เมื่อแม่ตั้งครรภ์เป็นหอบหืด!

ตั้งครรภ์

เมื่อแม่ตั้งครรภ์เป็นหอบหืด!
(รักลูก)
เรื่อง : เมธาวี

         หนึ่งในโรคที่แม่ตั้งครรภ์มักไม่รู้ตัวว่าเป็น จนตั้งครรภ์ถึงรู้ว่าเป็นคือ โรคหอบหืด ซึ่งทำให้เกิดความกังวลได้สารพัด แต่คำตอบจากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญต่อไปนี้ จะช่วยให้คุณแม่สบายใจขึ้น แต่ต้องปฏิบัติตัวตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดนะคะ

หอบหืด...ทำไมถึงเป็นได้

         กว่าร้อยละ 50 โรคหอบหืดจะเกิดในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เคยมีประวัติการเป็นโรคมาก่อน หรือมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้มาก่อน เมื่อได้รับสารกระตุ้นภูมิแพ้ เช่น ขนสัตว์ ฝุ่น หรืออาหารบางชนิด ก็จะไปกระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้ คุณแม่บางคนนั้นอาจจะมีอาการรุนแรงได้ แต่ก็มีคุณแม่บางคนมีอาการหอบหืดโดยที่ไม่ทราบมาก่อนว่าตัวเองเป็น เช่น เดินเยอะ ๆ แล้วมีอาการหอบเหนื่อย และมีอาการมากขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งพอมาตรวจวินิจฉัยจริง ๆ จึงพบว่าเป็นโรคหอบหืด

ป้องกันหอบหืด...ก่อนตั้งครรภ์

         คุณแม่ที่เคยมีประวัติเป็นโรคหอบหืดมาก่อน ควรวางแผนก่อนการตั้งครรภ์ โดยเข้าไปปรึกษาคุณหมอ เพื่อคุมโรคให้มีอาการคงที่ หรือมีอาการลดลงให้มากที่สุด

         คุณหมอจะทำการตรวจดูลักษณะการหอบของคุณแม่ ว่าอยู่ในความรุนแรงระดับไหน มีการซักประวัติเพิ่มเติม เพื่อประเมินอาการ เพื่อจะได้ทำการรักษา และคุมไม่ให้มีอาการกำเริบขึ้นมาอีก

ยาแก้หอบหืด ส่งผลต่อลูกจริงหรือ

         ยาส่วนใหญ่ค่อนข้างปลอดภัยในสตรีตั้งครรภ์ ผลข้างเคียงจากการใช้ยามีน้อย และได้มีการพิสูจน์กันมาแล้วว่า มีผลกระทบต่อทารกในครรภ์น้อยมาก หากได้รับยาอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย และใช้กับแม่ตั้งครรภ์ได้ ไม่มีผลรบกวนต่อระบบเมตาบอลิซึมของทารกในครรภ์ อย่างที่หลาย ๆ คนเชื่อกันมาก่อนหน้านี้

         แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากคุณแม่ดูแลสุขภาพดี กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ที่สำคัญอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศดี ก็จะเป็นการควบคุมโรคได้ดี รวมทั้งหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ก็จะทำให้การใช้ยาน้อยลง การเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยลง การตั้งครรภ์ก็เป็นไปอย่างปกติ ถ้าคุณแม่ไม่ใส่ใจดูแลสุขภาพตนเอง พาตัวเองไปสัมผัสสิ่งกระตุ้น โรคหอบหืดก็อาจจะกลับมา และมีอาการกำเริบรุนแรงได้ค่ะ

เช็กตัวเองเป็นหอบหืดรุนแรงแค่ไหน

         หากคุณแม่มีอาการหอบบ่อย เดินหรือทำอะไรนิดหน่อยก็เหนื่อยหอบ ต้องนั่งพักตลอด รวมถึงใช้ยามากกว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์ ถือว่ามีอาการค่อนข้างเยอะ ควรปรึกษาคุณหมออย่างใกล้ชิด

         ส่วนคุณแม่ที่มีระดับอาการรุนแรงคือ มีความถี่ในการใช้ยา 2 ครั้ง/สัปดาห์ หรือทุกวัน หากต้องใช้ทั้งเช้า กลางวัน เย็น และดึก ถือว่ามีอาการค่อนข้างเยอะ ต้องอยู่ในความดูแลของคุณหมอ และต้องใช้ยาเพื่อคุมอาการให้ดีขึ้นด้วย

         คุณแม่ตั้งครรภ์จะมีอาการเหนื่อยง่ายอยู่แล้ว แม้จะไม่ได้เป็นโรคหอบหืดก็ตาม ดังนั้น เพื่อให้แน่ใจว่าตัวเองเป็นหรือไม่ ควรได้รับการตรวจด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อตรวจวัดสมรรถภาพทางปอด เพื่อดูการทำงานของปอด การหายใจเข้าหายใจออก ระดับความแรงที่ใช้ในการเป่าลมออกมาเป็นอย่างไร มีระดับมากน้อยแค่ไหน

         การเข้าตรวจโรคอย่างละเอียดยังมีประโยชน์ช่วยในการทำนายการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคได้อีกด้วย และยังสามารถนำมาใช้ในการบ่งบอกแนวทางการรักษา ว่าต้องรักษาอย่างไร ต้องใช้ยาประเภทไหนบ้าง เพื่อการตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพที่สุด

