คลายอาการให้แม่ใหม่ ด้วยธรรมชาติบำบัด

อาหารหลังคลอด

คลายอาการให้แม่ใหม่ด้วยธรรมชาติบำบัด
(modernmom)
เรื่อง : ดวงทิพย์ อโรรา

         คุณแม่คนใหม่ที่อยู่ในช่วงให้นมลูก คงต้องระมัดระวังใส่ใจในเรื่องอาหารการกินว่าอาหารและยาที่กินเข้าไปในร่างกายนั้น จะส่งผลโดยตรงหรือทางอ้อม ต่อคุณภาพของน้ำนม รวมถึงการใช้ยาที่อาจส่งผลข้างเคียงไปสู่ลูกน้อยได้การดูแลอาการของคุณแม่หลังคลอดด้วยวิถีธรรมชาติ จึงเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับคุณแม่ในช่วงนี้ค่ะ

icon หัวนมแตก/มีเลือดออก

         ใช้น้ำผึ้งทาบริเวณหัวนม และปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง เพราะน้ำผึ้งมีสรรพคุณในการให้ความชุ่มชื้นและต้านเชื้อแบคทีเรีย หรือจะผสมน้ำผึ้งกับขมิ้นให้เข้ากันเป็นครีมข้น แล้วนำมาทาหัวนมที่แตกก็ได้

icon เจ็บเต้านม

         ประคบเต้านมให้อุ่น ด้วยการแช่ผ้าขนหนูผืนเล็ก ๆ ลงในน้ำอุ่น (ที่ผสมเกลือสมุทรลงไป 1 ช้อนโต๊ะ) แล้วบีบน้ำออก ใช้ผ้าอุ่นหมาด ๆ มาประคบนวดที่เต้านม

         นวดเต้านมด้วยน้ำมันอุ่น (ควรใช้น้ำมันละหุ่ง) โดยนวดวนเป็นวงกลมรอบเต้านม โดยเว้นบริเวณหัวนม เนื่องจากน้ำมันละหุ่งมีสรรพคุณเป็นยาระบาย ซึ่งอาจจะส่งผลให้ลูกน้อยท้องเสียได้

icon น้ำนมน้อย

         กินผักใบเขียว ควรกินอาหารที่ประกอบด้วยผักใบเขียวเข้ม เช่น ผักโขม คะน้า ดอกกุยช่าย ผักบุ้ง และขิงสด เช่น ผัดขิง แกงเลียงหัวปลี ซึ่งเป็นเมนูยอดนิยมสำหรับแม่ลูกอ่อนของไทยเรา

         ดื่มนมอุ่น ที่เติมเมล็ดเฟนเนลหรือเทียนข้าวเปลือก 1 ช้อนชา และกี 1 ช้อนชา ให้ได้อย่างน้อยวันละ 3 ถ้วยเพื่อช่วยกระตุ้นน้ำนม

         ดื่มชาสมุนไพรต่าง ๆ เช่น เฟนเนล ขิง หรือเฟนูกรีก ที่ปรุงรสด้วยน้ำตาลธรรมชิต เช่น น้ำตาลโตนด น้ำตาลอ้อย เพราะความอุ่นจะช่วยทำให้มีน้ำนมมากขึ้น
น้ำนมมาก

         ดูความต้องการของลูก ว่าลูกหิวหรือไม่ การไหลของน้ำนมนั้นสัมพันธ์กับความหิวของลูกอย่างเป็นกลไกตามธรรมชาติ

         หากเกิดนมคัดแต่ลูกยังไม่อยากดูดนม ให้ใช้มือบีบน้ำนมหรือปั๊มนมออก โดยเก็บนมแช่ไว้ในตู้เย็นช่องปกติ จะแช่นมเก็บไว้ได้ 1 วัน และเก็บนมไว้ได้นานถึง 7 วัน หากเก็บในช่องแช่แข็ง แต่ไม่แนะนำให้เก็บไว้ในช่องแช่แข็ง เพราะจะทำให้นมเสียคุณค่า หากน้ำนมมีมากคุณแม่อาจนำมาใช้ล้างหน้าก็ได้ เพราะน้ำนมมีคุณค่าในการบำรุงทำให้ผิวหน้าชุ่มชื้น

         ใส่แผ่นซับน้ำนมไว้ เพื่อป้องกันการเปรอะเปื้อน และควรใช้แผ่นซับน้ำนมที่ทำจากผ้าฝ้าย ซึ่งสามารถซักทำความสะอาดและนำมาใช้ซ้ำได้ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม

         แป้งถั่วเขียวผสมน้ำ เป็นครีมข้น ปิดไว้บริเวณหัวนมเพื่อกันไม่ให้น้ำนมไหลเปื้อน

icon ปวดเกร็งที่บ่า หลังส่วนล่วงและข้อต่อ

         คุณแม่ที่ต้องอุ้มลูกหรืออุ้มให้นมลูก อาจเกิดอาการปวดเกร็งที่บ่าหลังส่วนล่าง หรือบั้นเอวได้ ลองใช้วิธีเหล่านี้ดู

          ออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การหมุนคอ บ่า และเชิงกราน ยืดขาหมุนข้อมือ ข้อเท้า ยืดนิ้วมือและนิ้วเท้า หรือการออกกำลังกายแบบเบา ๆ เช่น โยคะ หรือพิลาทีส ตลอดจนการฝึกการหายใจ หรือปราณยามะ ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายความเครียด และเพิ่มพลังให้แก่ร่างกายโดยควรอยู่ภายใต้การแนะนำดูแลของครูฝึกเพื่อความปลอดภัย

          การนวดตัวด้วยน้ำมันอุ่น จะช่วยลดการปวดเกร็งได้และสามารถนวดตัวเองได้

          การแช่ตัวในอ่างอาบน้ำหรือจากุซซี่ที่บ้าน เป็นการผ่อนคลายการปวดเกร็งกล้ามเนื้อได้ดี โดยผสมน้ำมันสกัดจากธรรมชาติที่มีสรรพคุณในการผ่อนคลายกล้ามเนื้อลงไป เช่น น้ำมันกานพลู น้ำมันทีทรี ลาเวนเดอร์ ยูคาลิปตัส หรือขิง หยดลงไปสัก 2-3 หยด ในน้ำอุ่น

          การดื่มนมสด เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยเพิ่มความหล่อลื่นให้กับข้อต่อ หรืออาจจะเป็นการดื่มนมหรือน้ำอุ่นที่เติมน้ำมันงา หรือน้ำมันมะกอกลงไป 1 ช้อนโต๊ะ น้ำมันจะช่วยหล่อลื่นข้อต่อแล้ว แคลเซียมจากนมยังช่วยให้กระดูกแข็งแรงอีกด้วย

icon ท้องผูก

         ดื่มน้ำอุ่น คุณแม่หลังคลอดควรจะดื่มน้ำอุ่นให้เพียงพอ และดื่มชาสมุนไพร (ที่ไม่มีส่วนผสมของกาเฟอีนหรือแทนนิน)

         กินมะละกอสุก (ที่ไม่แช่เย็น) ในตอนเช้า และกินกล้วยสุก ในระหว่างวัน เนื่องจากผลไม้สองชนิดนี้มีสรรพคุณช่วยระบายได้

         ดื่มนมอุ่นผสมกี โดยใส่กี 1 ช้อนชา เพื่อหล่อลื่นระบบย่อยอาหารช่วยขับถ่ายได้ง่ายขึ้น

         กินน้ำมันละหุ่ง โดยกินแบบอุ่น ๆ 1 ช้อนชา หรือน้ำมันเมล็ดแฟล็กซ์อุ่นๆ 1 ช้อนชากับน้ำอุ่น เพื่อช่วยระบาย

icon ผมร่วง

         คุณแม่หลายคนพบกับปัญหาผมร่วงในช่วง 3-4 เดือนหลังคลอด เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน บวกกับร่างกายต้องการวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ในการสร้างน้ำนม ในทางอายุเวทเชื่อว่าปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นกับเล็บและเส้นผม บอกถึงความแข็งแรงของกระดูก จึงควรเสริมแร่ธาตุที่ช่วยบำรุงกระดูก เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส สังกะสี แมกนีเซียม เป็นต้น

         ดื่มนมสดอย่างน้อยวันละ 2 ถ้วย และจะดียิ่งขึ้นหากดื่มนมสดผสมกี หรือผสมอัลมอนด์

         การกินงาขาว 1 กำมือ (1/4 ถ้วย) ในตอนเช้า จะช่วยบำรุงผมและต้านนมร่วงได้ เพราะงาขาวประกอบด้วยแคลเซียม 1,200 มิลลิกรัม และแมกนีเซียม

         ดื่มน้ำมะพร้าว เพราะมีส่วนช่วยบำรุงเส้นผม ด้วยมีแคลเซียมและแร่ธาตุต่าง ๆ แต่ควรจะเริ่มดื่มหลังคลอดไปแล้ว 40 วัน หรือหลังจากช่วงพักฟื้นหลังคลอด เนื่องจากน้ำมะพร้าวจะทำให้ร่างกายเย็น

icon เป็นตะคริวที่ขา

         เกิดขึ้นได้จากภาวะขาดแร่ธาตุ เช่น แมกนีเซียม แคลเซียม และสังกะสี หรืออาจเกิดจากการนั่งอยู่กับที่นานจนเกินไป

         แช่น้ำเกลือ เตรียมน้ำอุ่นใส่อ่างแล้วเติมเกลือสมุทรลงไป 1 กำมือ เพราะเกลือจะช่วยดูดซึมกรดแลกติกจากกล้ามเนื้อได้ แช่เท้าลงไป ทิ้งไว้จนน้ำเริ่มเย็น จากนั้นเช็ดเท้าให้แห้ง และนวดฝ่าเท้า และขาดด้วยน้ำมันงาอุ่นๆ โดยกดไปที่จุดมาร์มาที่ฝ่าเท้าและที่น่องโดยเฉพาะที่กลางน่อง

         หมุนเท้าให้สูง โดยให้นอนลงและยกเท้าหนุนหมอนให้สูงขึ้นจากพื้น เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อได้ดีขึ้น

         กินแคลเซียมเสริมกล้ามเนื้อ ควรกินอาหารที่มีแคลเซียมและโปรตีนสูง เช่น นม ไข่ กี โยเกิร์ตสด ส่วนอาหารที่มีแคลเซียม แมกนีเซียม และสังกะสี เช่น อัลมอนด์และงาขาว

icon ปวดประจำเดือน

         หลังการคลอดลูกอาการปวดประจำเดือนอาจมีอาการมากขึ้น เกิดจากภาวะที่ไม่สมดุลของพลังชีวภาพ วาตะ (อากาศ) ซึ่งเป็นพลังเย็นจึงต้องปรับให้เกิดความสมดุลด้วยการเพิ่มความอุ่นให้แก่ร่างกายเป็นประจำ เพื่อป้องกันหรือบรรเทาอาการปวดประจำเดือนให้ลดลง

         ดื่มชาสมุนไพร ที่มีส่วนผสมของขิงและเมล็ดเฟสเนล หรือเทียนข้าวเปลือก ในปริมาณที่เท่ากัน โดยนำมาชงในน้ำร้อน และเติมรสหวานด้วยน้ำผึ้ง แล้วดื่มตอนอุ่น ๆ

         วุ้นว่านหางจระเข้ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน และอาการปวดอื่นๆ ในระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง โดยนำวุ้นว่านหางจระเข้ 1 ช้อนโต๊ะ มาผสมรวมกับพริกไทยดำ ½ ช้อนชา แล้วนำมากินวันละ 3 มื้อ

