หัวใจวาย...ขณะตั้งครรภ์

ตั้งครรภ์

หัวใจวาย...ขณะตั้งครรภ์
(รักลูก)
เรื่อง : เมธาวี เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ พญ.ขนิษฐา อิ่มวัฒนา สูติ-นรีแพทย์ โรงพยาบาลวิภาวดี

          โรคหัวใจขณะตั้งครรภ์มีแนวโน้มมากขึ้น เป็นเพชฌฆาตเงียบที่นำไปสู่ภาวะหัวใจวายเฉียบพลันขณะคลอดได้

ดูแลสุขภาพก่อนหัวใจเปลี่ยน

          ในแม่ท้องที่เคยมีประวัติเป็นโรคหัวใจมาก่อน ควรดูแลสุขภาพของตัวเองก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อให้ตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย เพื่อลูกน้อยมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์

วิถีชีวิต กระตุ้นโรคหัวใจ

          การใช้ชีวิตอาจกระตุ้นให้อาการหัวใจกำเริบขึ้นได้ เช่น การออกกำลังกาย ออกได้แต่ควรพอดี ไม่หักโหมจนเกินไป เพราะจะทำให้หัวใจทำงานหนักมากขึ้น ดังนั้น ต้องเลือกออกกำลังกายที่เหมาะสม ควรออกกำลังกายเบา ๆ ถ้าเหนื่อยแนะนำให้หยุดเล่น แล้วนั่งพัก หายใจเข้าออกยาว ๆ จะช่วยให้ดีขึ้นได้ค่ะ

          การกินก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมากมาย กินอาหารที่มีรสเค็ม รสหวาน หรืออาหารที่มันจนเกินไป เพราะมีผลทำให้ระบบการทำงานในร่างกายมีความผิดปกติ และเป็นสาเหตุนำไปสู่โรคหัวใจได้ไม่ยากเลยค่ะ

ความเป็นไปได้ของการเกิดโรคหัวใจวายขณะตั้งครรภ์

          แม้หัวใจวายขณะตั้งครรภ์ มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย เนื่องจากการตั้งครรภ์จะเกิดขึ้นในแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปี และอย่างมากที่สุดไม่เกิน 45 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่สุขภาพแข็งแรง ร่างกายพร้อมต่อการเจริญพันธุ์ จึงมีโอกาสเป็นโรคหัวใจวายเฉียบพลันขณะตั้งครรภ์ได้น้อย แต่คุณแม่ที่เคยมีประวัติเป็นโรคหัวใจมาก่อน หรือเป็นโรคหัวใจพิการตั้งแต่เด็ก ทั้งที่ได้รับการรักษาแล้ว หรือยังไม่ได้รับการรักษาร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม หรือไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจมาก่อน แม่กลุ่มนี้มีภาวะเสี่ยงที่จะมีอาการโรคหัวใจกำเริบระหว่างตั้งครรภ์ได้ง่ายกว่าค่ะ

ตั้งครรภ์แล้วอาการกำเริบ เพราะ...

          สาเหตุของการที่โรคหัวใจกำเริบ เกิดจากขณะตั้งครรภ์ฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง ปริมาณน้ำในร่างกายมีสูง หรือมักจะเรียกว่า อาการบวมน้ำ หลอดเลือดมีการขยายตัวมากขึ้น ทำให้มีความดันต่ำ หัวใจต้องทำงานหนัก มีโอกาสที่จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ดังนั้น คุณแม่ที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจมาก่อน ต้องเข้ารับการตรวจร่างกายก่อนตั้งครรภ์ และสังเกตอาการของตัวเองอยู่เสมอ โดยแบ่งระดับอาการดังนี้

          ระดับ 0-1 ระดับปกติ คือ ทำงานได้เต็มที่ไม่เหนื่อย เดินหรือออกกำลังกายมีความเหนื่อยในระดับปกติ

          ระดับ 2 ระดับที่ 2 คือ ทำงาน ยกของ หรือเดินมาก ๆ เริ่มมีอาการเหนื่อยมากกว่าปกติ แต่นั่งพักสักพักก็หาย

          ระดับ 3 ระดับ 3 คือ เดินขึ้นบันได หรือเดินระยะทางเดิมแต่เหนื่อยง่าย มีอาการเหนื่อยหอบ หัวใจเต้นเร็ว หายใจไม่ทัน ควรเข้ารับการตรวจอย่างละเอียด และอยู่ใกล้ชิดแพทย์

          ระดับ 4 ระดับ 4 คือ เดินช้า ๆ หรือนอนเฉย ๆ ขยับตัวไม่มาก ก็มีอาการเหนื่อยหอบ หากมีอาการเช่นนี้แสดงว่าอยู่ในระดับรุนแรง ควรรับการตรวจอย่างละเอียด และอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

          อาการระดับ 0-1 สามารถตั้งครรภ์ได้ตามปกติ ไม่มีความเสี่ยง หากมีอาการอยู่ในระดับ 2 ตั้งครรภ์ได้ตามปกติ แต่ต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ แต่ถ้าอาการตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป แพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสม ดูว่าสภาพร่างกายของคุณแม่ไหวไหม ประเมินว่าจะตั้งครรภ์ได้ครบกำหนดหรือไม่ หากมีอาการกำเริบระหว่างตั้งครรภ์แล้วจำเป็นต้องคลอดก่อนกำหนดก็ต้องทำ เพื่อรักษาชีวิตของคุณแม่ไว้ก่อนค่ะ

