(อยาก)คลอดแบบไม่เจ็บ (modernmom)
โดย: รศ.พญ.เฉลิมศรี ธนันตเศรษฐ
อีกหนึ่งความตื่นเต้นนอกเหนือจากการตั้งครรภ์ที่คุณแม่มือใหม่จะต้องเจอคือ การคลอดค่ะ ด้วยความรู้สึก (ที่ตัวเองยังไม่เคยเจอ) ว่าจะเจ็บปวด ทำเอาคุณแม่หลายคนขยาดไม่กล้าคลอดแบบธรรมชาติไปเลยก็มี แล้วคุณแม่ทั้งหลายจะก้าวผ่านสิ่งเหล่านี้ไปได้อย่างไร ลองดูเทคนิคคลายปวดเหล่านี้ดูค่ะ
ความเจ็บปวดบทเรียนธรรมชาติ
"ความเจ็บปวดขณะคลอด" เป็นสิ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์จะกังวลและกลัวเหมือนกันทุกคนค่ะการหดเกร็งตัว ของปากมดลูกนานครั้งละ 30-45 วินาที และเป็นจังหวะทุก 2-3 นาที จะมีความแรงเพียงพอที่จะทำให้เจ็บปวดจนเหมือนจะทนไม่ได้ จนบางครั้งคุณแม่อาจอยู่ในสภาพดิ้นทุรนทุราย ร้องครวญครางจนเป็นที่น่าวิตกของคนรอบข้างและผู้ดูแล
ในครรภ์แรกอาการเจ็บจะยาวนานถึง 6-8 ชั่วโมง และจะลดลงเหลือ 3-4 ชั่วโมงในครรภ์หลังกว่าจะถึงระยะเบ่งคลอด ที่น่าเห็นใจคือ ยังต้องรวบรวมกำลังในการเบ่งอีก 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง จึงจะคลอดในจังหวะสุดท้ายอย่างที่เรียกกันว่า "เบ่งสุดแรงเกิด" คุณแม่ในระยะหลังคลอดจึงอยู่ในสภาพสลบไสลเหมือนไปวิ่งมาราธอนมา
การคลอดง่ายจึงเป็นความหวังของคุณแม่ใกล้คลอด และมักจะได้รับคำตอบว่าง่ายหรือยากจากคุณยายของลูก เพราะการคลอดง่ายเป็นกรรมพันธุ์ บางคนยังนอนยิ้มสบายอยู่ แต่คุณหมอตรวจพบว่าปากมดลูกทั้งนุ่มทั้งบางและไปถึงครึ่งทาง คือ 5 เซ็นติเมตร แล้วการเจ็บครรภ์จึงเป็นเรื่องเฉพาะตัว แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะเจ็บมากและเจ็บนานอย่างที่เล่าให้ฟัง
มีนักจิตวิทยาอธิบายว่า เป็นความเจ็บปวดที่มีความสุขรออยู่ปลายทาง "HAPPY PAIN" และเป็นบทเรียนที่ธรรมชาติสอนคุณแม่ให้อดทนเพื่อลูกได้ในยามเลี้ยงดู เพราะเป็นความยากลำบากอีกยาวนานหลายปีกว่าลูกจะเติบโต เพราะที่สุดของความเจ็บปวดก็ยังผ่านมาได้แล้ว เป็นคำปลอบที่ฟังดูดี
จึงมีผู้คิดวิธีผ่อนคลายความเจ็บปวดขณะคลอด ซึ่งเป็นไปตามเผ่าพันธุ์และวัฒนธรรม อย่างผู้หญิงอัฟริกันบางเผ่าคลอดลูกไปยิ้มไป เพราะถูกฝึกให้ชินกับความเจ็บในรูปต่าง ๆ เช่น ถูกมีดบาดก็ยังเฉยเหมือนคนทรงในเทศกาลกินเจภูเก็ตก็ว่าได้
"สมาธิ" กุญแจคลายความเจ็บปวด
แต่ไม่ว่าวิธีไหนก็จะมีหลักเดียวกันคือ "การฝึกสมาธิ" คือให้คุณแม่ตั้งใจที่จะเบี่ยงเบนความรู้ตัวว่าเจ็บบริเวณมดลูกไปจดจ่อกับสิ่งอื่น เช่น
ลมหายใจเข้าและออก เป่าลมออกจากปากเป็นจังหวะ
มองจดจ่อกับสิ่งที่เคลื่อนไหวเป็นจังหวะคล้ายสะกดจิต
ฟังเพลงที่กล่อมให้เคลิ้มและเข้าสู่ภวังค์
การนวดเป็นจังหวะเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อหลัง สะโพก และแม้แต่นวดแบบ AROMA ที่มีการจุดน้ำมันหอมระเหยในปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน
แล้วที่มีมาตั้งแต่โบราณในยุโรป คือ การคลอดในน้ำ แรงลอยตัวของน้ำ (BOYANCE) จะลดความแรงของการหดรัดตัวของมดลูก และกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดไปที่มดลูกเพื่อคุณภาพในการหดรัดตัว แต่เจ็บน้อยลง
แต่ไม่ว่าจะเป็นวิธีใดก็ตามถ้าคุณแม่สามารถทำอย่างได้ผล คือ เกิดการผ่อนคลายจากความเจ็บปวด ก็จะทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานผ่อนคลายและคลอดง่ายขึ้น การไหลเวียนของเลือดที่ไปถึงลูกก็จะดีขึ้นด้วย
ตัวช่วยคลายความเจ็บปวด
สามีเรียกว่าเป็นผู้ช่วยสำคัญ ถ้าได้สามีมาเป็นผู้กำกับ (CONDUCTOR) ในวิธีผ่อนคลายไม่ว่าวิธีใด เช่น การให้เสียง ให้จังหวะ และการนวด ก็จะทำให้คุณแม่มีความมั่นใจ อุ่นใจ และมีกำลังใจว่าสามีได้มีส่วนในการให้กำเนิดลูกด้วยการผ่อนคลายของคุณแม่ก็จะเกิดขึ้นได้ง่ายและได้ผลน่าพอใจ
บรรยากาศในบางประเทศคุณแม่ที่เข้าใจการทำงานของมดลูกจึงนิยมคลอดที่บ้าน หรือแม้แต่ในโรงพยาบาลบางแห่งก็จัดบรรยากาศห้องคลอดให้เหมือนบ้าน ให้คุณแม่มีกิจกรรมลุกเดินไปมาได้ตามปกติ แต่ต้องเป็นคุณแม่ที่แข็งแรงและไม่มีโรคแทรกซ้อนที่คุณหมออนุญาตแล้ว เท่านั้น ถ้าคลอดที่บ้าน สามีก็จะได้รับการฝึกฝนให้ช่วยคลอดอย่างถูกวิธี ถ้าที่โรงพยาบาล ทั้งคุณหมอและพยาบาลก็จะแต่งตัวสีสันสดใส เพื่อให้บรรยากาศสบายเป็นกันเอง และเข้ามาช่วยคลอด
แต่สภาพการคลอดในโรงพยาบาลของบ้านเราส่วนใหญ่ โดยเฉพาะโรงพยาบาลใหญ่ กลับให้คุณแม่แต่งชุดผู้ป่วยนอนบนเตียง ให้น้ำเกลือ งดอาหารและน้ำ ขยับได้แค่พลิกตัวไปมาตลอดเวลาหลายชั่วโมง คุณหมอและพยาบาลใส่ชุดเขียว ใส่หมวก ปิดจมูกปิดปากเหมือนไอ้โม่ง คุณแม่จึงรู้สึกว่าตัวเองป่วยเพราะเจ็บ ต้องการความช่วยเหลือ และบรรยากาศก็ชวนให้จดจ่อกับอาการเจ็บตลอดเวลาบนเตียง บางโรงพยาบาลอาจติดเครื่องฟังเสียงหัวใจของลูกเขย่าขวัญก็ได้
แต่รอว่าเมื่อไรที่จะถึงเวลาที่คุณแม่จะได้รับการดูแลการคลอดอย่างเป็น ธรรมชาติของการทำงานของมดลูก คุณแม่เองเข้าใจและสามารถผ่อนคลายความเจ็บปวดอย่างมีสติไม่ว่าจะเป็นวิธีใด ก็อาจทำให้การคลอดไม่เจ็บและไม่น่ากลัวอย่างที่คิด จริงไหมค่ะ?
ขอขอบคุณข้อมูลจาก