โฟลิก...ต้องเริ่มก่อนตั้งครรภ์

ตั้งครรภ์

โฟลิก...ต้องเริ่มก่อนตั้งครรภ์
(รักลูก)
โดย: ผศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล

          กรดโฟลิก หรือ โฟเลต วิตามินชนิดหนึ่งในกลุ่มที่ละลายในน้ำ

         ในทางวิชาการพบว่า หญิงวัยเจริญพันธุ์เหมาะสมที่สุดที่จะเริ่มกินโฟลิก ก็เพื่อเป็นการเตรียมการล่วงหน้าที่จะเสริมสร้างและป้องกันไม่ให้ลูกที่เกิดมาเป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่ายค่ะ

         กรดโฟลิกหรืออีกชื่อหนึ่งที่ใช้เรียกกันทั่วไปว่า "โฟเลต" จัดเป็นวิตามินชนิดหนึ่งในกลุ่มที่ละลายในน้ำ ในร่างกายกรดโฟลิกมีบทบาทสำคัญเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของเซลล์ต่าง ๆ และมีบทบาทในการสร้างสารคาร์บอน ซึ่งเป็นกลไกการทำงานของดีเอ็นเอในการถ่ายทอดคำสั่งทางพันธุกรรมเพื่อสร้างโปรตีนชนิดต่าง ๆ รวมทั้งการควบคุมการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารก

เมื่อตั้งครรภ์..โฟลิกกลับลดลง

         ภายหลังการปฏิสนธิโดยการผสมของไข่จากแม่และสเปริ์มจากพ่อจะเกิดเป็นเซลล์ที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ของสารพันธุกรรม หลังจากนั้นจากเซลล์ ๆ เดียวจะมีการแบ่งตัวเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับการก่อรูปของอวัยวะระบบต่าง ๆ จนเป็นทารกที่สมบูรณ์ การตั้งครรภ์จึงต้องมีการสร้างสายดีเอ็นเอและโปรตีนเพื่อเป็นองค์ประกอบของเซลล์และเนื้อเยื่อของระบบต่าง ๆ จำนวนมาก ดังนั้นจึงมีความต้องการกรดโฟลิกเพิ่มมากขึ้นคิดเป็นจำนวนประมาณ 2 เท่าของคนปกติ

         ซึ่งในขณะที่ร่างกายมีความต้องการกรดโฟลิกมากขึ้น กลับพบว่าในขณะตั้งครรภ์ลำไส้สามารถดูดซึมกรดโฟลิกจากอาหารได้ลดลงและมีการสูญเสียกรดโฟลิกทางปัสสาวะมากกว่าปกติ ทำให้พบการขาดกรดโฟลิกในสตรีตั้งครรภ์ได้สูงกว่าคนปกติทั่วไป

         ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา วงการแพทย์และโภชนาการให้ความสนใจกรดโฟลิกนี้มาก เนื่องจากมีรายงานการศึกษาโดยการตรวจหาระดับกรดโฟลิกในเลือดของมารดาขณะตั้งครรภ์พบว่า มีมารดาที่มีระดับกรดโฟลิกในเลือดต่ำได้ถึงร้อยละ 25 ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของพัฒนาการของสมองและระบบประสาทของทารก เพราะในภาวะปกติ สมองและระบบประสาทจะเจริญและพัฒนาโดยเริ่มจากแผ่นเนื้อเยื่อระบบประสาทแล้วม้วนตัวเป็นท่อเรียกว่าหลอดประสาทซึ่งมีสองปลาย

         ต่อมาปลายหลอดประสาททั้งสองด้านจะปิดโดยปลายท่อด้านหัวจะพัฒนาเป็นส่วนของสมองส่วนปลายด้านหางก็จะพัฒนาเป็นประสาทไขสันหลัง ในกรณีที่มารดามีระดับกรดโฟลิกในเลือดต่ำ จะมีผลทำให้ปลายท่อหลอดประสาททั้ง 2 ด้านไม่ปิด จึงเกิดความพิการของสมองและประสาทไขสันหลัง ซึ่งมีความรุนแรงได้แตกต่างกันหลายระดับ

ทารกที่ขาด "โฟลิก"

         ในรายที่เป็นมากจะทำให้ทารกคลอดออกมาโดยไม่มีเนื้อสมอง จึงไม่สามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้และจะเสียชีวิตในเวลาไม่นานหลังคลอด ส่วนรายที่เป็นน้อยจะพบความพิการของประสาทไขสันหลัง โดยการเกิดความผิดปกติดังกล่าวมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย

         ปัจจัยที่สำคัญได้แก่ การมีความผิดปกติที่บางตำแหน่งของยีนส์ ซึ่งซ่อนอยู่ในประชากรทั่วไปได้ระหว่างร้อยละ 5-25 ความผิดปกตินี้จะไม่แสดงอาการใด ๆ แต่มีผลต่อเมตาบอลิซึมของกรดโฟลิกในร่างกาย ทำให้มีสารโฮโมซิสทีนในเลือดสูงขึ้นและมีกรดโฟลิกต่ำลง

         นอกจากนี้อาจมีปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น การได้รับความร้อนในระยะเวลาสั้น ๆ จากการเป็นไข้ การประคบด้วยกระเป๋าน้ำร้อนหรืออบซาวน่า รวมทั้งการได้รับยาป้องกันโรคลมชักบางชนิด ซึ่งมารดาที่มีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ หากได้รับกรดโฟลิกเพิ่มจากอาหารปกติอีกวันละ 400 ไมโครกรัม ในรูปของยาหรืออาหารที่เสริมด้วยกรดโฟลิก จะสามารถป้องกันหรือลดการเกิดความพิการดังกล่าวได้

