากในช่วงตั้งครรภ์ยาเหล่านี้จะมีผลกับลูกในท้องค่ะ

          ดีที่สุดคือคุณแม่ควรดูแลไม่ให้มีน้ำหนักมากเกินไประหว่างตั้งครรภ์ ในช่วงหลังคลอดก็ควรฝึกบริหารกล้ามเนื้อและจัดท่าทางของร่างกายให้ตั้งตรง อาการปวดบริเวณอุ้งเชิงกรานก็จะลดลงได้ค่ะ

 อาการแบบนี้...ปวดกระดูกเชิงกราน

          ปวดตั้งแต่เอว หลัง ก้นกบ และรอบ ๆ อุ้งเชิงกรานเวลาที่นั่งหรือยืนนาน ๆ รวมทั้งเวลาที่ต้องเปลี่ยนอิริยาบถเร็ว ๆ

          ไม่ควรรู้สึกปวดนานเกิน 6 เดือนหลังคลอด และต้องไม่รู้สึกปวดร้าวหรือชาไปที่ขา

          หากคุณแม่มีอาการปวดรุนแรงและเป็นเวลานาน ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจจะไม่ได้เกิดจากการปวดกระดูกเชิงกราน แต่เป็นอาการอื่น ๆ เช่น หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท ควรรีบรักษาก่อนที่จะมีอาการร้ายแรงถึงอัมพาต




            



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 30 ฉบับที่ 358 พฤศจิกายน 2555

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
7 Steps ลดปวดอุ้งเชิงกราน ช่วงตั้งครรภ์ อัปเดตล่าสุด 11 ธันวาคม 2555 เวลา 14:53:53 53,609 อ่าน
TOP
x close