โฟลิก เพื่อลูกน้อยในครรภ์



โฟลิก เพื่อลูกน้อยในครรภ์
(modernmom)
เรื่อง : ศิริพร

           กรดโฟลิกเป็นสารอาหารสำคัญอันดับต้น ๆ ในการสร้างอวัยวะและสมองของลูกน้อยในครรภ์ ซึ่งคุณแม่คือคนเดียวที่จะส่งมอบสิ่งนี้ให้แก่ลูกได้ โดยผ่านอาหารที่แม่กิน ส่วนจะมีอาหารอะไรบ้างที่มีโฟลิก เราไปดูกันค่ะ

โฟลิกสำคัญไฉน (Folic Acid)

           กรดโฟลิกเป็นสารอาหารในกลุ่มวิตามินบี ที่ละลายได้ในน้ำ ร่างกายต้องการเพียงเล็กน้อย แต่ขาดไม่ได้ เพราะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งสำหรับแม่ตั้งครรภ์และลูกน้อย และเริ่มตั้งแต่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้น โดยโฟลิกจะช่วย...

           ป้องกันความผิดปกติของ DNA และเซลล์ต่าง ๆ ทำให้โครงสร้างการแบ่งตัวของเซลล์ที่เกิดขึ้นใหม่ทำงานได้เป็นปกติ

           ช่วยให้เซลล์สมองพัฒนาและทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ

           ลดปัจจัยเสี่ยงและป้องกันโรคสมองพิการ (NTDs-Neural Tube Defects)

           เป็นส่วนสำคัญที่ร่างกายจะนำไปใช้สร้างเม็ดเลือดให้แข็งแรง

เตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์

          การกินอาหารให้หลากหลายครบทั้ง 5 หมู่ เป็นประจำ ร่างกายจะสะสมกรดโฟลิกไว้เป็นเสบียง แต่เนื่องจากเป็นวิตามินในกลุ่มที่ละลายในน้ำ จึงต้องระวังการสูญสลาย ซึ่งเกิดขึ้นได้ง่ายทั้งในระยะของการเก็บรักษาในขณะที่ปรุงอาหาร และจากการขัดขวางการดูดซึมของยาบางชนิด เช่น ยากันชัก ยารักษามะเร็ง อาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ถ้าเตรียมตัวที่จะตั้งครรภ์ควรกินอาหารที่มีปริมาณของกรดโฟลิกสูง ๆ ไว้ล่วงหน้าก่อนการตั้งครรภ์ และกินต่อเนื่องไปถึงช่วงหลังคลอดด้วย ปริมาณที่ร่างกายต้องการในขณะท้อง คือ วันละ 500-600 ไมโครกรัม ซึ่งมากกว่าความต้องการปกติของร่างกายเพียง 100-200 ไมโครกรัม

เลือกโฟลิกจากธรรมชาติ

           พบในอาหารธรรมชาติที่เราคุ้นเคย และกินเป็นประจำอยู่แล้วค่ะ เช่น

           ผักและผลไม้ที่มีสีเขียวและเหลือง เช่น ผักโขม บร็อกโคลี คะน้า หน่อไม้ฝรั่ง มันฝรั่ง กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี ผักกาดหอม ผักกาดเขียว ผักกาดแก้ว ถั่วลันเตา มะเขือเทศ แครอท ข้าวโพด ส้ม กล้วย แคนตาลูป

           ผลิตภัณฑ์จากถั่วต่าง ๆ ปลา นมสด โยเกิร์ต ไข่แดง ตับสัตว์ และธัญพืชที่ไม่ขัดสี ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีต เป็นต้น

ตัวอย่างเมนูอาหารเสริมโฟลิก

           แกงจืดผักหวานบ้าน, ข้าวผัดธัญพืช, ฟรุตสลัดผลไม้, แซนด์วิชอโวคาโด

เทคนิคการปรุงเลี่ยงการลดปริมาณโฟลิก

           ถึงแม้ผักสดและผลไม้จะมีปริมาณของโฟลิกสูง แต่ถ้าเก็บไว้นานหรืออยู่ในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม ก็จะทำลายคุณค่าของสารอาหารให้ลดลง รวมถึงการปรุงอาหารที่ต้องใช้ความร้อนนาน ๆ เช่น ผักตุ๋น อาหารที่ปรุงไว้นานแล้ว จะทำให้กรดโฟลิกสูญสลายได้ง่าย การปรุงเพื่อนสงวนคุณค่าของกรดโฟลิกให้ครบถ้วน ควรกินแบบสด ๆ กินทันทีที่ปรุงเสร็จใหม่ ใช้เวลาสั้นในการปรุง เช่น การนึ่งที่ความร้อนต่ำ การผัดอย่างรวดเร็ว

ปริมาณกรดโฟลิกในอาหาร

           ตับวัว 100 กรัม = 200 ไมโครกรัม

           ไข่ 1 ฟอง = 23 ไมโครกรัม

           บร็อกโคลีสุก 1 ถ้วย = 78 ไมโครกรัม

           น้ำส้มคั้นสด ½ ถ้วย = 55 ไมโครกรัม

           อะโวคาโด 100 กรัม = 11 ไมโครกรัม

           กล้วยหอม 1 ผลขนาดกลาง = 24 ไมโครกรัม

           ผักกาดหอมสด 1 ถ้วยตวง = 76 ไมโครกรัม

           ผักโขมสุก ½ ถ้วยตวง = 135 ไมโครกรัม

           กระเจี๊ยบเขียวต้ม ½ ถ้วย = 135 ไมโครกรัม

           ข้าวกล้อง (ซ้อมมือ) หอมมะลิ = 62.53 ไมโครกรัม

           สับปะรดศรีราชา = 300.54 ไมโครกรัม

           มะละกอแขกดำสุก = 255.88 ไมโครกรัม



            



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.17 No.201 กรกฎาคม 2555

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โฟลิก เพื่อลูกน้อยในครรภ์ อัปเดตล่าสุด 8 สิงหาคม 2555 เวลา 14:43:52 35,566 อ่าน
TOP
x close