เช็คสุขภาพคุณแม่ทุกช่วงวัย ก่อนตั้งครรภ์

ตั้งครรภ์

เช็กอัพคุณแม่ทุกช่วงวัย...เพื่อสุขภาพที่ดี
(สุขกายสบายใจ)

          เพราะเกราะป้องกันโรคภัยที่ดีที่สุดไม่ได้มาจากยาราคาแพง หรือวิตามินชั้นเลิศ แต่การมีสุขภาพที่ดีที่จะทำให้อายุไขของคนเรายืนยาวอยู่ได้ท่ามกลางโรคภัยรุมเร้า โดยเฉพาะ "ผู้หญิง" การใส่ใจดูแลตัวเองมีความจำเป็น เพราะทันทีที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงวัย ส่งผลต่อสุขภาพและร่างกาย

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.วิบูลย์ กมลพรวิจิตร จากศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลบีเอ็นเอช เผยว่า ร่างกายเรามีฮอร์โมนหลายชนิดซึ่งทำหน้าที่แตกต่างกันไป เช่นควบคุมอวัยวะและระบบต่าง ๆ ให้ทำงานได้ตามปกติ ควบคุมการเจริญเติบโต การนอนหลับ การเผาผลาญพลังงาน การเจริญพันธุ์ รวมไปถึงอารมณ์ผู้หญิงจะมีการเปลี่ยนแปลงทุกรอบเดือนจากระดับฮอร์โมนที่ร่างกายเปลี่ยนและเมื่ออายุมากขึ้นระดับฮอร์โมนจะเปลี่ยนแปลงไปจนกระทั่งถึงวัยทองและเมื่ออายุมากขึ้นระดับฮอร์โมนระบบต่าง ๆ ในร่างกายที่ตอบสนองต่อฮอร์โมนก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามกัน

          "เมื่ออายุย่างเข้าเลข 4 ฮอร์โมนเพศหญิงจะค่อย ๆ ลดปริมาณลง อาจทำให้เกิดมีภาวะพร่องฮอร์โมน ( Hormonal Depletion) ในผู้ป่วยบางราย ซึ่งอาการที่แสดงออกขึ้นอยู่กับระดับของฮอร์โมนและมีผลต่อระดับความรุนแรงของอาการ"

          แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ร่างกายอยู่ในภาวะพร่องฮอร์โมนชนิดใด นพ.วิบูลย์ กล่าวว่า การตรวจสุขภาพเหมือนการตรวจเช็คสุขภาพของร่างกายว่าปกติดีหรือไม่ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร หรือมีโรคที่แอบแฝงใด ๆ หรือไม่ ซึ่งนำไปสู่การป้องกันและการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ก่อนที่โรคนั้นจะเปลี่ยนแปลงและลุกลามจนยากต่อการรักษา

          "การใช้ชีวิตที่รีบเร่ง อาจทำให้หลายคนละเลยที่จะใส่ใจดูแลสุขภาพและรอจนกว่าจะเกิดโรคจึงหาหนทางรักษา ซึ่งนั่นไม่ใช่วิธีคิดที่ถูกต้องนัก เพราะการตรวจสุขภาพคือ การตรวจสภาพความสมบูรณ์ของร่างกาย การคัดกรองเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค จะได้ทราบแนวทางปฏิบัติได้ถูกต้อง" คุณหมอกล่าว พร้อมกับแนะว่า การตรวจสุขภาพมุ่งเน้นที่การใช้เทคโนโลยีเพื่อค้นหาโรคเป็นสำคัญ เช่น การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอ็กซเรย์ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มของโรคถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น เบาหวาน, ความดัน ตลอดจนพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม เช่น การทานอาหารที่มีไขมันสูง ทำให้เกิดไขมันในเลือด เป็นจุดเริ่มต้นของโรคหัวใจ รวมทั้งการดื่มเหล้าเป็นประจำ ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคตับอักเสบ และโรคพิษสุราเรื้อรัง หรือคนที่ไม่ชอบออกกำลังกาย ปัจจัยเหล่านี้เองมักนำไปสู่โรคร้ายได้ในที่สุด