คุมโรค...ไม่ให้หอบหืดกลับมา

         การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่จะทำให้เกิดภาวะอาการหอบหืดเป็นวิธีการควบคุมได้อย่างดี ซึ่งในแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน ส่วนหนึ่งมาจากอาการภูมิแพ้เดิมของแม่ที่เคยเป็นมาก่อน เช่น แพ้อาหารในช่วงที่แพ้ท้อง อาจมีอาการอยากกิน พอได้กินก็เลยทำให้เกิดอาการกำเริบขึ้น หรือบางคนที่แพ้เกสรดอกไม้ พอเจอดอกไม้หรือสูดดมก็มีโอกาสเกิดอาการกำเริบได้ ฉะนั้น ปัจจัยกระตุ้นก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่บ่งชี้ว่า คุณแม่ควรจะต้องระวังอะไรบ้าง ควรหลีกเลี่ยงอะไร จะเป็นการช่วยคุมโรคได้ทางหนึ่ง

         คุณแม่ที่เป็นหอบหืดตามฤดูกาลนั้น อาจจะมีอาการกำเริบได้ในช่วงกลางคืน ดังนั้น ควรดูแลสุขภาพด้วยการอาบน้ำอุ่น นอนห่มผ้า หรือการใส่ผ้าพันคอเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น การดูแลสุขภาพของตนเอง มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้โรคหอบหืดไม่ถามหาอีกค่ะ

เป็นหอบหืดรุนแรง...ส่งผลต่อทารกในครรถ์

         คุณแม่ที่มีอาการหอบหืดกำเริบขณะตั้งครรภ์ และนำไปสู่ภาวะรุนแรงคือ เกิดภาวะหายใจติดขัด เพราะหลอดลมตีบทำให้มีอาการหอบหืดขึ้นมา จะทำให้การส่งออกซิเจนจากตัวแม่ไปสู่ลูกลดลง และถ้ารุนแรงมาก ๆ คือเมื่อคุณแม่หายใจติดขัด ออกซิเจนภายในร่างกายลดลง ออกซิเจนที่จะส่งไปมดลูก และไปสู่ทารกในครรภ์ก็จะลดลงตามไปด้วย ทำให้ทารกเกิดภาวะขาดออกซิเจน และถ้าเกิดขึ้นบ่อย ๆ โดยที่คุณแม่ไม่ทำการรักษาโรค หรือไม่คุมโรค อาจทำให้การขนส่งออกซิเจนไปสู่ทารกได้ไม่ดี ส่งผลต่อพัฒนาการทารกในครรภ์ ทำให้ทารกมีการเจริญเติบโตช้ากว่าเกณฑ์ หรือตัวเล็กกว่าเกณฑ์ปกติได้

         นอกจากนี้ยังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ซึ่งเราพบว่ามีโอกาสเกิดความดันสูงในระยะตั้งครรภ์ ส่งผลภาวะเจ็บครรภ์ก่อนกำหนดด้วย แต่ในปัจจุบันพบว่า ถ้าคุณแม่มีการคุมโรคได้ดี หรือดูแลตัวเองได้ดี การเกิดภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ก็จะลดลง หรืออาจจะมีภาวะเป็นปกติ สามารถตั้งครรภ์ได้ตามปกติได้ค่ะ

ตั้งครรภ์ปกติ & สุขภาพแข็งแรง แม้เป็นหอบหืด

         อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า โรคหอบหืดไม่มีทางหาย หรืออาจจะมีอาการกำเริบขึ้นมาอีกได้ เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ วิธีที่ดีที่สุดนั้นก็คือการดูแลตัวเอง และหาทางป้องกันก่อนที่อาการจะกำเริบ ซึ่งการใช้ยาในคุณแม่ตั้งครรภ์ เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยคุมอาการของหอบหืดได้ โดยก่อนอื่นคุณหมอต้องแบ่งระดับความรุนแรงของคุณแม่ก่อนว่า มีความรุนแรงระดับไหน เมื่อรู้ระดับความรุนแรงแล้ว คุณหมอจะสามารถแบ่งแนวทางการรักษาได้ว่าคุณแม่อาจจะใช้แค่ยาพ่นขยายหลอดลม หรือใช้เป็นยากลุ่มสเตียรอยด์พ่น เพื่อช่วยลดอาการ ในคุณแม่ที่เป็นหอบหืดเรื้อรัง การใช้ยาจะช่วยควบคุมอาการระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งจะช่วยให้ผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์เป็นไปด้วยดี

         การที่คุณแม่บางคนเลี่ยงไม่ใช้ยา อาจจะทำให้ระดับความรุนแรงของโรคเพิ่มมากขึ้น มีผลต่อการทำงานของระบบการหายใจ หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่รุนแรงคือ อาจทำให้หยุดหายใจไปก็มี ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการลูกในครรภ์แน่นอน

         ดังนั้น ถ้ามีอาการให้รีบไปหาคุณหมอ เพื่อดูการใช้ยา แล้วคุณหมอจะทำการปรับยาให้เหมาะสม อย่าปรับใช้เอง เพราะอาการบางอย่างคุณแม่ไม่สามารถประเมินเองได้ ต้องใช้เครื่องมืออุปกรณ์ ช่วยในการตรวจ เพื่อประเมินการทำงานของปอด และทำการวินิจฉัยเพื่อหาแนวทางการรักษาให้เหมาะสมต่อไปค่ะ

         คุณแม่ที่เป็นหอบหืดก็ไม่ต้องกังวลจนเกินไปค่ะ ถ้าคุณแม่มีอาการไม่รุนแรงมาก หรือมีการคุมโรคหอบหืดได้ดีแล้ว ผลแทรกซ้อนก็จะน้อยลง และผลการตั้งครรภ์ก็จะค่อนข้างดีหรือเป็นปกติค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 30 ฉบับที่ 352 พฤษภาคม 2555

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เมื่อแม่ตั้งครรภ์เป็นหอบหืด! อัปเดตล่าสุด 31 พฤษภาคม 2555 เวลา 15:17:45 17,043 อ่าน
TOP
x close