แม่กลุ่มเสี่ยง...งดให้นม (รักลูก)
โดย: เมธาวี
นมแม่ เป็นสิ่งมหัศจรรย์สำหรับลูกน้อยค่ะ ช่วยให้เจริญเติบโตดี มีสารเพิ่มภูมิคุ้มกันต่าง ๆ มากมาย แต่ก็มีคุณแม่บางท่านที่ไม่สามารถให้นมลูกได้ คือคุณแม่ที่มีโรคประจำตัว และคุณแม่ที่ต้องกินยาบางชนิดค่ะ
แม่เป็นโรคกลุ่มนี้...ไม่ควรให้นมลูก
ติดเชื้อไวรัส HTLV-1 ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือลิวคีเมีย (Leukemia) และเชื้อไวรัสนี้อาจถ่ายทอดผ่านทางน้ำนมไปสู่ลูกได้
วัณโรค กลุ่มคุณแม่ที่เป็นวัณโรค ที่ไม่ได้รับการรักษา และยังคงมีอาการอยู่ ไม่ควรให้นมลูก แต่สำหรับคุณแม่ที่ได้รับการรักษาจนไม่มีอาการแล้ว สามารถให้นมลูกได้
เริม เป็นการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Herpes simplex ซึ่งเริมติดได้ที่หลายอวัยวะในร่างกาย ที่เจอบ่อยคือ บริเวณริมฝีปากบนล่าง มุมปาก อีกตำแหน่งคือบริเวณอวัยวะเพศ มีลักษณะเป็นตุ่มใส ๆ ถ้าคุณแม่มีการติดเชื้อเริมในตำแหน่งเหล่านี้ แต่ไม่ได้มีการติดบริเวณหัวนม หรือเต้านม ก็สามารถให้นมได้ค่ะ
อีสุกอีใส ถ้าคุณแม่เคยเป็นและหายแล้ว มีการตกสะเก็ดไปแล้ว สามารถให้นมได้ แต่ถ้าอยู่ระหว่างเป็นไม่สามารถให้นมลูกได้ และคุณแม่ต้องแยกจากลูก ห้ามสัมผัสกันค่ะ เพราะเด็กแรกเกิดที่ติดอีสุกอีใส มีความรุนแรงน้อยไปจนถึงมาก และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ต้องรอให้หายสนิท แผลตกสะเก็ดแห้งหมดแล้ว และแน่ใจว่าไม่มีเชื้อหลงเหลืออยู่ จึงค่อยให้นมลูก
ไวรัสตับอักเสบเอ และบี ในคุณแม่ที่มีผลตรวจเลือด และพบว่ามีไวรัสตับอักเสบบี เมื่อทารกคลอดจะต้องได้รับ 2 อย่างคือยาต้านไวรัส เรียกว่า hepatitis B immunoglobulin (HBIG) และได้รับการฉีดวัคซีนตับอักเสบบี เมื่อคลอดแล้วฉีดเข็มแรกทันที เมื่อทำสองอย่างนี้แล้วก็สามารถให้นมแม่ได้ตามปกติ ส่วนคุณแม่ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ จะให้นมลูกได้ก็ต่อเมื่อคุณแม่ได้รับการรักษาหายขาดแล้ว
ติดเชื้อไวรัส CMV เป็นการติดเชื้อไวรัสตัวหนึ่งที่ชื่อว่า ไซโตเมกะโลไวรัส (Cytomegalovirus or CMV) ทารกได้รับ เชื้อจากคุณแม่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ในระยะคลอด และในระยะให้นม โดยคุณแม่ไม่มีอาการ ส่งผลให้ลูกมีขนาดตัวเล็ก หรือมีความผิดปกติบางส่วนของอวัยวะต่าง ๆ และอาจส่งผลต่อสมองและระบบประสาทได้ด้วย ดังนั้น ถ้าพบว่าคุณแม่มีเชื้อนี้อยู่ก็ไม่ควรให้นมลูกค่ะ
โรค SLE เป็นกลุ่มโรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ต้องรักษาด้วยการให้ยากลุ่มเคมีบำบัด ปัจจุบันคุณแม่เป็นโรคนี้กันมากขึ้น บางคนเป็นก่อนตั้งครรภ์ และต้องรักษาด้วยการให้ยากลุ่มเคมีบำบัด ดังนั้น เมื่อตั้งครรภ์จะต้องทำการเปลี่ยนกลุ่มยาเคมีบำบัดออกเป็นยา กลุ่มสเตียรอยด์แทน
คุณแม่บางคนไม่รู้ตัวมาก่อนว่าเป็นโรค SLE แล้วมีอาการกำเริบช่วงระหว่างตั้งครรภ์ มักเกิดขึ้นช่วงอายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป มีอาการตัวบวม ความดันสูงควบคุมไม่ได้ และหลังคลอดต้องปรับตัวยาที่ปลอดภัย ไม่สามารถใช้ยาเคมีบำบัดได้ เพราะจะเป็นอันตรายต่อลูกได้
โรคเอดส์ ในแม่กลุ่มที่ติดเชื้อเอชไอวี อาจมีโรคเรื้อรังหลายอย่าง ซึ่งเชื้อที่อยู่ในตัวคุณแม่อาจส่งผ่านไปสู่น้ำนมได้ ซึ่งมีผลต่อลูกแน่ ๆ ดังนั้นแม่กลุ่มนี้ห้ามให้นมลูกค่ะ
แม่ได้รับยากลุ่มนี้...ให้นมไม่ได้นะ