          นพ.วิบูลย์ กล่าวอีกว่า การตรวจภายในหรือการตรวจ Pap Smear ถือว่ามีความสำคัญ โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีครอบครัวและมีเพศสัมพันธ์ถือว่ามีความจำเป็น เนื่องจากการตรวจดังกล่าวสามารถคัดกรองมะเร็งปากมดลูก หรืออาจตรวจเชื้อ HPV ที่เป็นสาเหตุโดยตรงของมะเร็งปากมดลูกร่วมได้ด้วย ส่วนการตรวจภายในหรือการตรวจอัลตร้าซาวด์ ก็จะช่วยในการตรวจคัดกรองความผิดปกติของมดลูกหรือรังไข่ได้

          การตรวจเลือดของคุณแม่ตั้งครรภ์ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะยังช่วยตรวจหาภาวะเสี่ยง เช่น ไวรัสตับอักเสบ ซิฟิลิส HIV หัดเยอรมัน ที่อาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อย โรคธาลัสซีเมีย ภาวะโลหิตจาง ที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เด็กที่คลอดออกมาไม่สมบูรณ์ เช่น ซีด มีตับหรือม้ามโตได้ รวมถึงการตรวจปัสสาวะ การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากดื่มกลูโคส

          คุณหมอกล่าวว่า ทั้งหมดนี้การตรวจสุขภาพสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ช่วยทำให้สามารถตรวจวินิจฉัยความผิดปกติที่เกิดขึ้นและหาแนวทางแก้ไขที่ถูกต้องโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น คุณแม่ตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก หรือ 35 ปีขึ้นไป การตรวจน้ำคร่ำในช่วงสัปดาห์ที่ 15-18 ของการตั้งครรภ์ มีความจำเป็นโดยสามารถตรวจได้ว่าลูกน้อยมีดาวน์ซินโดรม หรือความผิดปกติทางโครโมโซมอื่น ๆ ได้ แต่อย่างไรก็ตาม การเจาะเลือดแม่ร่วมกับการตรวจอัลตร้าซาวด์ทารกในครรภ์ ก็พอที่จะบอกภาวะเสี่ยงต่อความผิดปกติต่อโครโมโซมได้เช่นกัน

          สำหรับหญิงที่อายุมากกว่า 50 ปี การตรวจสุขภาพในวัยนี้จะค่อนข้างละเอียดกว่าคนทั่วไป โดยนอกจากจะตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจไขมัน การทำงานของตับ ไต ระดับน้ำตาลในเลือด ยังต้องตรวจมวลกระดูก แมมโมแกรม ตรวจการได้ยิน การมองเห็น ตรวจเลือดในอุจจาระเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงมะเร็งลำไส้ ที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุอีกด้วย

          "การตรวจสุขภาพเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงของโรคต่าง ๆ จะนำไปสู่แนวทางในการให้คำแนะนำและป้องกัน เช่นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เทคนิคการสังเกตร่างกายในกรณีที่พบความผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของโรคร้าย เช่น อาการเจ็บหน้าอก ในคนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด"

          นอกจากนี้การที่คนไข้ได้รับวัคซีนที่เหมาะสม จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคติดเชื้อ เช่น วัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน วัคซีนตับอักเสบบี วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ในผู้สูงอายุ การให้วิตามินเสริมหรือยาเพื่อป้องกันในกลุ่มที่พบว่าร่างกายขาดแคลน เช่น ฟลูโอไรด์ในเด็ก, การให้โฟลิกเสริมในผู้ที่มีภาวะโลหิตจาง การได้รับฮอร์โมนเสริมในกลุ่มสตรีวัยทอง และการให้แคลเซียมในหญิงตั้งครรภ์หรือผู้สูงอายุ เป็นต้น

          เกณฑ์การตรวจสุขภาพของคนทั่วไป คือการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี แต่หากเป็นคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง มีประวัติครอบครัวเป็นโรคที่สามารถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรม หรือไม่ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากนัก การตรวจสุขภาพทุก 3 เดือน 6 เดือนอาจมีความจำเป็น เพื่อคัดกรอง และป้องกันโรคได้อย่างทันท่วงที






ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เช็คสุขภาพคุณแม่ทุกช่วงวัย ก่อนตั้งครรภ์ อัปเดตล่าสุด 31 สิงหาคม 2555 เวลา 12:18:06
TOP
x close