สัญญาณ...หัวใจไม่ปกติ

          อาการที่บ่งบอกว่าคุณแม่อาจมีภาวะโรคหัวใจ คือ

          1.มีอาการเหนื่อยง่าย เช่น จากที่เดินในระยะเท่าเดิมไม่เคยเหนื่อยมาก่อน แต่กลับมีอาการเหนื่อย

          2.มีอาการตัวบวม บวมตามขา กดลงไปแล้วบุ๋ม แสดงว่ามีภาวะน้ำในตัวเยอะขึ้น

          3.นอนเฉย ๆ ก็เหนื่อยมากขึ้นกว่าเดิม

          ดังนั้น ต้องไปพบคุณหมอเพื่อตรวจเช็กทั้งคลื่นหัวใจ และดูความดันโลหิต และตรวจดูสารต่าง ๆ ในเลือดว่ามีปัญหาไหม เพื่อประเมินอาการคุณแม่ได้ถูกต้อง

เสี่ยงหัวใจวายขณะคลอด

          สำหรับคุณแม่ที่มีอาการระดับ 4 แพทย์แนะนำให้เลี่ยงการตั้งครรภ์จะดีกว่า เพราะอาจจะมีอันตรายทั้งแม่และลูก หากตั้งครรภ์อาจมีแนวโน้มเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งแพทย์จะต้องมีการประเมินหากร่างกายของคุณแม่เหนื่อย สู้ไม่ไหวต้องพิจารณาทำการผ่าคลอดก่อนกำหนด และในการผ่าคลอดต้องมีอายุรแพทย์เข้าร่วมเพื่อดูการเต้นของหัวใจ การเสียเลือด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้มีภาวะช็อก เพราะระหว่างคลอดหัวใจมีการทำงานหนักมากขึ้น เลือดต้องไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมากขึ้น และอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายขณะคลอดได้

วินิจฉัยหัวใจ...ก่อนท้อง

          ในคุณแม่ที่เคยมีประวัติการเป็นโรคหัวใจ ก่อนการตั้งครรภ์ต้องเข้ารับการตรวจร่างกาย โดยจะมีการซักประวัติว่าเคยมีอาการโรคหัวใจตอนเด็กหรือไม่ ตรวจคลื่นหัวใจ เพื่อดูการทำงานของหัวใจ ฟังเสียงการเต้นของหัวใจว่ามีความผิดปกติไหม ดูการทำงานของปอด เช็กว่ามีอาการเหนื่อยง่ายไหม หรือถ้าเคยเป็นโรคหัวใจมาก่อน ได้รับการรักษาอย่างไร อาการดีขึ้น หรือเป็นปกติหรือยัง ถ้าไม่มีความผิดปกติใด ๆ หรือแพทย์ประเมินว่าปลอดภัยก็สามารถตั้งครรภ์ได้ตามปกติ แต่ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ค่ะ

ดูแลแม่ท้อง...เป็นโรคหัวใจ

          สำหรับคุณแม่ที่ได้รับการตรวจร่างกายเป็นปกติทุกอย่าง กลุ่มนี้ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำที่จะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวขณะตั้งครรภ์ แต่ถ้าคุณแม่มีอาการระดับ 2 ถือว่ามีภาวะเสี่ยง ต้องอยู่ในความดูแลของสูติแพทย์ ร่วมกับแพทย์อายุรกรรมด้านโรคหัวใจ ซึ่งสูติแพทย์จะทำหน้าที่ดูแลทารกในครรภ์ว่ามีพัฒนาการอย่างไร ปกติไหม สุขภาพของคุณแม่ช่วงตั้งครรภ์เป็นอย่างไร ส่วนแพทย์อายุรกรรมจะช่วยตรวจเช็กหัวใจว่ามีความผิดปกติหรือไม่ การเต้นของหัวใจเป็นอย่างไร คุณแม่ต้องกินยาแบบไหนถึงจะปลอดภัยทั้งแม่และลูก และยาที่กินจะมีผลต่อทารกหรือไม่ ซึ่งจะมีการประเมินอาการกันตลอดเวลา เพื่อให้การตั้งครรภ์นี้ผ่านไปได้ด้วยดีที่สุด

          ไม่เพียงเท่านั้น ตัวคุณแม่เองก็ต้องดูแลตัวเองด้วย ควรไปตรวจตามนัดสม่ำเสมอ กินยาตามที่แพทย์สั่ง งดอาหารรสเค็ม พักผ่อนมาก ๆ เพื่อลดภาวะที่หัวใจต้องทำงานมากขึ้น งดอาหารรสเค็มจัด มันจัด เพราะจะทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตันได้ง่าย ส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 30 ฉบับที่ 356 กันยายน 2555

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หัวใจวาย...ขณะตั้งครรภ์ อัปเดตล่าสุด 16 ตุลาคม 2555 เวลา 15:15:10 4,811 อ่าน
TOP
x close