ตั้งครรภ์ แล้วท้องผูก แก้ไขได้

ตั้งครรภ์

ทำไมตั้งท้อง ต้องท้องผูก (Mother & Care)

เดือนที่ 1-3

           ช่วงไตรมาสแรก คุณอาจมีอาการหลาย ๆ อย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน เช่น แพ้ท้อง อ่อนเพลีย เมื่อยล้าง่าย รวมถึง อาการท้องผูก จากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่ทำให้ขนาดของมดลูกขยายตัว การหดรัดตัว และกดทับลำไส้ ฉะนั้น การเคลื่อนไหวของลำไส้จึงช้าลง ระบบการขับถ่ายก็เริ่มเปลี่ยนไปด้วย เช่น ขับถ่ายน้อยลง หรืออุจจาระมีลักษณะแข็ง เป็นต้น

เดือนที่ 4-6

           เป็นช่วงที่มดลูกขยายใหญ่มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังก็เห็นได้ชัด หน้าท้องเริ่มขยาย บางคนผิวอาจแตกลายและมีอาการคัน รวมถึงภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นช่วงนี้ เช่น เส้นเลือดขอด, ท้องอืด โดยเฉพาะเรื่องท้องผูก ถ้าคุณแม่ยังปล่อยปัญหานี้ไว้ โอกาสจะเกิดภาวะริดสีดวงทวารก็เป็นไปได้ง่ายมาก

เดือนที่ 7-9

           ช่วงระยะใกล้คลอด การขยายตัวของเส้นเลือดบริเวณทวารหนัก จะกดทับมดลูกบนเส้นเลือดในช่องท้อง ขัดขวางการไหลเวียนของเส้นเลือดบริเวณทวารหนัก ทำให้เส้นเลือดโป่งพองออก ดังนั้น เมื่อคุณแม่ใช้แรงเบ่งมากเท่าไร เส้นเลือดบริเวณนี้ก็ยิ่งโป่งพองมากขึ้น อาจทำให้มีเลือดออกได้ เป็นอาการริดสีดวงทวารมาเยือน
   
ยาบำรุงกับอาการท้องผูก

           กรณีที่คุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับธาตุเหล็กหรือแคลเซียมจากกอาหารไม่เพียงพอ เช่น ดื่มนมไม่เก่งหรือกินแคลเซียมไม่เพียงพอ จำเป็นต้องได้แคลเซียมเม็ด ส่วนใหญ่มักทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ ส่วนจะเป็นมากน้อยอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่ที่ชนิดของแคลเซียม ที่คุณหมอแนะนำให้กิน

           ทุก ๆ กรณีของการเกิดอาการท้องผูก สิ่งที่คุณแม่ต้องเข้าใจคือ ไม่ควรหาซื้อยามากินเพื่อแก้ปัญหา เพราะเรื่องการใช้ยา ต้องอยู่ภายใต้การดูแล คำแนะนำของคุณหมอ เป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์และลูกน้อยค่ะ

ท้องผูก แก้ไขได้

           การกินอาหารแต่พออิ่ม เพื่อให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ทัน ไม่เกิดอาการอึดอัด แน่นท้องจากการที่อาหารไม่ย่อย หรือเคี้ยวอาหารให้ละเอียด ไม่เร่งรีบกับการกินจนทำให้เกิดลมในกระเพาะ และกินด้วยความสุข ก็จะช่วยให้คุณรู้สึกดีกับเรื่องกินได้มากขึ้น

           ออกกำลังกายเบา ๆ เช่น เดินสัก 10- 15 นาทีในช่วงเช้า แล้วกลับมาดื่มน้ำอุ่นและนั่งพัก

           กินอาหารครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผักสดและผลไม้ เพื่อเติมกากใยอาหารให้มากขึ้น

           ดื่มน้ำมากขึ้น จะช่วยให้กากอาหารในลำไส้ สามารถเคลื่อนผ่านสะดวกค่ะ

           อาหารประเภทธัญพืช เช่น ข้าวกล้อง ถั่ว อาหารกลุ่มนี้มีส่วนช่วยในเรื่องระบบขับถ่ายของแม่ตั้งครรภ์ได้ค่ะ

           การนอนหลับพักผ่อนเพียงพอ มีจิตใจที่เป็นสุข ช่วยลดโอกาสการเกิดปัญหาเรื่องท้องผูก และมีข้อแนะนำเพิ่มถึงคุณแม่ที่ขับถ่ายบ่อยกว่าปกติ เช่น ถ้ามีมูกเลือดปนหรือถ่ายเหลว กรณีแบบนี้ ก็ไม่ควรนิ่งเฉย ต้องปรึกษาคุณหมอ เพื่อดูแลอาการอย่างเหมาะสม





ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตั้งครรภ์ แล้วท้องผูก แก้ไขได้ อัปเดตล่าสุด 20 มีนาคม 2555 เวลา 14:44:09 29,696 อ่าน
TOP
x close