ให้นมแม่แต่เจ็บหัวนม (Mother&Care)
มีหลายคนที่ให้นมแม่ไม่สำเร็จ ก็เพราะมีอุปสรรคกลางทาง อาการหัวนมแตก สาเหตุที่ทำให้คุณแม่เจ็บจนท้อ และไม่สามารถให้นมลูกได้อีก วิธีการป้องกัน และการรักษา โดยขณะที่รักษาก็ยังให้ลูกดูดนมแม่ได้ แต่ก็ต้องอาศัยความใจเย็น และความอดทนของแม่นั่นเองค่ะ
ถ้าเกิดอาการหัวนมเจ็บ แตกขึ้นมา ก่อนอื่นคุณแม่ต้องหาสาเหตุก่อนว่า แตกเพราะสาเหตุใด จะได้แก้ไขให้ถูกวิธี
หัวนมแตกเพราะ...
1. ลูกอ้าปากไม่กว้างพอ ทำให้ปากลูกอมเฉพาะหัวนม ไม่ได้อมเข้าไปถึงลานหัวนม
2. ลูกมีพังผืดใต้ลิ้น ทำให้ความสามารถในการดูดนมแม่ไม่ดีพอ เพราะลิ้นเป็นส่วนที่ช่วยไล่น้ำนมจากท่อเก็บให้ไหลออกมาตามท่อน้ำนม มาถึงหัวนม และกลืนลงคอไปในที่สุด แต่ถ้าลูกไม่สามารถใช้ลิ้นได้อย่างดี กลไกนี้จะไม่เกิด นอกจากแม่จะหัวนมแตกแล้ว ลูกก็จะได้รับน้ำนมไม่เพียงพอด้วย
3. อุ้มลูกกินนมไม่ถูกวิธี เช่น ตัวลูกไม่ได้ระดับกับการดูดนมแม่ ทำให้ลูกดูดนมแม่ผิด
4. เต้านมคัด ลานนมแข็งมากเกินไป ลูกดูดนมไม่ออก
5. ลูกถอนปากออกจากหัวนมแรงหรือไม่ถูกวิธี
6. หัวนมแห้งแตก เพราะการทำความสะอาดที่มากเกินไป
7. ใช้เครื่องปั๊มนมที่มีความแรงมากเกินไป
ป้องกันหัวนมแตก...
1. เขี่ยริมฝีปากของลูก ให้อ้าออกให้กว้างขึ้น เพื่อให้ลูกอมไปถึงลานหัวนม
2. การตัดพังผืดใต้ลิ้นตั้งแต่เล็ก ๆ นั้น เป็นเรื่องง่ายมากเด็กไม่ต้องดมยาสลบ ไม่ต้องงดนม และหลังผ่าตัดก็กลับบ้านได้ทันที นอกจากจะทำให้ลูกดูดนมแม่ได้แล้ว ยังเป็นการป้องกันปัญหาการพูดไม่ชัดเมื่อโตขึ้นด้วย ดังนั้น ถ้าลูกไม่ดูดนม น้ำหนักไม่ขึ้น ควรให้คุณหมอตรวจดูว่าลูกมีพังผืดใต้ลิ้นหรือไม่ด้วย
3. อุ้มลูกกินนมให้ถูกวิธี ซึ่งสังเกตจาก ลูกดูดได้สบาย แม่ก็นั่งหรือนอนให้ลูกดูดได้สบาย อาจจะหาหมอนรองตัวลูกให้ได้ระดับ และศึกษาวิธีการอุ้มลูกที่ถูกต้อง
4. บีบน้ำนมออกเล็กน้อย หรือนวดเต้านมเบา ๆ ก่อนให้ลูกดูดนม เพื่อให้หัวนมนิ่มลง
5. ให้คุณแม่สอดนิ้วก้อยเข้าไปด้านล่าง ระหว่างริมฝีปากลูกกับหัวนมแม่ แล้วค่อยถอนหัวนมออก
6. การทำความสะอาดหัวนม ใช้สำลีชุบน้ำธรรมดาเช็ด ก่อนให้ลูกดูด และอาบน้ำชำระร่างกายตามปกติ ไม่จำเป็นต้องฟอกสบู่บ่อย จะทำให้หัวนมแห้งแตกได้
7. การใช้ที่ปั๊มที่มีแรงดูดมาก ทำให้หัวนมแตก และเต้านมอักเสบได้ ใช้วิธีการปั๊มด้วยมือก็ได้
วิธีแก้หัวนมแตก
1. ให้ลูกดูดข้างที่ไม่เป็นแผลก่อน ถ้าลูกไม่อิ่มค่อยให้ดูดอีกข้างที่เป็นแผล
2. ไม่จำเป็นต้องให้ลูกงดดูดนม นอกจากเจ็บจนทนไม่ไหวจริงๆ ให้บีบน้ำนมออกทุก 2-3 ชั่วโมง แล้วป้อนลูกด้วยถ้วยเล็กหรือช้อน
3. บีบน้ำนมทาบริเวณหัวนม ผึ่งลมไว้ให้แห้ง ในกรณีที่ปวดแผลมาก สามารถรับประทานยาพาราเซตามอลได้
4. นวดลานหัวนมให้นิ่มก่อนให้ลูกดูดนม หรือใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบ แล้วนวดเต้าเบาๆ ให้น้ำนมเริ่มไหลออกมา แล้วค่อยให้ลูกดูดต่อ จะคลายความเจ็บตึงได้
5. ถ้าเป็นมากควรปรึกษาแพทย์
วิธีบีบน้ำนมด้วยมือ
ดื่มน้ำอุ่นก่อนทำการบีบนม เพื่อให้เลือดไหลเวียนดี
ล้างมือให้สะอาด เตรียมภาชนะหรือถุงเก็บนมให้พร้อม
นั่งท่าที่สบายที่สุด
ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่น ประคบเต้านมสักพัก แล้วนวดเบา ๆ โดยใช้ฝ่ามือข้างหนึ่งประคองเต้าด้านล่าง ปลายนิ้วอีกข้างนวดเต้าเบา ๆ เป็นวงกลม จากฐานเต้าไปยังหัวนม และกระตุ้นหัวนมด้วยการใช้นิ้วดึงและคลึงหัวนม
วางปลายนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ที่ขอบลานหัวนม หรือห่างจากหัวนมประมาณ 3 เซนติเมตร แล้วกดนิ้วเข้าด้านใน บีบ 2 นิ้วเข้าหากัน น้ำนมจะถูกคันพุ่งออกมา บีบทิ้งไปก่อนสัก 2 ครั้งก่อนทำการเก็บน้ำนม
คลายนิ้วแล้วเริ่มทำใหม่ โดยบีบปล่อยให้เป็นจังหวะ จนน้ำนมหมด แล้วเลื่อนตำแหน่งนิ้วที่บีบไปตามขอบลานหัวนม เพื่อบีบน้ำนมออกจากกระเปราะน้ำนมด้านอื่นอย่างทั่วถึง
อย่าบีบแรง หรือเค้นจนเกินไป จะทำให้เต้านมอักเสบได้
เมื่อบีบเสร็จแล้วปล่อยหัวนมให้แห้ง ใส่ยกทรงให้พอดีทรง
แต่ละครั้งควรบีบน้ำนมให้เกลี้ยงเต้า และบีบไม่เกิน 30 นาทีต่อครั้ง ถ้าลูกไม่ได้ดูดทั้งวัน ควรบีบทุก 3 ชั่วโมงเป็นการกระตุ้นการผลิตน้ำนมให้สม่ำเสมอ