ทำไมต้องเสริมโฟลิกก่อนตั้งครรภ์

         เนื่องจากพัฒนาการของสมองและระบบประสาทเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังการปฏิสนธิ โดยหลอดประสาทจะปิดอย่างสมบูรณ์ในระหว่างสัปดาห์ที่ 3-4 หลังการปฏิสนธิ (วันที่ 21-28) ซึ่งปกติกว่าที่แม่จะรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ โดยสังเกตจากประจำเดือนไม่มาตามกำหนด แล้วจึงไปพบแพทย์ก็ล่วงเข้าสัปดาห์ที่ 3 เป็นอย่างเร็วที่สุด การเริ่มรับประทานกรดโฟลิกในระยะนี้จึงไม่ทันการณ์

         ดังนั้นหากจะให้ได้ผลจริง ๆ จะต้องเริ่มรับประทานกรดโฟลิกก่อนการตั้งครรภ์ประมาณ 1-3 เดือนเป็นอย่างน้อย และถ้าจะให้ครอบคลุมถึงการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้มีการวางแผนล่วงหน้าให้ครบถ้วนด้วย จะต้องแนะนำให้สตรีวัยเจริญพันธ์ทุกคนรับประทานกรดโฟลิกเพิ่มทุกวันเป็นประจำ

         ในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีอุบัติการของโรคสมองพิการแต่กำเนิดมากประเทศหนึ่ง ได้รณรงค์ให้สตรีวัยเจริญพันธุ์ทุกคนรับประทานกรดโฟลิกเพิ่มวันละ 400 ไมโครกรัมในรูปของยาเม็ดหรืออาหารที่เสริมด้วยกรดโฟลิกมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีแล้ว และพบว่าสามารถลดการเกิดความพิการของสมองได้อย่างมีนัยสำคัญ แม้จะมีผู้ที่ทำตามคำแนะนำอย่างครบถ้วนเพียงร้อยละ 30 ก็ตาม

         นอกจากนี้ยังพบว่าการรับประทานกรดโฟลิกยังช่วยป้องกันหรือลดความพิการของอวัยวะระบบอื่น ๆ เช่น ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ และโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดด้วย ทั้งช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ เช่น ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด ภาวะการแท้งบุตร และภาวะครรภ์เป็นพิษด้วย ความจริงกรดโฟลิกมีในอาหารที่เรารับประทานเป็นประจำ โดยพบมากใน ผักใบเขียว ถั่วลันเตา ตับ และผลไม้บางชนิด

ความต่างของ "โฟลิก" ในรูปอาหารกับรูปยาเม็ด

         เนื่องจากกรดโฟลิกเป็นวิตามินที่ถูกทำลายได้ด้วยความร้อน ดังนั้นเมื่อมีการปรุงอาหารโดยใช้ความร้อน จะทำให้มีการสูญเสียกรดโฟลิกได้ตั้งแต่ร้อยละ 50-95 นอกจากนี้กรดโฟลิกที่มีในอาหารจะถูกดูดซึมได้น้อยกว่า (ประมาณร้อยละ 50) เมื่อเทียบกับกรดโฟลิกที่รับประทานในรูปของยาเม็ด ดังนั้นแม้ผู้ที่ตั้งครรภ์จะได้รับประทานอาหารเหล่านี้เป็นประจำอยู่แล้ว ก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดการขาดกรดโฟลิกได้ ยิ่งผู้ที่มียีนส์ผิดปกติแฝงอยู่ยิ่งมีความจำเป็นต้องได้รับกรดโฟลิกมากขึ้นเป็นพิเศษกว่าคนทั่วไป

         สำหรับในบ้านเรา แม้จะพบความพิการทางสมองในทารกแรกเกิดและมีผู้ที่มียีนส์ผิดปกติแฝงอยู่ได้แม้ไม่สูงเท่าประชากรในประเทศทางตะวันตก แต่ก็ควรรับประทานกรดโฟลิกเพิ่มวันละ 400 ไมโครกรัมเช่นเดียวกัน ซึ่งกรดโฟลิกชนิดเม็ดที่มีจำหน่ายมี 2 ขนาดคือ 1 มิลลิกรัม และ 5 มิลลิกรัม ซึ่งหากใช้ขนาด 1 มิลลิกรัม ก็รับประทานวันละครึ่งเม็ด แต่หากเป็นขนาด 5 มิลลิกรัม ให้รับประทานเพียงวันละ 1/10 เม็ด

"โฟลิก" ชนิดเม็ด แค่ไหนไม่อันตราย

         โดยทั่วไปกรดโฟลิกเป็นยาที่มีความปลอดภัยสูง จะมีข้อควรระวังเฉพาะในผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัต ซึ่งมีโอกาสเกิดภาวะซีดและปลายประสาทอักเสบจากการขาดวิตามินบี 12 การรับประทานกรดโฟลิกในขนาดสูง ๆ จะทำให้บดบังอาการ และทำให้การวินิจฉัยโรคล่าช้า จนเกิดการทำลายของปลายประสาทอย่างถาวรได้

         อย่างไรก็ตามเพื่อความปลอดภัยขอแนะนำให้รับประทานกรดโฟลิกไม่เกินวันละ 1 มิลลิกรัม (10,000 ไมโครกรัม) สำหรับท่านที่ไม่ชอบการรับประทานยา การเพิ่มการรับประทานอาหารที่มีกรดโฟลิกสูงแทนยาเม็ด อาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควรเนื่องจากเหตุผลดังที่ได้กล่าวมาแล้ว




ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โฟลิก...ต้องเริ่มก่อนตั้งครรภ์ อัปเดตล่าสุด 2 พฤษภาคม 2555 เวลา 15:48:54 102,934 อ่าน
TOP
x close