ได้รับยากลุ่มเคมีบำบัด คุณแม่ที่เป็นโรคมะเร็ง และมีการใช้ยาเคมีบำบัดบางตัวจะให้นมลูกไม่ได้เลย เพราะส่วนใหญ่ยากลุ่มนี้จะผ่านน้ำนมได้ และมีผลต่อการทำงานต่อเซลล์ต่าง ๆ ของลูกน้อยได้ค่ะ
ยาเสพติด คือ โคเคน เฮโรอีน และที่เจอเยอะมากในปัจจุบันคือ แอมเฟตามีน ในกรณีที่คุณแม่เสพสารเหล่านี้เข้าไปมาก ๆ จะส่งต่อลูกผ่านทางน้ำนม ถ้าลูกได้รับในปริมาณมาก ๆ ก็จะมีผลทางด้านอารมณ์ ขี้หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวนง่าย ตอนเล็ก ๆ จะตื่นบ่อย หลับได้ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ
สารกัมมันตรังสี ถ้าคุณแม่ได้รับสารนี้แล้ว ไม่สามารถให้นมลูกได้เลย ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคุณแม่ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง และต้องได้รับสารกัมมันตรังสีในการรักษา หรือต้องวินิจฉัยโรคผ่านการเอ็กซ์เรย์
ได้รับรังสีไอโอดีน-131 สารตัวนี้ใช้ในการวินิจฉัยโรค หรือใช้ในการรักษาโรค ต่อมไทรอยด์ หรือโรคคอพอกเป็นพิษ กลุ่มนี้จะให้นมลูกไม่ได้
สารนิโคติน คุณแม่ที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ หรือดื่มเหล้าเป็นประจำ มีผลต่อลูก เพราะควันบุหรี่มีสารนิโคติน ลูกก็อาจจะได้รับสารนิโคตินไปด้วย ทำให้เอื้อต่อการติดเชื้อต่อระบบทางเดินหายใจของลูกได้ง่ายขึ้น
ส่วนคุณแม่ที่ดื่มสุราปริมาณมาก มีแอลกอฮอล์ในน้ำนมมาก ๆ จะทำให้ไปกดระบบประสาท จะทำให้เด็กหลับง่าย อ่อนเพลีย มีอาการซึม ส่งผลต่อพัฒนาการการเจริญเติบโต คือโตช้า น้ำหนักตัวเพิ่มน้อย และยังมีผลต่อน้ำนม ทำให้การกระตุ้นน้ำนมมีการหลั่งช้า และออกช้าด้วยค่ะ
สำหรับคุณแม่กลุ่มเสี่ยงที่ไม่ควรให้นมลูก แต่กระบวนการผลิตน้ำนมยังคงผลิตอยู่ จะทำให้เต้านมคัด เจ็บตึงเต้านม รู้สึกทรมาน จึงต้องทำการยับยั้งการผลิตน้ำนม เพื่อลดอาการปวด เจ็บตึงเต้านมค่ะ
ให้นมไม่ได้ เต้านมคัด ทำไงดี
คุณแม่ที่ให้นมลูกไม่ได้ แต่กลไกของร่างกายจะมีการผลิตน้ำนมตามปกติ เมื่อให้นมไม่ได้อาจมีอาการเจ็บคัดเต้านมมาก ๆ คุณหมอสูติจะดูแลโดยไม่ให้คุณแม่มีการสร้างน้ำนมเพิ่ม และไม่ให้เกิดอาการตึงคัดเต้านมค่ะ
อาการตึงคัดเต้านม มีตั้งแต่รุนแรงน้อยไปจนถึงมาก ซึ่งอาการรุนแรงน้อยก็อาจจะแค่เจ็บตึงคัด แต่ถ้ารุนแรงมาก น้ำนมที่ผลิตออกมาไม่หยุด และไม่ได้มีการยับยั้งเลย ก็จะแข็งและเป็นต้อ กลายเป็นน้ำหนองอยู่ในเต้านม จะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ต้องใช้เข็มดูดน้ำหนองออก แล้วต้องใช้ยาฆ่าเชื้อ ทั้งชนิดฉีดและกินควบคู่ ซึ่งคุณแม่จะต้องดูแลตัวเองโดย...
1. ใส่ชุดชั้นในที่รัดฟิต แบบกระชับ เพื่อไม่ให้มีการสร้างน้ำนม
2. หลีกเลี่ยงการกระตุ้นบริเวณหัวนม เพราะจะทำให้มีการสร้างน้ำนมมากขึ้น
3. ถ้ามีการสร้างน้ำนมเยอะ ต้องมีการให้ยาเพื่อยับยั้งน้ำนม โดยใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์ก็จะสามารถยับยั้งกระบวนการสร้างน้ำนมได้
ดังนั้น คุณแม่ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และรู้ว่าไม่สามารถให้นมลูกได้ ต้องรีบป้องกัน และหาวิธีการยับยั้งน้ำนม เพื่อไม่ให้มีการผลิตน้ำนม ก็จะลดอาการเต้านมคัดลงได้ค่ะ
นมแม่มีประโยชน์ แต่ถ้าคุณแม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็ไม่ควรให้นมลูก เพราะจะส่งผลร้ายมากกว่าผลดีค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก