4 เทคนิค สร้างลูกฉลาดตั้งแต่ในครรภ์ (Mother&Care)
คุณแม่ทุกท่านย่อมต้องการให้ลูกที่เกิดมาเป็นเด็กฉลาดทั้งทางสติปัญญาและอารมณ์ ถึงแม้ว่าเรื่องของกรรมพันธุ์จะเป็นปัจจัยหนึ่งต่อความเฉลียวฉลาดของลูก แต่ก็ยังมีเรื่องของอาหารของคุณแม่ตั้งแต่ขณะตั้งครรภ์และของลูกภายหลังคลอด รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเด็ก ขณะที่อยู่ในท้องและภายหลังคลอดก็เป็นส่วนสำคัญต่อพัฒนาการของสมองและอารมณ์ของลูกอย่างต่อเนื่องค่ะ
ลูกเป็นอย่างไร ในแต่ละช่วง
ช่วง 1-3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เป็นช่วงของการเริ่มต้นสร้างอวัยวะ กล้ามเนื้อต่าง ๆ และเซลล์ประสาทของลูกน้อย ช่วงนี้คุณแม่จะต้องดูแลเรื่องอาหาร ยา และหลีกเลี่ยงสารพิษ เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 3 ทารกจะมีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกที่มากระทบได้แล้ว ลูกจะดิ้นไปมาอยู่ในท้อง แต่แม่จะยัง ไม่ค่อยรู้สึกเพราะขนาดตัวของลูกยังเล็กมาก
ช่วง 4-6 เดือนของการตั้งครรภ์ ประสาทสัมผัสทางการได้ยินเริ่มพัฒนา ทารก จะเริ่มได้ยินเสียงหัวใจและเสียงของแม่ จำนวนเซลล์ของระบบประสาทเพิ่มมากขึ้น ทำให้ทารกเริ่มจดจำเสียงของคุณแม่ได้ และยังมีการเชื่อมต่อระหว่างระบบประสาทกับระบบกล้ามเนื้อ ทารกสามารถเคลื่อนไหวแขนและขาตามจังหวะของ ข้อพับ กำมือ ยืดตัว หรือพลิกตัวได้แล้ว
ช่วง 7-9 เดือนของการตั้งครรภ์ เมื่อลูกรู้สึกว่าภายนอก มีเสียงดัง หรือหากคุณแม่กินอาหารผิดเวลา ลูกจะสื่อความต้องการ หรือตอบโต้ด้วยการดิ้น เตะ ถีบ ระบบประสาทในการมองเห็นพัฒนา รูม่านตาจะเริ่มขยายหรือหรี่ได้ แม้จะอยู่ในถุงน้ำคร่ำ ทารกก็สามารถรับรู้ต่อแสง ความมืด ความสว่างได้ และสมองของทารกช่วงนี้ เป็นระยะที่มีการขยายตัวของเซลล์และรอยหยักมากขึ้น เด็กจะมีความจำมากขึ้น
ส่งเสริม 4 พัฒนาการให้ลูกในท้อง
ขณะที่ทารกอยู่ในครรภ์ ระบบประสาทส่วนต่าง ๆ ของลูกเริ่มทำงาน สามารถรับรู้และตอบสนองกับสิ่งกระตุ้นจากภายนอกท้องแม่ได้ โดยเฉพาะช่วงตั้งครรภ์ 4 เดือนไปแล้ว คุณแม่และคุณพ่อจึงสามารถช่วยส่งเสริมพัฒนาการของลูกได้ ดังนี้
1. ด้านอารมณ์คุณแม่ที่อารมณ์ดีอยู่เสมอจะทำให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีทั้งสมอง (IQ) และอารมณ์ (EQ) ในทางตรงกันข้าม คนที่มีอารมณ์หงุดหงิด โมโหง่าย จะทำให้ลูกคลอดออกมาเป็นเด็กงอแง เลี้ยงยาก พัฒนาการช้า ดังนั้นระหว่างตั้งครรภ์ควรปรับอารมณ์ให้ดีอยู่เสมอ ไม่เครียด อาจฟังเพลงหรืออ่านหนังสือเพื่อช่วยในการผ่อนคลายอารมณ์
2. ด้านการมองออกไปยืนรับแสงแดดอ่อนๆ นอกบ้านช่วงเช้าหรือบ่าย ควรเลือกแสงที่มีความสว่างไม่จ้าจนเกินไป นอกจากนี้ การใช้ไฟฉายส่องที่หน้าท้องก็เป็นอีกวิธีที่ทำให้เซลล์สมองและเส้นประสาทส่วนรับภาพและ การมองเห็นของทารกมีพัฒนาการดีขึ้นและเตรียมพร้อมสำหรับการ มองเห็นภายหลังคลอด
3. ด้านการได้ยินหมั่นพูดคุยกับลูกในท้องบ่อย ๆ ด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล ใช้ประโยคซ้ำ ๆ เพื่อให้ลูกคุ้นเคย จะช่วยให้ระบบประสาทและสมองที่ควบคุมการได้ยินมีพัฒนาการที่ดีและเตรียมพร้อมสำหรับการได้ยินหลังคลอด
นอกจากนี้ การร้องหรือเปิดเพลงให้ลูกฟังบ่อยๆ โดยเฉพาะเพลงที่มีความไพเราะและคุณแม่ชอบฟัง ซึ่งการใช้เสียงกระตุ้นจะทำให้ การได้ยินของลูกมีพัฒนาการดีขึ้น ช่วงเวลาที่เหมาะในการฟังเพลง ควรเป็นช่วงหลังมื้ออาหาร เพราะเป็นช่วงเวลาที่ลูกตื่นตัวมากที่สุด ควรเปิดเสียงเพลงให้อยู่ห่างจากหน้าท้องประมาณ 1 ฟุต และเปิดเสียงดังพอประมาณเพื่อลูกในท้องจะได้ฟังเสียงเพลงไปด้วย คลื่นเสียงจะไปกระตุ้นให้ระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการได้ยินมีการพัฒนาระบบการทำงานได้เร็วขึ้น ทำให้เมื่อลูกคลอดออกมาจะมีความสามารถในการจัดลำดับความคิดในสมอง รู้สึกผ่อนคลาย และจดจำสิ่งต่างๆ ได้ดี
4. ด้าน การสัมผัสการลูบไล้หน้าท้องบ่อย ๆ จะกระตุ้นระบบประสาทและสมองส่วนรับรู้ความรู้สึกของลูกให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น คุณแม่ควรลูบหน้าท้องเป็นวงกลมจากบนลงล่างหรือจากล่างขึ้นบน บริเวณไหนก่อนก็ได้ โดยขณะที่สัมผัสอาจร้องเพลงหรือพูดคุย ไปด้วย ยิ่งถ้าทำในช่วงเวลาเดิมเป็นประจำจะรู้สึกได้ว่าเมื่อถึงช่วงเวลานั้น ลูกจะดิ้นรออยู่แล้ว
นอกจากการลูบไล้หน้าท้องแล้วการออกกำลังกายเบา ๆ หรือการเดินเล่น จะทำให้ลูกในท้องมีการเคลื่อนไหว ตามไปด้วย และผิวกายของลูกจะไปกระแทกกับผนังด้านในของมดลูก ซึ่งจะช่วยกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสของลูกให้พัฒนาได้ดีขึ้น ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ต้องเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก