โรคประจำตัว ที่แม่ท้องต้องระวัง

ตั้งครรภ์

โรคประจำตัว ที่แม่ท้องต้องระวัง (Mother&Care) 

          เมื่อมีอีกหนึ่งชีวิตน้อย ๆ มาอยู่ในครรภ์แล้ว ก็ย่อมมุ่งหวังให้ร่างกายและลูกแข็งแรงสมบูรณ์ คุณแม่จึงต้องระมัดระวังและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัวอยู่ก่อนตั้งครรภ์แล้ว ลองมาทำความรู้จักโรคประจำตัว และภาวะแทรกซ้อนที่ต้องใส่ใจกันค่ะ

รู้จักความดันโลหิตสูง

          ความดันโลหิตสูงเกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่หลอดเลือดทำให้ความต้านทานสูงขึ้น หัวใจจึงต้องสูบฉีดแรงขึ้นเพื่อให้มีปริมาณเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ หากหัวใจทำงานหนักมากขึ้นอาจทำให้หัวใจวาย และยังส่งผลต่อตับ ไต หรืออาจทำให้เส้นเลือดในสมองแตก ทั้งยังเป็นสาเหตุของอาการครรภ์เป็นพิษด้วย

          ส่วนผลที่จะเกิดกับทารก คือ ความดันโลหิตสูงจะทำให้การเปลี่ยนถ่ายอาหารและของเสียระหว่างมดลูกกับรกไม่ดี การเจริญเติบโตของทารกผิดปกติ โอกาสที่ทารกจะขาดออกซิเจน คลอดก่อนกำหนด หรือเสียชีวิตในครรภ์มีมากขึ้น

ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ แบ่งออกเป็น

 1. ความดันโลหิตสูงเรื้อรัง

          เป็นภาวะที่มีความดันโลหิตสูงมาก่อนตั้งครรภ์ ซึ่งอาจเกิดจากโรคต่าง ๆ เช่น เบาหวาน โรคหลอดเลือด โรคไต เป็นต้น และความดันโลหิตสูงนี้ยังคงอยู่ตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่น


 2. ความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์

          เป็นภาวะที่มีความดันโลหิตสูงร่วมกับการตั้งครรภ์ โดยคุณแม่ไม่มีอาการของความดันโลหิตสูงมาก่อน และไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย ซึ่งมักจะไม่ค่อยมีความรุนแรง และไม่เป็นอันตรายกับทั้งแม่และทารก และจะลดลงเป็นปกติภายใน 12 สัปดาห์หลังคลอด

 3. ภาวะครรภ์เป็นพิษ

          เป็นภาวะความดันโลหิตสูงที่มีสาเหตุจากการตั้งครรภ์ ร่วมกับการมีไข่ขาว (โปรตีน) ออกมาในปัสสาวะ และมีอาการบวมร่วมด้วย อาจรุนแรงทำให้เกิดอาการชักจนหมดสติได้ มักเกิดหลังจากตั้งครรภ์ 5 เดือนขึ้นไป      

 4. ภาวะครรภ์เป็นพิษเกิดซ้ำซ้อนกับความดันโลหิตสูงเรื้อรัง

          เป็นภาวะที่เกิดในคุณแม่ที่เป็นความดันโลหิตสูงมาก่อนตั้งครรภ์ และเมื่อตั้งครรภ์แล้วก็เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษซ้ำซ้อนกับภาวะความดันโลหิตสูงอีก

ลักษณะใด... เสี่ยงต่อความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์

        คุณแม่ตั้งครรภ์แรกที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี หรือมีอายุมากกว่า 35 ปี

        ความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท

        ตั้งครรภ์แฝด เป็นความดันโลหิตสูงเรื้อรังหรือเบาหวานมาก่อน

        คนในครอบครัวมีประวัติเป็นความดันโลหิตสูง โรคอ้วนหรือเบาหวาน

        น้ำหนักขึ้นเร็วและมากกว่าปกติ ตรวจพบไข่ขาว (โปรตีน) ในปัสสาวะ

        ปวดศีรษะ ซึ่งมักจะปวดบริเวณท้ายทอยและปวดในตอนเช้า เจ็บบริเวณลิ้นปี่ บวมที่หน้า มือ หรือหลังเท้า

        ถ้าความดันโลหิตสูงมากและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจะมีอาการคลื่นไส้ ตาพร่า ใจสั่น เหนื่อยง่าย อาจมีเลือดกำเดาออกร่วมด้วย

        มีความเครียด วิตกกังวล

ความดันโลหิตสูงควบคุมได้

          ในการฝากครรภ์ แพทย์จะวัดความดันโลหิตทุกครั้ง หากคุณแม่ที่เป็นความดันโลหิตสูงอยู่ก่อนแล้ว ก็มักจะวินิจฉัยได้จากการซักประวัติ และการตรวจความดันโลหิต ในการฝากครรภ์ครั้งแรก แพทย์อาจให้ยาลดความดันโลหิต ยาป้องกันการชัก และติดตามดูลักษณะการเต้นของหัวใจ การเคลื่อนไหวของทารกว่าปกติหรือไม่ แต่ถ้าเริ่มเป็น ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ก็จะตรวจพบเมื่อมาฝากครรภ์ ครั้งต่อ ๆ มา หรือเมื่อมีอาการตามที่กล่าว

          ดังนั้น คุณแม่จึงควรไปฝากครรภ์ตั้งแต่รู้ว่าตั้งครรภ์ แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีโรคประจำตัวหรือประวัติการเจ็บป่วย กินยาตามที่แพทย์สั่ง และไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง รวมถึงเมื่อสังเกตว่ามีอาการผิดปกติ ซึ่งในการฝากครรภ์ แพทย์จะบอกให้คุณแม่หมั่นชั่งน้ำหนัก และจะวัดความดันโลหิต ตรวจโปรตีนและน้ำตาลในปัสสาวะให้ หากตรวจพบความดันโลหิตสูงได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะทำให้การรักษาและป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น
 

          หากคุณแม่มีอาการความดันโลหิตสูงแต่ไม่รุนแรงนัก ก็ควรรักษาสุขภาพโดยการพักผ่อนเป็นหลัก กินอาหารที่มีประโยชน์ งดอาหารประเภทแป้ง ไขมัน อาหารที่มีรสเค็มจัด และระวังอย่าให้อ้วนจนเกินไป ออกกำลังกายเบา ๆ ด้วยการเดินเร็ววันละ 20 นาที  ทำจิตใจให้สบายและไม่วิตกกังวล หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้หงุดหงิด โมโห ตื่นเต้น

ยากับแม่ท้อง
 
การใช้ยาขณะตั้งครรภ์

          เมื่อคุณแม่ทราบว่าตั้งครรภ์ ให้หยุดยาที่ใช้อยู่และรีบไปฝากครรภ์ บอกสูติแพทย์ว่ามีโรคประจำตัวอะไร และใช้ยาอะไรบ้าง พร้อมกับบอกแพทย์ที่คุณแม่รักษาโรคให้ทราบว่าตั้งครรภ์ แพทย์จะให้คำแนะนำว่า เมื่อตั้งครรภ์แล้วจะใช้ยาเหล่านั้นต่อได้หรือไม่ และลดหรืองดยาตามความเหมาะสม
 
ยาที่ต้องใช้อย่างระมัดระวังในช่วงตั้งครรภ์

        ยารักษาไมเกรน ในกลุ่มที่มีเออโกตามีน (Ergotamine) ควรหลีกเลี่ยง เพราะยากลุ่มนี้ทำให้มดลูกบีบตัว อาจทำให้แท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้

        ยาระงับการชัก เช่น Phenytoin, Carbamazepam อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการ มีใบหน้าผิดปกติ บางชนิดอาจจะทำให้เลือดของทารกแข็งตัวช้า ควรใช้ในความควบคุมของแพทย์

        ยารักษาเบาหวานชนิดกิน เช่น คลอร์โพรพาไมด์ (Chlorpropamide) อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในเด็กแรกเกิดได้



                
    



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคประจำตัว ที่แม่ท้องต้องระวัง อัปเดตล่าสุด 9 ตุลาคม 2555 เวลา 14:22:59 19,181 อ่าน
TOP
x close