         ชาวุ้นว่านหางจระเข้ สามารถทำได้โดยการต้มน้ำ 2 ถ้วย แล้วเติมวุ้นว่านหางจระเข้ลงไป 1 ช้อนโต๊ะ ต้มไฟอ่อนจนเหลือ 1 ถ้วยแล้วเพิ่มรสหวานด้วยการเติมน้ำตาลอ้อย น้ำตาลโตนด หรือน้ำผึ้งลงไป และอาจจะเติมขิงหรือใบสะระแหน่ลงไปนิดหน่อยก็ได้ตามชอบแล้วนำมาดื่มตอนอุ่น ๆ

         นวดน้ำมันละหุ่ง โดยใช้น้ำมันละหุ่งอุ่นๆ นวดไปบนหน้าท้องที่กำลังรู้สึกปวด จนอาการปวดทุเลาลง

icon ปวดหัว

         ทาหน้าผาก บรรเทาได้ด้วยการนำขิงผง ½ ช้อนชา ผสมกับน้ำอุ่นเล็กน้อยให้เข้ากันแล้วนำไปทาที่หน้าผาก อาจจะรู้สึกแสบร้อนจากขิงบ้าง ใช้น้ำโป้งกดคลึงเป็นวงกลมจะช่วยบรรเทาปวดลงได้

          สร้างสมดุล หากปวดหนึบ ๆ เหมือนใครมากดมาทุบที่หัว เป็นลักษณะมีสาเหตุจากพลังชีวภาพวาตะ ซึ่งมักจะเป็นการปวดในช่วงก่อนหรือระหว่างมีประจำเดือน และอาจจะเกิดจากการนั่งทำงานหน้าจดคอมพิวเตอร์นานเกินไป กินอาหารไม่เป็นเวลา หรือกินอาหารที่มีสรรพคุณเย็นมากเกินไปจนทำให้พลังวาตะในตัวไม่สมดุล จึงต้องสร้างความสมดุลด้วยการใช้ความอุ่น ความชุ่มชื้น และการพักผ่อน

         ดื่มน้ำขิง ที่ผสมด้วยสมุนไพรที่ช่วยต้านพลังวาตะ เช่น เมล็ดเฟนเนล หรือเทียนข้าวเปลือก กระวาน และพริกไทยดำ หากไม่สะดวกในการหาสมุนไพร ก็ให้ดื่มน้ำอุ่นแทน เพื่อช่วยลดความเย็นจากการปวดหัวด้วยพลังวาตะ

         ใส่ใบสะระแหน่ลงไปในน้ำอุ่นแล้วดื่ม หรือเลือกใช้สะระแหน่ที่สกัดเป็นเม็ดแคปซูลลงไปสัก 1-2 เม็ด เช่น Pudina Hara ซึ่งเป็นสะระแหน่สกัด

         หยุดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเดิน นั่ง อ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ ฯลฯ แล้วนอนลง ใช้มือสองข้างถูกันให้อุ่น แล้วปิดตา ทำซ้ำ 2-3 ครั้ง เพื่อช่วยพักสายตา

          ปล่อยให้หาวเต็มที่ และอย่าไปกั้นลม หรือกั้นการเรอ เพื่อจะได้ระบายลม

Tip

         วิธีการบำบัดแบบธรรมชาตินี้ ไม่ได้เป็นการทดแทนการรักษาสุขภาพในทางการแพทย์ หากว่าอาการยังคงไม่ดีขึ้นหรือว่าอาการแย่ลงควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

         สำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะใช้วิธีธรรมชาติบำบัด



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.17 No.196 กุมภาพันธ์ 2555

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คลายอาการให้แม่ใหม่ ด้วยธรรมชาติบำบัด อัปเดตล่าสุด 13 มีนาคม 2555 เวลา 16:24:27 49,366 อ่าน
TOP
x close